นักวิชาการห่วงปฏิรูปศึกษาล่มซ้ำซาก แนะศธ.ดึงประชาชนร่วม-จี้พัฒนาคุณภาพครู

นักวิชาการห่วงปฏิรูปศึกษาล่มซ้ำซาก แนะศธ.ดึงประชาชนร่วม-จี้พัฒนาคุณภาพครู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า การปฏิรูปการศึกษารอบแรกของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการรวมองค์กร 14 กรมเข้าไว้เป็น 5 องค์กรหลัก และที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว จึงนำไปสู่การเตรียมการปฏิรูปการศึกษาอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการอีกเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากใช้ สกศ. ที่เป็นหน่วยราชการดำเนินการ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ จะต้องให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมเหมือนที่ผ่านมา ส่วนกระทรวงศึกษาธิการต้องลดบทบาทตนเองเหลือเพียงกำกับนโยบายและมาตรฐาน

การปฏิรูปการศึกษาโดยภาคประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ โดยจะต้องทำให้ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับ กระทรวงศึกษาธิการราบรื่น โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายโอนสถานศึกษา รวมทั้งการออกกฎหมายที่ไม่ให้ภาคเอกชนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐที่เข้มงวด โดยยึดเป้าหมายหลักร่วมกันคือ คุณภาพการศึกษา ซึ่งมีความหลากหลายทั้งผู้จัดการศึกษาและวิธีการ จะทำให้เกิดการแข่งขันที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษาก็จะต้องรื้อใหม่ โดยลดความสำคัญของหลักสูตรแกนกลาง และให้ความสำคัญกับหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรท้องถิ่นมากขึ้น และให้ความสนใจกับการพัฒนาคุณภาพครูอย่างจริงจังต่อเนื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook