อธิการบดีมรภ.สุราษฎร์-แนะใช้จตุรสิกขา เน้นเรียนรู้ โลก-ชีวิต-วิชา-ความดีช่วยปฏิรูปการศึกษา

อธิการบดีมรภ.สุราษฎร์-แนะใช้จตุรสิกขา เน้นเรียนรู้ โลก-ชีวิต-วิชา-ความดีช่วยปฏิรูปการศึกษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) แสดงวิสัยทัศน์ระหว่างการประชุมเรื่อง การพัฒนาเครือข่ายและการประเมินผลการจัดการศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมรส.ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดขึ้น โดยกล่าวว่า การจะปฏิรูปการศึกษาจะสัมฤทธิผลได้ต้องใช้การจัดการศึกษาแบบ จตุรสิกขา กล่าวคือ สอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ใน 4 ประการต่อไปนี้ 1.เรียนรู้โลก 2.เรียนรู้ชีวิต 3.เรียนรู้หลักสูตรวิชา และ 4.เรียนรู้ความดี

ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า 1.การสอนให้เรียนรู้โลก คือการสอนให้ตระหนักว่าโลกให้อะไรกับเราบ้าง และเราต้องปฏิบัติต่อโลกอย่างไร สังคมให้อะไรเราบ้าง และเราต้องปฏิบัติอย่างไรต่อสังคม 2.การสอนให้รู้จักชีวิต คือการสอนให้รู้เท่าทันอารมณ์และความต้องการของตนเอง รู้ในความสามารถและศักยภาพของตนอย่างถ่องแท้ ทำให้สามารถจัดการกับชีวิตตนเองได้ 3.การสอนให้เรียนรู้ตามหลักสูตรวิชา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาโดยตรง และ 4.การสอนเรื่องความดี คือการศึกษาที่สามารถทำให้คนจำแนกแยกแยะได้ว่า สิ่งใดคือกงจักร สิ่งใดคือดอกบัว สิ่งใดคือความงดงาม สิ่งใดคือความชั่วร้าย และสิ่งใดคือสัมมาปฏิบัติ สิ่งใดคือมิจฉาปฏิบัติ ชี้นำให้เห็นความดีงามในสังคมและในจิตสำนึกของตนเอง

ผศ.ดร.ณรงค์กล่าวด้วยว่า อาจารย์ไม่มีทางทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้ ถ้าไม่นำจตุรสิกขามาใช้ในการสอน เช่นเดียวกัน สถาบันการศึกษาก็ยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ หากละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งใน 4 เรื่องนี้ ทุกวันนี้สถาบันการศึกษามักมุ่งเน้นไปที่ประการที่ 3 ให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งทางวิชาการ จนละเลยโลก ชีวิต และความดีงาม แต่เราต้องไม่ลืมว่า คนที่มีความรู้ในวิชา หากขาดความดีเป็นเครื่องนำทางก็อาจนำเอาความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดได้ ดังนั้นเราต้องจัดการศึกษาที่กอปรด้วยจตุรสิกขาอย่างสมดุล เพราะโลกที่ดีงาม ชีวิตที่ดีงาม ความรู้แจ้ง และความดีทั้งมวล คือคำตอบของการจัดการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม หากสถาบันการศึกษานำจตุรสิกขามาใช้จะเกิดประโยชน์แก่วงการศึกษา ่สังคม และโลก เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่พูดถึงกันอยู่เป็นเพียงการปฏิรูปแนวการเรียนเท่านั้น แต่จตุรสิกขาพูดถึงในทุกๆ มิติที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตของมนุษย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook