ล้มสัมปทาน71บริษัทนม สั่งอย.เช็กมาตรฐาน

ล้มสัมปทาน71บริษัทนม สั่งอย.เช็กมาตรฐาน

ล้มสัมปทาน71บริษัทนม สั่งอย.เช็กมาตรฐาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลถก 6 รมต.สางนมร.ร.บูด ถึงมือ อภิสิทธิ์ เล็งรื้อระบบโซนนิ่งโรงนม-ยกเลิกนมถุง กอร์ปศักดิ์ จ้องปิด 71 บริษัทชี้บางแห่งไม่มีตัวตน เจริญ โผล่แจง กมธ.ยุติธรรม สุวโรช บี้สรรพากรสอบภาษีพันล้าน

ความคืบหน้าในการแก้ปัญหานมโรงเรียนผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 มีนาคม นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหานมโรงเรียนเน่าและแก้ปัญหานมดิบล้นตลาด

มีรายงานข่าวเปิดเผยว่าในการประชุมครั้งนี้ นายกอร์ปศักดิ์ได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของนมโรงเรียน เพื่อจะได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบให้แก่โครงการนมโรงเรียนอย่างทั่วถึง จากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ 8,000 ล้านบาทและรัฐบาลชุดนี้ได้ให้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 3,000 ล้านบาทในการขยายโครงการนมโรงเรียนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) เจ้าหน้าที่ อ.ส.ค.ได้ชี้แจงตัวเลขการผลิตนมโรงเรียนให้ที่ประชุมรับทราบโดยแบ่งเป็น ป.1-ป.4 จำนวน5.3 ล้านคนป.5-ป.6 จำนวน1.9 ล้านคนต้นทุนในการผลิตนมพาสเจอไรซ์ 5.76 บาทต่อถุงนมยูเอชทีอยู่ที่ 5.25 บาทต่อถุงขณะที่ราคากลางในการประมูลโครงการนมโรงเรียนอยู่ที่ 6.57 บาท

นอกจากนี้ อ.ส.ค. รายงานว่า มีบริษัทที่เข้าร่วมผลิตนมโรงเรียนทั่วประเทศ ที่ผลิตนมพาสเจอไรซ์ 71 แห่งผลิตนมยูเอชที 12 แห่งและผลิตเนยอีก 8 แห่ง นายกอร์ปศักดิ์มองว่า ผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์พบปัญหาเรื่องการเน่าเสียมากที่สุด

บริษัททั้ง 71 แห่งมีปัญหามาก ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ บางแห่งไม่มีที่อยู่ เป็นเพียงตึกแถวห้องเช่า มีบางแห่งเป็นโรงไม้ และไม่ได้มาตรฐาน จึงอยากให้ อย.และกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบหากพบว่าไม่มีใบอนุญาตและไม่ได้มาตรฐาน ให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะอยากดูว่าทั้ง 71 บริษัทเวิร์กหรือไม่เวิร์กหากไม่เวิร์กก็สั่งปิดโรงงานนั้นไปเลย แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายกอร์ปศักดิ์ในห้องประชุม

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม นายกอร์ปศักดิ์ ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของ อ.ส.ค.ว่าหากมีการยกเลิกทั้ง 71 บริษัทอ.ส.ค.จะมีศักยภาพในการผลิตนมโรงเรียนได้เองหรือไม่ซึ่งเจ้าหน้าที่ อ.ส.ค.ชี้แจงว่าปัจจุบัน อ.ส.ค.มีโรงงานผลิตนม5 แห่งทั่วประเทศสามารถผลิตนมได้ 450 ตันต่อวันแต่ความต้องการบริโภคนมมี 1,000 ตันต่อวัน จึงมีการจ้างบริษัทให้ผลิตในส่วนที่ขาดอีก 550 ตันต่อวันหากบริษัทเอกชนต้องเลิกไป อ.ส.ค.คงไม่มีศักยภาพในการผลิตได้

ต่อมา นายกอร์ปศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วม6 กระทรวงว่าได้นำผลการหารือจากที่ประชุมรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เบื้องต้นรัฐบาลเห็นควรให้ยกเลิกระบบโซนนิ่งในการจัดซื้อนมโรงเรียน เพื่อผลิตนมโรงเรียน และมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานโรงงานผลิตนม 71 แห่งและให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าไปตรวจสอบว่านมได้มาตรฐานหรือไม่หากไม่ได้มาตรฐานก็จะหามาตรการทบทวน แต่ขณะนี้เมื่อสัญญาเดินหน้าก็ต้องปล่อยไปก่อน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบอีกครั้งในวันที่10 มีนาคมนี้

"รัฐบาลยังคงโครงการนมโรงเรียนเหมือนเดิม แต่จะมีการปรับโครงสร้างใหม่ จากเดิมเป็นนมถุง 70% นมกล่อง 30% แต่จะพยายามเปลี่ยนเป็นนมกล่อง70% นมถุง 30% และในอนาคตจะพยายามให้เป็นนมกล่องทั้งหมด โดยยังคงมาตรฐานนมโค 100% นอกจากนี้ระยะยาวในการแก้ปัญหานมล้นตลาด รัฐบาลจะมีมาตรการในการใช้น้ำนมดิบแทนนมผง" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ปชป.ยันไม่มีวาระซ่อนเร้น

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าพรรคประชาธิปัตย์ติดตามเรื่องนมโรงเรียนเพื่อโยนความผิดให้แก่รัฐบาลที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจไปไล่จับใคร แต่จุดประสงค์หลักคือแก้ปัญหาให้เกษตรกรและนักเรียน

"ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีผลประโยชน์ในเรื่องนี้ แต่ที่ต้องดำเนินการ เพราะจะไม่ให้เงินภาษีของประชาชนที่จะนำไปซื้อนมให้เด็ก ถูกคนร้ายเอาไปปู้ยี่ปู้ยำจนเกิดความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลยอมไม่ได้" นายสุเทพกล่าว

บี้สอบภาษี เจริญ ร่วมพันล้าน

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาปัญหานมโรงเรียน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ได้แก่ นายเจริญ เดชเกิด ตัวแทนผู้ประกอบการส่งนมรายใหญ่ในโซน 2 ภาคใต้ นายวิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร นายสมศักดิ์ จันทร์รุ่ง ตัวแทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตัวแทนกรมสรรพากร พร้อมด้วยตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วมสังเกตการณ์

ภายหลังการประชุม นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายสุวโรช พะลัง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ร่วมกันแถลงข่าว

นายประชา กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาถึงปัญหานมบูด นมเน่า นมเสีย และนมไม่ได้มาตรฐาน โดยเชิญหน่วยงานทุกส่วนมาชี้แจง และพบหลักฐานการจัดส่งนม โดยเฉพาะนมผงขาดมันเนยที่นำเข้ามาในประเทศสำหรับเลี้ยงสัตว์ ที่นำเข้าเกินความจำเป็นที่จะใช้ในประเทศ ไม่ทราบว่าหน่วยงานต่างๆ ปล่อยให้นำเข้าได้อย่างไร เพราะอาจจะมีการนำไปแปรรูปเป็นส่วนผสมของนมโรงเรียนได้ คณะกรรมาธิการจะสรุปข้อมูลนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มีนาคมนี้ และจะส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในการติดตามเส้นทางเดินของเงิน เพื่อหาผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นนักการเมือง

นายสุวโรช กล่าวว่าหลังจากนายเจริญตอบข้อซักถามถึงขั้นตอนการจัดส่งน้ำนมจากสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) มายังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร รวมทั้งการรับสัมปทานส่งนมโรงเรียนทั้ง 3 แห่งในภาคใต้นั้น คณะกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการหลบเลี่ยงภาษีในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา และอาจเป็นวงเงินสูงเกือบพันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กรมสรรพากรจะต้องไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป

นายสุวโรช กล่าวอีกว่าเรื่องที่นายเจริญเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงเอกสารเบิกเงิน 280 ล้านบาทมาใช้ แต่ปรากฏว่ามีการยอมความกัน โดยนายเจริญยอมจ่ายค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์โคนมเพิ่มอีก 9 แสนบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook