นักวิชาการ-เครือข่ายผู้ปกครองค้าน ตำราเรียนปี 2544 ชี้เนื้อหาเก่า-ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะเรียนปี 2552

นักวิชาการ-เครือข่ายผู้ปกครองค้าน ตำราเรียนปี 2544 ชี้เนื้อหาเก่า-ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะเรียนปี 2552

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัญหาซื้อหนังสือเรียนหลักสูตรปี 2544 ส่อบานปลาย นักวิชาการหารือเครือข่ายผู้ปกครองขยับค้าน ชี้ไม่เหมาะใช้เรียนปีการศึกษา 2552 ระบุเนื้อหาเก่า ล้าสมัย บางส่วนไม่ถูกต้อง ปธ.กมธ.ศึกษาฯ เตือนกระทบคุณภาพการศึกษา รัฐต้องเปลืองงบฯซื้อตำราใหม่อีกรอบหลายพันล้านบาท

ความคืบหน้ากรณีมีผู้เสนอให้มีการยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระงับการสั่งให้โรงเรียนจัดซื้อหนังสือเรียนเฉพาะตามหลักสูตรเก่า พ.ศ. 2544 แจกนักเรียนในปีการศึกษา 2552 ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้นักเรียนสูญเสียโอกาสที่จะได้รับความรู้ใหม่ๆ เนื่องจากมีต้นฉบับหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่พ.ศ.2551 ที่สำนักพิมพ์ต่างๆ พร้อมพิมพ์มาใช้ทันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2552 นั้น

พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่ เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ว่า นักการศึกษากำลังติดตามปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้โทรศัพท์มาหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร พร้อมแสดงความเป็นห่วง ถ้าศธ.และสพฐ.จะยังบังคับให้โรงเรียนต่างๆ ต้องใช้หนังสือเรียนหลักสูตรเก่าต่อไปอีก เพราะหนังสือเรียนตามหลักสูตรเก่าพ.ศ.2544 มีเนื้อหาหลายๆ เรื่องไม่เป็นปัจจุบัน ไม่เหมาะสมจะให้นักเรียนใช้เรียนต่อไปแล้ว ควรใช้หนังสือเรียนที่ผลิตตามหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2551 จีงอยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คิดให้รอบคอบ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ในองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มาสร้างความเสียหาย

ดร.อุษณีย์กล่าว่า หนังสือเรียนตามหลักสูตรเก่าพ.ศ.2544 มีปัญหาเนื้อหาเก่า ล้าสมัย และไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมจะนำไปสอนนักเรียน เช่น วิชาประวัติศาสตร์ มีข้อมูลหลายเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แต่ไม่มีการแก้ไข วิชาวิทยาศาสตร์ ยังเป็นเรื่องเดิมๆ ทั้งที่ปัจจุบันมีวิทยาการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับมัธยม เป็นเพียงการย่อความรู้ระดับปริญญาตรีมาสอนให้นักเรียนท่องจำ โดยไม่ีประโยชน์ ศธ.และสพฐ.จึงต้องแก้ไขอย่างจริงจัง

นายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้เขียนบทความเผยแพร่เรื่อง หนังสือเรียนหลักสูตรเก่า เหมาะจะนำมาใช้กับหลักสูตรใหม่ 2551 หรือไม่ ? โดยเนื้อหาระบุว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ศธ.ได้ปรับปรุงจากข้อด้อยและปัญหาของหลักสูตรเก่าพ.ศ. 2544 ที่ได้วิจัยและติดตามประเมินผลถึง 6 ปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้หนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ต้องปรับเปลี่ยนในหลายประเด็น ไม่เฉพาะการปรับเนื้อหาให้ทันสมัยเท่านั้น เช่น การสลับเนื้อหาวิชาเรียนให้ตรงกับชั้นปี ปรับมาตรฐานและตัวชี้วัด เพิ่มเรื่องการคิดวิเคราะห์ที่เน้นลงในเนื้อหาให้มากขึ้น เป็นต้น จึงมีคำถามตามมาว่านักเรียนจะใช้หนังสือเรียนหลักสูตรเก่าในการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่ได้อย่างไร

สิ่งที่น่าห่วงคือปีการศึกษา 2552 ศธ.และสพฐ.ยืนยันจะจัดซื้อหนังสือเรียนตามหลักสูตรเก่าพ.ศ.2544 มาใช้ในระบบยืมเรียน 3 ปี ด้วยงบประมาณถึง 6,000 ล้านบาท แต่ในปีการศึกษา 2553 โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศกว่า 30,000 โรงเรียน ต้องใช้หลักสูตรใหม่พ.ศ.2551 ในชั้นป.1-ป.6 และม.1 กับ ม.4 และปีการศึกษา 2554-55 จะขยายชั้นเรียนหลักสูตรใหม่ครบชั้นป.1-ม.6 แล้วโรงเรียนยังต้องใช้หนังสือเรียนหลักสูตรเก่าต่อไปอีก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพการศึกษาของเยาวชนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าในปีการศึกษา 2553 ศธ.จะจัดซื้อหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่มาทดแทนหนังสือหลักสูตรเก่าทั้งหมด 100% ในระดับ ป.1-6 และ ม.1, ม.4 ก็ต้องใช้งบฯอีกหลายพันล้านบาท เป็นการสิ้นเปลืองงบฯอย่างมาก และจะผิดเจตนารมณ์ของระบบหนังสือยืมเรียนที่ควรจะซื้อทดแทนประมาณ 30% เท่านั้นหรือไม่ งบฯหลายพันล้านบาทดังกล่าวนี้ควรนำไปช่วยเหลือโรงเรียนและนักเรียนที่ยากจนจะดีกว่าหรือไม่ ในบทความของนายอภิชาต ระบุ

นายพีระ พนาสุภน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ประจำ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีคำถามถึงผู้บริหารศธ.และสพฐ.ว่า หนังสือเรียน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมทั้งวิชาภาษาอังกฤษที่ผลิตจากต่างประเทศ โรงเรียนนำร่องใช้หลักสูตรใหม่พ.ศ.2551 มีสิทธิตัดสินใจเลือกซื้อหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่พ.ศ.2551 หรือไม่ เพราะประกาศศธ. ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2551 ได้ให้สำนักพิมพ์ต่างๆ สามารถผลิตหนังสือเรียนกลุ่มดังกล่าวออกมาจำหน่ายก่อนสพฐ.ตรวจประเมินคุณภาพได้ โดยมีเงื่อนไขว่าสำนักพิมพ์นั้นๆ จะต้องมีข้อความประกันคุณภาพบนหนังสือเรียนไว้ด้วย ดังนั้น สพฐ.จะนำรายชื่อหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ดังกล่าวเข้าไปในบัญชีรายชื่อเพื่อให้โรงเรียนนำร่องหลักสูตรใหม่พ.ศ.2551 ได้มีสิทธิเลือกซื้อหรือไม่

แหล่งข่าวในสพฐ. กล่าวว่าผู้บริหารระดับสูงศธ.และสพฐ.พยายามย้ำว่าจำนวนโรงเรียนนำร่องใช้หลักสูตรใหม่พ.ศ.2551 ในปีการศึกษา 2552 มีจำนวน 555 โรงเรียนนั้น เป็นเพียงโรงเรียนต้นแบบ ในเขตพื้นที่การศึกษาละ 3 โรงเรียน ใน 185 เขตทั่วประเทศ แต่ยังยังมีกลุ่มโรงเรียนที่มีความพร้อม และโรงเรียนเครือข่าย ที่อาสาเข้าร่วมนำร่องใช้หลักสูตรใหม่อีกเขตพื้นที่ฯละไม่ต่ำกว่า 30 โรงเรียน หรืออย่างน้อย 5,550 โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่กทม.เกือบทุกโรงเรียน รวมแล้วมี 6,105 โรงเรียนที่จะนำร่องใช้หลักสูตรใหม่

แหล่งข่าวระดับสูงในศธ. กล่าวว่า ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลจะโอนเงินค่าชุดนักเรียนฟรี วงเงินกว่า 4,649 ล้านบาท ถึงสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้ผู้ปกครองเบิกไปซื้อชุดให้กับนักเรียน ประมาณเดือนพฤษภาคม จากเดิมเดือนมีนาคมเนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้ทัน ซึ่งจะทำให้กลุ่มแม่บ้านตัดขายได้เพียงครั้งเดียวโรงเรียนก็ปิดแล้ว ไม่สามารถหมุนเวียนตัได้หลายครั้ง แต่ถ้างบฯโอนให้ในเดือนมีนาคม กลุ่มแม่บ้านที่มีทุนน้อยจะสามารถตัดชุดขายได้เงินมาหมุนเวียนตัดชุดขายใหม่ได้เรื่อยๆ จนกว่าโรงเรียนจะเปิดราวกลางเดือนพฤษภาคม ทำให้ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าจริงอย่างที่รัฐบาลอ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook