แพทย์แจงรักษาตามขั้นตอน ไม่ได้ปล่อยทิ้งให้เด็กปวดท้องเสียชีวิต

แพทย์แจงรักษาตามขั้นตอน ไม่ได้ปล่อยทิ้งให้เด็กปวดท้องเสียชีวิต

แพทย์แจงรักษาตามขั้นตอน ไม่ได้ปล่อยทิ้งให้เด็กปวดท้องเสียชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ออกมาชี้แจง กรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง โพสต์ภาพพร้อมคลิปเด็กชายคนหนึ่งซึ่งมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง รอรับการรักษาแต่ไม่ได้รับการรักษา จนช็อกเสียชีวิตว่า โรงพยาบาลทำตามขั้นตอน ไม่ได้ปล่อยละเลย และเด็กมีอาการเส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก เป็นโรครุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของผู้ที่ใช้ชื่อว่า Nu-sajee Kornrawee ได้โพสต์ภาพและคลิปวิดีโอระบุว่าน้องชายวัย 15 ปีมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง กำลังรอเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี ในคลิปจะเห็นว่าน้องมีอาการกระสับกระส่ายเนื่องจากปวดท้องตลอดเวลา และภายในโรงพยาบาลมีคนไข้จำนวนมาก

ปรากฎว่าระหว่างรอตรวจ เด็กชายคนดังกล่าวได้ช็อกหมดสติไป รายละเอียดเจ้าของเฟซบุ๊กระบุว่า หลังน้องชายมีอาการช็อก พยาบาลได้เข้ามาช่วยก่อนนำเข้าห้องฉุกเฉินและเอ็กซเรย์ ก่อนจะพบว่า เส้นเลือดใหญ่ในช่องท้องแตก จากนั้นน้องชายช็อกอีกครั้ง ก่อนจะเสียชีวิต ในเฟซบุ๊กยังระบุข้อความ ในลักษณะที่ว่า โรงพยาบาลให้รอนานจึงทำให้น้องชายเสียชีวิต

ทีมข่าวสอบถามไปยัง นพ.ประจักษ์ วัฒนะกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ชี้แจงว่า ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เบื้องต้นได้รับรายงานจาก โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรีว่า เด็กถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชะอำ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา มาถึงโรงพยาบาล พระจอมเกล้าฯ ประมาณ 13.30 น.

เมื่อมาถึงแพทย์ทำการ เอ็กซเรย์และทำอัตราซาวน์ทันที ระหว่างรอผลเวลาประมาณ 14.30 น. เด็กมีอาการช็อก จึงนำตัวเข้าห้องฉุกเฉิน เข้าเครื่องซีทีแกน เวลา 15.30 น. ผลเอ็กซเรย์ออกมาจึงทราบว่า เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก ทางโรงพยาบาลไม่สามารถรักษาได้ จึงประสานโรงพยาบาลราชบุรี แต่ระหว่างรอทำเรื่องเด็กช็อคอีกรอบและเสียชีวิต

แพทย์ระบุว่า อาการเส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก เกิดจากผนังเส้นเลือดใหญ่เสื่อมสภาพ พบได้ไม่บ่อยนักในเด็ก ยืนยันโรงพยาบาลทำตามขั้นตอน เบื้องต้นญาติผู้เสียชีวิตไม่ติดใจเอาความ และอยากให้เป็นอุทาหรณ์ต่อการรักษาของโรงพยาบาลต่อไป โดยผู้เสียชีวิตซึ่งมีสิทธิบัตรทอง 30 บาท จะได้สิทธิเยียวยาตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพมาตรา 41 ได้รับเงินชดเชยประมาณ 400,000 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook