อัยการยัน "ยิ่งลักษณ์" ร้องต่างชาติขอลี้ภัยไม่ได้

อัยการยัน "ยิ่งลักษณ์" ร้องต่างชาติขอลี้ภัยไม่ได้

อัยการยัน "ยิ่งลักษณ์" ร้องต่างชาติขอลี้ภัยไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองอธิบดีอัยการ ชี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายลี้ภัยของประเทศต่างๆ ได้ เนื่องจากการที่ไม่มาศาล โทษทางอาญาจึงไม่เกิดขึ้น ยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมให้โอกาสและความเป็นธรรมต่ออดีตนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด เปิดเผยในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ที่ไม่ไปรับคำฟังคำตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายหลังจากที่ถูกดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว เพราะส่งผลให้เกิดการทุจริตและความเสียหายต่อภาครัฐหลายแสนล้านบาท โดยอ้างว่า มีอาการป่วย “น้ำในหูไม่เท่ากัน” แต่ศาลพิจารณาและไม่เชื่อ จึงประกาศออกหมายจับ ว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายลี้ภัยของประเทศต่าง ๆ ได้ เนื่องจากการที่ไม่มาศาล โทษทางอาญาจึงไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากจะอ้างด้วยเหตุผลอื่น ก็ต้องรอผลพิพากษาที่มีขั้นตอนและกระบวนการ ก่อนนำไปอ้างว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 2494 กำหนดไว้ว่า ผู้ลี้ภัยที่ละทิ้งถิ่นฐาน เพื่อไปพำนักยังประเทศอื่น ต้องมีสาเหตุ เช่น ผลทางการเมือง เชื้อชาติ ภัยสงคราม ศาสนา หรือความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับเชื้อชาติ แต่ตามหลักของคดีนี้ไม่สามารถอ้างสถานภาพผู้ลี้ภัยได้ เนื่องจากการดำเนินคดีที่ผ่านมาศาลอนุญาตให้ดำเนินการได้ทั้งสิ้น และยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมให้โอกาสและความเป็นธรรมต่ออดีตนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด

"ส่วนการที่จะยกว่าคดีนี้ ถูกตัดสินใจช่วงรัฐบาลทหารถูกยึดอำนาจมานั้น ไม่สามารถอ้างกับต่างชาติได้ เนื่องจากผู้ที่ตัดสินเป็นตุลาการ ศาลฎีกาและเป็นหัวหน้าคณะ ที่ตัดสินตรงไปตรงมา" นายปรเมศวร์ กล่าว

นายปรเมศวร์ กล่าวถึงกรณีที่บางฝ่ายพูดเกี่ยวกับการทุจริตในฝ่ายปฏิบัติการ แต่ทำไมถึงต้องเกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า หากอดีตนายกรัฐมนตรีไม่รับรู้ถึงการทุจริต คดีนี้ก็ถือว่าจบ เพราะไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ถ้ารู้เห็นและยังไม่หยุดยับยั้ง จะมีกฎหมายกำกับอยู่ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 หากไม่กระทำตัวเป็นผู้แทนที่ดี  ก็ต้องรับโทษทางกฎหมาย เนื่องจากการเป็นรัฐบาล ถือเป็นตัวแทนของประเทศ คล้ายกับหากเกิดอุบัติเหตุรถแก๊ซระเบิด กรรมการผู้จัดการบริษัทนั้น ต้องติดคุกด้วย เพราะถือว่าเป็นการประมาทร่วมเช่นกัน

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะดำเนินการกับนายทักษิณ ชินวัตร จับมือตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะหากจะดำเนินการเช่นนั้นต้องลี้ภัยไปทันทีตั้งแต่ถูกยึดอำนาจ แต่เรื่องนี้เป็นการยอมสภาพภาพแบบนั้นไม่มีการหนีตั้งแต่ต้น

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีการตัดสินของอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ที่ดำเนินการก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ประกอบกับการระบายข้าวจีทูจีเก๊ ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการอภิปรายมาตั้งแต่ปี 2555 ว่ารับซื้อข้าวมาในราคา 15,000 บาท มาขายไม่ถึง 10,000 บาท ก่อนที่จะวนกลับเข้ามาในระบบใหม่กว่า 3 รอบ ที่มีการชี้แจ้งกรณีดังกล่าวมาโดยตลอด ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.),  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือแม้แต่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรมช.คลัง รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เตือนเกี่ยวกับนโยบายนี้แล้ว ถือเป็นการที่ดำเนินการปล่อยปละละเลย

อย่างไรก็ตาม การหายตัวไปของน.ส.ยิ่งลักษณ์  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และกระทรวงการต่างประเทศ ต้องดำเนินการเอาตัวมาดำเนิคดีให้ได้ ส่วนใครปล่อยตัวออกไปต้องตั้งกรรมการสอบว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปล่อยปละละเลยให้อดีตนายกรัฐมนตรีออกไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook