แห่ขุด ควนลูกปัด ทุกวัน เตือนเจอคุก 7ปีปรับ 7แสน

แห่ขุด ควนลูกปัด ทุกวัน เตือนเจอคุก 7ปีปรับ 7แสน

แห่ขุด ควนลูกปัด ทุกวัน เตือนเจอคุก 7ปีปรับ 7แสน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิชาการด้านโบราณคดี ศรีศักร ดันแหล่งขุดพบ ลูกปัด เป็นแหล่งอนุรักษ์เพื่อสำรวจค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ชี้ที่ผ่านมามีการขุดคุ้ยทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์มานาน แฉที่อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ปชช.แห่ขุดหาทุกวัน ตั้งชื่อ ควนลูกปัด บางชนิดขายเม็ดละพันบาท ติดป้ายห้ามขุดแต่ไม่เป็นผล เตือนคนเข้าไปขุดเจอคุก 7 ปี ปรับ 7 แสน

รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดี มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึงกรณีที่มีการขุดค้นพบลูกปัดในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางและสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งผลิต แหล่งการค้าโลกเชื่อมโยงอารยธรรมระหว่างตะวันตกกับตะวันออกว่า มีการค้นพบลูกปัดมานานแล้ว เข้าใจกันว่า บริเวณ 5 จังหวัดดังกล่าวเป็นแหล่งผลิต เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ สถานีการค้า และเมืองท่าในยุคโบราณ แต่ในทางวิชาการยังไม่มีการค้นคว้าศึกษากันอย่างจริงจัง ถึงการขุดค้นลูกปัดเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในยุคใดสมัยใดกันแน่ชัด

"ขณะนี้เรามีเพียงข้อมูล แต่ในทางโบราณคดียังไม่มีใครทราบว่า ลูกปัดแต่ละแห่งอยู่ในยุคใด มีความสัมพันธ์กับชุมชน การเมือง เศรษฐกิจในยุคโบราณอย่างไรบ้าง หากรัฐบาลให้ความสำคัญ ควรสนับสนุนค้นคว้าศึกษาให้เป็นกระบวนการ เพราะอาจจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทย" รองศาสตราจารย์ศรีศักรกล่าวและว่า คนไทยเชื่อข้อมูลประวัติศาสตร์ของฝรั่งมานาน ทั้งที่ฝรั่งค้นคว้าสะเปะสะปะแต่คนไทยก็เชื่อ

รองศาสตราจารย์ศรีศักร กล่าวว่า แหล่งที่พบลูกปัด เช่นที่อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ที่เขาสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร และที่หมู่บ้านภูเขาทอง ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง มีการขุดคุ้ยทำลายหลักฐานทางโบราณคดีมานานแล้ว ฉะนั้นหากต้องการรวบรวมทางประวัติศาสตร์ ควรกำหนดทิศทางให้ชัดเจน เช่นกำหนดพื้นที่นั้นๆ ให้เป็นแหล่งอนุรักษ์เพื่อสำรวจค้นคว้าอย่างเป็นระบบ

นายอนุวัฒน์ มณวิจิตร นายอำเภอเมืองชุมพร กล่าวว่า เคยเข้าไปตรวจสอบแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วร่วมกับ นายมานิต วัฒนเสน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เมื่อปี 2551 พบร่องรอยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ช่วยกันสอดส่องดูแล เพราะทราบจากนักโบราณคดีว่า การลักลอบขุดหาโบราณวัตถุแม้จะทำในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ก็ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายมีโทษทั้งปรับและจำคุก แต่การดูแลเรื่องนี้คงดำเนินการได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง

"ผมสงสัยว่า ทำไมจึงออกเอกสารสิทธิบนภูเขาเช่นนี้ได้ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวออกตั้งแต่เมื่อใด และถูกต้องหรือไม่" นายอนุวัฒน์กล่าวและว่า คงต้องหารือกับ นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ว่าจะดำเนินการหามาตรการในการแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป และเห็นด้วยที่มีผู้เสนอว่าควรมีนักโบราณคดีของกรมศิลปากรมาประจำที่ชุมพร เพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ ว่า ในพื้นที่อ.คลองท่อม มีประชาชนยังคงเข้าไปขุดหาลูกปัดโบราณทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณหมู่ที่ 1 บ้านเหนือ ต.คลองท่อมใต้ นักขุดลูกปัดตั้งชื่อว่า ควนลูกปัด เพราะมีผู้ขุดพบลูกปัดเป็นจำนวนมากรวมถึงกระเบื้องเคลือบดินเผา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักขุดลูกปัดจะขุดดินท้องนาลักษณะเหมือนขุดบ่อปลาให้ลาดเอียง ใจกลางลึกประมาณ 2 เมตรแล้วใช้สวิงตาข่ายร่อนหาลูกปัด

นายชนินทร์ เดือนเพ็ง อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 22/2 ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม เป็นเจ้าของที่ดินที่มีลูกปัดโบราณฝังอยู่ใต้ดิน เนื้องที่ราว 2.5 ไร่ ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่บริเวณแห่งนี้ มีชาวสุพรรณบุรีเดินทางมาขุดหาลูกปัดตั้งแต่ปี 2522 โดยจ้างชาวบ้านขุดหาลูกปัดนำไปใส่ขวดสุราชนิดขวดกั๊ก ให้ราคาขวดละ 100 บาท ใช้เวลาขุดราว 5 เดือนหายเงียบไป ต่อมาอีก 4-5 ปีมีชาวบ้านแห่มาขุดลูกปัดนับพันคน บางคนได้ลูกปัดหลากสีวันละ 300-500 เม็ด

นายวิภูษิต ชาตรี ประธานชมรมลูกปัด และนักสะสมลูกปัดจ.กระบี่ เปิดเผยว่า มีการลักลอบขุดหาลูกปัดใน อ.คลองท่อมทุกวัน คนที่ลักลอบขุดรู้ว่าขุดแล้วนำไปขายที่ใคร ส่วนคนรับซื้อรู้ว่าใครนำลูกปัดมาขายเป็นประจำ และยังรู้อีกว่าลูกปัดที่นำมาขายนั้นเป็นลูกปัดในพื้นที่ของคลองท่อมหรือมาจากที่ใด ทั้งคนซื้อ และคนที่ลักลอบขุด ล้วนเป็นคนในพื้นที่

นายวิภูษิต กล่าวว่า ลูกปัดที่ขุดพบและนำมาขายกันมากทุกวันจะเป็นลูกปัด เม็ดกลมๆ หลากสี สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีขาว ราคาจะอยู่ที่ความสมบูรณ์ของเม็ดลูกปัด ไม่แตก ไม่มีตำหนิ จำนวน 20 เม็ด ราคา 1,500 บาท ถ้าเป็นลูกปัดชวา เม็ดยาวๆ หลากสี ตกเม็ดละ 700 - 1,000 บาท

นายวิภูษิต กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ถนนละงู เขตเทศบาลเมืองกระบี่ มีการขุดพบลูกปัดหลากสีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และปิดล้อมบริเวณที่ขุดพบ พร้อมกับได้ติดป้ายห้ามเข้าโดยเด็จขาดไม่มีใครกล้าเข้าไปขุดอีกเลย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐ จะเข้าไปควบคุมเฝ้าระวังไม่ให้ลักลอบขุดลูกปัดและโบราณวัตถุนั้น ทำได้ยาก เนื่องจากว่า บริเวณที่พบลูกปัดในพื้นที่ของอำเภอคลองท่อม จะเป็นที่ดินของชาวบ้าน

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญลูกปัด เปิดเผยว่า ลูกปัดคลองท่อมมีมากมายหลายชนิด ที่คุ้นตาที่สุด ได้แก่ลูกปัดแก้วอินโดนีเซียแปซิฟิกและลูกปัดหินสีมีค่า อาทิโมรา ( carnelian)โมกุล (agate) น้ำค้าง ( rock crystal & quartz) สังคโลก (onyx) และเนื้อแห้ว (chalcedony)

นพ.บัญชา กล่าวว่า ลูกปัดที่พบในคลองท่อม มีจุดเด่นไม่เหมือนใคร นอกจากลูกสุริยเทพคลองท่อมที่เป็นรูปหน้าคนแล้ว ยังมีลูกปัดแก้วสีเดียว ทรงสีเหลี่ยม ทำจากแก้วสีต่างๆ เม็ดสีใส สีเหลือง สีฟ้า สีชา สีน้ำตาลน้ำเงิน ลูกปัดแก้วสลับสี ลูกปัดลายนก ดวงตะวันและดอกไม้ รวมทั้งลูกปัดทองคำและลูกปัดโลหะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมศิลปากรเข้ามาสำรวจและขึ้นบัญชีเป็นโบราณวัตถุ ในพื้นที่หมู่ที่ 21 บ้านเหนือ ต.คลองท่อมใต้ พร้อมติดป้ายประกาศห้ามเก็บขุด ร่อนหาวัตถุโบราณ ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดฐานทำลายทรัพย์สินแผ่นดิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook