รายงานสถานการณ์น้ำท่วม อิทธิพล "พายุเซินกา" เหนือ-อีสาน-กลาง อ่วม

รายงานสถานการณ์น้ำท่วม อิทธิพล "พายุเซินกา" เหนือ-อีสาน-กลาง อ่วม

รายงานสถานการณ์น้ำท่วม อิทธิพล "พายุเซินกา" เหนือ-อีสาน-กลาง อ่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคอีสาน หลายพื้นที่จมบาดาลมีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร 

23.00 น. >>>น้ำท่วมสกลนครยังคงทรงตัว ขณะเดียวกันปริมาณฝนตกน้อยลงแล้ว

19.00 น. >>>อ่วม! กาฬสินธุ์น้ำท่วมเขตเทศบาลจม 2 เมตร

18.00 น. >>>กรมชลฯยัน "อ่างเก็บน้ำห้วยทราย" ไม่แตก ระบุเป็นน้ำกัดเซาะ

17.48 น. >>>น้ำป่าหลากท่วม อ.ดงหลวง ชัยภูมิทำ คอสะพานขาด

17.00 น. >>>น้ำท่วมสกลนครยังวิกฤต เร่งช่วย 35 คนติดในโรงแรม

15.00 น. >>>พิษน้ำท่วม! ท่าอากาศยานสกลนครประกาศปิดสนามบิน

 สถานการณ์น้ำท่วมรายละเอียดตามแต่ละจังหวัด 

สถานการณ์น้ำท่วมลพบุรี ยังอ่วม สูง 2 เมตร บ้าน 2,000 หลังคา จมบาดาล ส่วน กาฬสินธุ์ นาข้าว 2 หมื่นไร่เสียหาย ขณะที่ สกลนคร ท่วมหนักสุดในรอบ 20 ปี ด้าน ปภ. รายงานน้ำไหลหลาก 16 จว. เตรียมพร้อมรับมือ

นายส่งศักดิ์ เรืองศรี ปลัดอำเภอลำสนธิ จ.ลพบุรี เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในอ.ลำสนธิ ยังคงทรงตัว โดยมีแนวโน้มลดลงหลังฝนหยุดตก จากการตรวจสอบพบมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 5 ตำบล จาก 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.ลำสนธิ, ซับสมบูรณ์, หนองรี, กุดตาเพชร และ เขารวก ซึ่งปัจจุบันคงเหลือ 3 ตำบล คือ ต.ลำสนธิ, หนองรี และ ซับสมบูรณ์ ที่ยังมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชน และ พื้นที่การเกษตร วัดระดับสูงสุดประมาณ 2 เมตร ส่วน ต.กุดตาเพชร และ เขารวก พบว่าปริมาณน้ำลดลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบมีประชาชนได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 2,200 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่การเกษตร ได้รับผลกระทบจำนวน 2,000 ไร่ 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสรุปจำนวนที่แน่ชัดเพื่อเสนอทางจังหวัดให้มีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ(อุทกภัย) รวมถึงหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ โดยคาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ภายในวันพรุ่งนี้ ระดับน้ำที่ท่วมขังอยู่ทุกจุดจะลดลงจนแห้ง ขณะที่แขวงทางหลวงลพบุรีที่ 2 (ลำนารายณ์) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมถนนเส้นต่าง ๆ ประจำวันที่ 28 กค.60 ดังนี้

1.ทางหลวงหมายเลข 2260 ตอน ลำสนธิ-ซับลังกา กม.2+000-กม.2+700 สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
2.ทางหลวงหมายเลข 2272 ตอน หนองยายโต๊ะ-แยกท่ามะนาว กม.0+200-กม.2+500 ระดับน้ำ 60 ซม.รถไม่สามารถผ่านได้
3.ทางหลวงหมายเลข 205 ตอน เทศบาลลำนารายณ์-ช่องสำราญ กม.100+500-กม.102+500 ระดับน้ำ 30 ซม.การจราจรสามารถผ่านได้
4.ทางหลวงหมายเลข 205 ตอน เทศบาลลำนารายณ์-ช่องสำราญ กม.109+000-กม.111+000 (เขาพังเหย)(ดินสไลด์จากภูเขาท้บผิวทางจราจร) ขณะนี้การจราจรสามารถผ่านได้แต่ต้องความระมัดระวังเนื่องจากมีน้ำฝนที่ท่วมขังบนเขาไหลลงผิวจราจรตลอดเวลา ล่าสุดแขวงฯ กำลังระดมเครื่องจักรเข้าทำการแก้ไข
5.ทางหลวงหมายเลข 2247 ตอน จงโก-ลำสมพุง กม.2+000-กม.3+400 ระดับน้ำ 80 ซม.รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้
6.ถนนสาย 2272. กม 0+200 - กม. 1+500 น้ำท่วมระดับขังประมาณ 60 ซม รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ 

(ภาพน้ำท่วมสุโขทัย) 

สุโขทัย น้ำผุดท่วมวัดไทยชุมพล สูง 30 - 50 ซม. 

จากสถานการณ์น้ำผุดใต้พื้นผนังกั้นน้ำบริเวณด้านหลังวัดไทยชุมพล อ.เมือง จ.สุโขทัย ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมาแรงดันของน้ำทำให้มีน้ำผุดใต้ถนนและเกิดรอยแยกเป็นโพรงขึ้นอีกเป็นจุดที่3 กว้างกว่า 2 เมตร เจ้าหน้าที่พยายามใช้ บิ๊กแบคเข้าต้านแต่เอาไม่อยู่ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมวัดไทยชุมพล และโรงเรียนวัดไทยชุมพล มีระดับน้ำท่วมสูง 30 - 50 ซม.

ด้านนายปิติ  แก้วสลับสีผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้สั่งการให้เร่งระดมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น รถแบคโฮแขนยาวเพื่อนำบิ๊กแบ็คเข้าไปล้อมจุดที่มีน้ำผุดในพื้นที่ตั่งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ตลาดสดเมืองสุโขทัย โดยเฉพาะบริเวณวงเวียนตลาดสด ระดับน้ำได้สูงกว่า 30 ซม. ทำให้ประชาชนต้องเร่งนำกระสอบทรายกั้นน้ำและยกของขึ้นไว้ที่สูงอย่างเร่งด่วน ด้านพ่อค้าแม่ค้าต้องนำสินค้ามาวางขายบนถนน ส่วนบริเวณที่น้ำผุดทะลักเข้าท่วมด้านหลังวัดไทยชุมพลจุดที่ 3 ยังไม่สามารถอุดรอยรั่วได้ 

ขณะที่ ระดับน้ำบริเวณด้านเหนือของ จ.สุโขทัย ที่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ หมู่ 9 ต.ในเมืองอ .สวรรคโลก ซึ่งเป็นจุดแรกที่รับน้ำมาจากทางจังหวัดแพร่ก่อนที่จะไหลผ่านตัวเมือง อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง และ อ.เมืองสุโขทัย ก็มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำบริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำวัดความสูงอยู่ที่ 63.30 ม.รทก. ด้านท้ายอยู่ที่ 59.7

 

(ภาพน้ำท่วมขอนแก่น : ศูนย์ข่าวทานตะวัน)

กำแพงโรงเรียนสอนคนตาบอดขอนแก่น ถูกน้ำพัดพังทำท่วม 1 ม.

เจ้าหน้าที่ทหาร จาก มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ และค่ายสีหราชเดโชไชย จำนวน 50 นาย นำโดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฎิบัติการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น (กกล.รส.จ.ขอนแก่น) ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ นักเรียนและคณะครู ที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษคนตาบอดขอนแก่น มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคำไฮ ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น เนื่องจากรั้วโรงเรียนและผนังกั้นน้ำที่เป็นกระสอบทรายพังทลายลงมา ทำให้น้ำจากภายนอกทะลักเข้าท่วมโรงเรียนสูง ถึงระดับหน้าอก หรือประมาณ 1 เมตร

โดยกำลังของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านเป็ด พากันขนย้านสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน การสอนขึ้นชั้นสองเป็นบางส่วน แต่ยังมีบางส่วนที่ได้รับความเสียหายคือนอน ตู้เย็น และอพยพนักเรียนชายกว่า 80 คนที่เรือนนอนชายชั้น 1 ขึ้นไปนอนชั้นที่2 ด้าน นายจรัส ผมงาม อายุ 56 ปี ผอ.รงเรียนการศึกษาพิเศษคนตาบอดขอนแก่น  เปิดเผยว่า ตั้งแต่อิทธิพลของพายุเซินกาพัดเข้ามาในพื้นที่ขอนแก่นส่งผลให้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยโรงเรียนน้ำเริ่มท่วมขัง แต่มีปริมาณไม่มาก อีกทั้งการเตรียมความพร้อมในการรับมือปริมาณน้ำทางโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาดูแลอยู่ตลอดเวลา

จนกระทั่งเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมาได้มีเสียงดังคลืนจากทางฝั่งทิศใต้ของโรงเรียน ซึ่งเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่และห้องเก็บของ รวมทั้งโรงจอดรถของโรงเรียน เจ้าหน้าที่ทหารที่คอยรักษาความปลอดภัยอยู่รอบโรงเรียนจึงตะโกนแจ้งว่า รั้วพังทลายลงมา ก่อนที่ น้ำป่าจะทะลักเข้ามาในโรงเรียนอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนบางส่วน ได้รับความเสียหาย

(ภาพน้ำท่วมอุดรธานี)


ชาวนาอุดรฯ ทุกข์ฝนตกทำน้ำท่วมพื้นที่เกษตรวอนช่วย

ที่ ต.เชียงพิณ อ.เมือง จ.อุดรธานี พบชาวนาหลายรายได้รับความเดือดร้อน หลังฝนที่ตกลงมาทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร โดยนางมะลิวัลย์ ด้วงพรมโพธิ์ เกษตรกร ในพื้นที่บ.หนองสวรรค์ ต.เชียงพิณ ระบุว่า ตน ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมนาข้าว จำนวน 5 ไร่ เป็นระยะเวลากว่า 3 วันแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่ามีเกษตรกรอีกหลายรายที่ได้รับความเดือดร้อน จากน้ำที่ไหลมาจากลำห้วยหลวง รวมถึงปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจากอิทธิพลพายุเซินกา หลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรตเช่นกัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมมาจากมีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ คือมีคลองไส้ไก่กีดขวางทางระบายน้ำจำนวน 2 จุด โดยคลองดังกล่าวได้สร้างมานานแล้วแต่ไม่มีการขุดลอก ประกอบกับมีต้นวัชพืชขึ้น ส่วนทางน้ำบริเวณแถวตลาดไทยศิริ ก็พบมีเศษขยะ และ ดินหิน มาอุดตันทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ ซึ่ส่วนนี้จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือในระยะยาวโดยด่วน

(ภาพน้ำท่วมกาฬสินธุ์)


น้ำท่วมกาฬสินธุ์นาข้าวจม 2 หมื่นไร่ถนน 35 สายถูกตัดขาด

มวลน้ำจาก อ่างเก็บน้ำห้วยสีทน ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือ ของ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งได้เอ่อล้นเข้าท่วมถนนสายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ไป อำเภอสหัสขันธ์ ทางหลวงหมายเลข 227 จนรถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้และต้องปิดเส้นทางโดยใช้ทางเลี่ยงเส้นทางอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนแทน  โดยแขวงการทางนำป้ายเข้ามาติดตั้งเพื่อห้ามไม่ให้รถเล็กผ่าน เนื่องจากระดับน้ำที่เอ่อล้น ท่วมสูงขึ้นเข้ามาบนถนนสูงเกือบ 1 เมตร และกระแสน้ำยังเชี่ยวกราก

นอกจากนี้เส้นทางระหว่างอ.สมเด็จ - อ.กุฉินารายณ์ ก็มีน้ำท่วมสูงรถไม่สามารถสัญจรได้เช่นกัน โดยชาวบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้กังวลว่ามวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนจะส่งผลกระทบต่อประชาช  รวมถึงพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมนี้ถือว่าหนักสุดในรอบ 10 ปี

นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ ได้ประกาศเตือนภัยให้ระวังน้ำเอ่อล้นจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทน และขอความร่วมมือให้ประชาชนอพยพสิ่งของออกจากตัวบ้าน ซึ่งขณะนี้มี 3 ชุมชน ประกอบด้วยชุมชนทุ่งสระ ชุมชนดอนกลอย และชุมชนหัวโนนโก  ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบ้านเรือน และระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งชาวบ้านได้เริ่มขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเตรียมย้ายออกจากบ้านเพื่อความปลอดภัยแล้ว

ขณะที่มีรายงานว่า น้ำป่าจากเทือกเขาภูพาน ได้ไหลทะลักลงอ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ตรงข้ามโรงเรียนเขาวงพิทยาคาร เขตเทศบาลตำบลกุดสิม ทำให้ถนนในเขตนี้ถูกน้ำท่วม อีกทั้งนาข้าวของชาวบ้านยังถูกน้ำท่วมเสียหายแล้วกว่า 6,000 ไร่ ล่าสุดป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สรุปความเสียหายพบว่า มีนาข้าวถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 25,000 ไร่, ถนนอีกกว่า 35 สาย ใน 14 อำเภอถูกตัดขาด ซึ่ง นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ประชุมสั่งการให้ทุกอำเภอ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน

(ภาพน้ำท่วมสกลนคร)


ฝนถล่มสกลนคร ผู้ว่าฯเผยท่วมหนักสุดในรอบ 20 ปี 

นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้ที่จ.สกลนคร กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 20 ปี หลังมวลน้ำจากภูเขา บวกกับปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และ น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ของจังหวัด หนักสุดที่อ.เมือง เพราะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม จึงทำให้มวลน้ำหลากมารวมกัน

โดยล่าสุดพบว่ามวลน้ำยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ วัดระดับสูงสุดประมาณ 1 เมตร เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ต้องทำการอพยพประชาชนออกจากบ้านไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วจำนวน 70 ครัวเรือน และอาจจะต้องอพยพเพิ่มขึ้น หากฝนยังไม่หยุดตก ซึ่งทางจังหวัดได้จัดศูนย์ไว้รองรับกรณีต้องอพยพประชาชนไว้ 2 - 3 ศูนย์ ใกล้กับศาลากลางจังหวัด 

ประกาศปิดท่าอากาศยานสกลนคร  ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฏาคม 2560 เวลา 15.00 น. ถึงวันที่ 29 กรกฏาคม 2560 เวลา 15.00 น. 

(ภาพน้ำท่วมโคราช)

โคราชอ่วม ฝนถล่มทำ 5 อำเภอจมบาดาล

นายสุเทพ รื่นถวิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัด ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว จำนวน 5 อำเภอ 24 ตำบล 229 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย

1. อำเภอเทพารักษ์ ถูกน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมจำนวน 1 ตำบล ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน น้ำลดระดับลงแล้วคาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2 วัน ขณะนี้ทาง อบต.หนองแวง ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน พร้อมทั้งอพยพประชาชนมาพักอาศัยที่โรงเรียนสะพานหินชั่วคราวก่อน  
2. อำเภอประทาย จำนวน 13 ตำบล รวมราษฎรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 15,800 คน 7,750 ครัวเรือน ถนน 28 สาย ฝาย 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง และพื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 28,000 ไร่ มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ
3. อำเภอสีดา จำนวน 2 ตำบล มีสถานการณ์น้ำท่วมพื้นผิวการจราจร บริเวณถนนมิตรภาพ ขาขึ้นจังหวัดขอนแก่น ช่วง กม. 235+200 บ้านโนนกอก ตำบลกุดจอก ระยะทางประมาณ 200 เมตร ระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร ขณะนี้ยานพาหนะสามารถสัญจรผ่านได้แล้ว
4. อำเภอบัวลาย จำนวน 4 ตำบล น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร สถานการณ์ปัจจุบันน้ำลดลงแล้ว
5. อำเภอโนนแดง จำนวน 4 ตำบล มีน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่เกษตรหลายตำบล

ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย เบื้องต้น นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัดนครราชสีมา เพื่อช่วยเหลือเคลื่อนย้ายประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนออกจากพื้นที่น้ำท่วม พร้อมกับประสานกาชาดจังหวัดจัดถุงยังชีพช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนแล้ว

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ รายงานสถานการณ์น้ำท่วม อิทธิพล "พายุเซินกา" เหนือ-อีสาน-กลาง อ่วม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook