ย้อนรอยเส้นทางการเมือง 6 ปีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

ย้อนรอยเส้นทางการเมือง 6 ปีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

ย้อนรอยเส้นทางการเมือง 6 ปีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากห่างหายจากเวทีการเมืองไปนานถึง 3 ปี และไปปรากฏตัวในโลกโซเชียลเป็นส่วนใหญ่ ชื่อของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็กลับมาสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง เมื่อรัฐบาล คสช. มีคำสั่งให้กรมบังคับคดีอายัด 12 บัญชีเงินฝากของนางสาวยิ่งลักษณ์ และเพื่อให้การติดตามข่าวการเมืองครั้งนี้ “เข้มข้น” มากขึ้น NoozUP ก็ขอเสนอเรื่องราวบนเส้นทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยผู้นี้ มาให้ทุกท่านย้อนรอยไปด้วยกัน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เติบโตมาทางสายการเมืองตั้งแต่ต้น แต่เริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ที่บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด ก่อนจะรับตำแหน่งประธานบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

ปลายปี 2551 พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ส.ส. และสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ย้ายเข้ามาสังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนยิ่งลักษณ์เป็นเพียงสมาชิกพรรค และเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นบางครั้ง รวมทั้งปฏิเสธการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค เนื่องจากต้องการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว

16 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือกยิ่งลักษณ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พฤษภาคม 2554 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อยิ่งลักษณ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 โดยใช้นโยบายหาเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน เช่นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และค่าแรงขั้นต่ำสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน จัดหาเงินกู้ให้ชาวนา มากที่สุดถึง 70% ของรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ โดยอาศัยราคาจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะ การแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน รวมทั้งการสร้างความปรองดองหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2549 ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่ถูกโจมตีอย่างมากหลังจากที่เธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง ถือเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภา โดยครั้งแรกเป็นพรรคไทยรักไทยของทักษิณ

5 สิงหาคม 2554 ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ต่อจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี

9 สิงหาคม 2554 จัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคชาติไทยพัฒนา (19 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (7 ที่นั่ง) พรรคพลังชล (7 ที่นั่ง) พรรคมหาชน (1 ที่นั่ง) และพรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 ที่นั่ง) รวมแล้วมี 300 ที่นั่ง ก่อนที่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งในวันต่อมา

12 สิงหาคม 2554 จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี ยิ่งลักษณ์แก้ปัญหาโดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในส่วนกลาง พร้อมออกเยี่ยมจังหวัดที่ประสบภัย

19 กันยายน 2554 ได้รับพระราชทานยศให้เป็น "นายกองใหญ่" ประจำกองอาสารักษาดินแดน

พฤศจิกายน 2556 เสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทั่วไป ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารพ.ศ. 2549 รวมถึงการยึดทำเนียบรัฐบาลกับท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การสลายการชุมนุมของทหารใน พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 และการวินิจฉัยคดีที่ทักษิณถูกกล่าวหาทางการเมือง จนนำไปสู่การโจมตีจากพรรคประชาธิปัตย์

31 ตุลาคม - พฤศจิกายน 2556 เกิดการประท้วงต่อต้าน พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ซึ่งลุกลามไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพ และเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

11 พฤศจิกายน 2556 วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ยับยั้งร่าง พรบ. นิรโทษกรรม ไว้เป็นเวลา 180 วัน ก่อนจะส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎร ทว่าการชุมนุมประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไป

9 ธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2557 ยิ่งลักษณ์ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนบทบาทในโครงการรับจำนำข้าว

8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติฟ้องคดีอาญายิ่งลักษณ์ในคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าชาวนาหลายล้านคนยังไม่ได้เงิน

23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว และห้ามเล่นการเมือง 5 ปี รวมทั้งถูกแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาต่อโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกอีกหากพบว่ามีความผิด หลังมีมติดังกล่าว ยิ่งลักษณ์ถูกห้ามแถลงข่าว

26 กรกฎาคม 2560 กรมบังคับคดีได้รับคำสั่งให้อายัดบัญชีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 12 บัญชี ในคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้น ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่ายังไม่มีการยึดทรัพย์

27 กรกฎาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ระบุว่า มีเงินในบัญชีบางส่วนถูกถอนออกไปแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ามี 5 บัญชี ซึ่งมีเงินจำนวนเงินหลักแสนถูกถอนมารวมไว้ด้วยเหตุผลความจำเป็นบางอย่าง แต่ยังไม่มีส่วนใดที่ส่งเข้าคงคลัง โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังสามารถร้องขอต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลาตามกระบวนการของกฎหมายได้ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีการยึดมาเป็นของหลวง และทรัพย์สินเหล่านี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์เจ้าของเดิมทั้งหมดจนกว่าจะมีผลทางคดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook