ตร.แจง 3 ข้อ ทำความเข้าใจประชาชน ยกเลิกใบตม.6

ตร.แจง 3 ข้อ ทำความเข้าใจประชาชน ยกเลิกใบตม.6

ตร.แจง 3 ข้อ ทำความเข้าใจประชาชน ยกเลิกใบตม.6
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองโฆษก ตร. ชี้แจง 3 ข้อ ทำความเข้าใจประชาชน หลังนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ สั่ง ม.44 ยกเลิก ใบ ตม.6 มีผลตั้งแต่ เวลา 00.01น.นี้.

พ.ต.อ.กฤษณะ  พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีมติเห็นชอบออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง ให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มใบ ตม.6 สำหรับการเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักร ขณะที่บุคคลต่างด้าวยังต้องกรอกรอกเหมือนเดิมนั้นดังนี้

1.แบบฟอร์มใบหรือบัตร ตม.6 คืออะไร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 18 บัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อการนี้ บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องยื่นรายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมืองประจำเส้นทางนั้น และกฎกระทรวงกำหนดแบบเอกสารตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และวิธีการขอหลักฐานการแจ้งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับเข้ามาอีก และการขอกลับเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามเดิม พ.ศ. 2559  ข้อ 7 ระบุว่า การยื่นรายการบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามมาตรา 18 ให้บุคคลนั้นยื่นรายการตามแบบ ตม.6 ท้ายกฎกระทรวงนี้ ดังนั้น  บัตร ตม.6  คือ รายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

2.เหตุใดจึงต้องมีการยกเลิก บัตร ตม.6 จะส่งผลกระทบอย่างไรกับคนไทย ปกติบัตร ตม.6 จะมีรายการในบัตรที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ 1.ชื่อ นามสกุล 2.สัญชาติ  3.วัน-เดือน-ปี-เกิด 4.เลขที่หนังสือเดินทาง 5.เลขที่การตรวจลงตรา (วีซ่า) 6. เพศ 7.ที่อยู่  8.เที่ยวบิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สำหรับคนไทยสามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์  ส่วนเที่ยวบินสามารถดูจากบัตรที่นั่งของผู้ที่เดินทางอยู่แล้ว การตรวจหนังสือเดินทางเมื่อผู้โดยสารคนไทยเดินทางมาถึงช่องตรวจ ตามมาตรา 18 ต้องยื่นหนังสือเดินทางและยื่นแบบรายการ (บัตร ตม.6) เจ้าหน้าที่ ตม.จะดูข้อมูลในบัตร ตม.6 ที่ยื่นมาเพื่อทำการบันทึก ในระบบตรวจหนังสือเดินทางคือ หมายเลขเที่ยวบิน  และหมายเลขบัตร  ตม.6 เท่านั้น

3. ตม. จะมีขั้นตอนการปฏิบัติต่อไปสำหรับคนไทยที่ไม่มี บัตร ตม.6 อย่างไร และจะส่งผลกระทบด้านอาชญากรรมหรือไม่การปฏิบัติหลังยกเลิกบัตร ตม.6 ในส่วนฝ่าย ตม.ขาเข้าฯ ผู้โดยสารคนไทยก็จะต้องยื่นหนังสือเดินทางพร้อมกับบัตรที่นั่ง ให้แก่เจ้าหน้าที่ ตม. เพื่อจะได้ทราบถึงเที่ยวบินที่เดินทางเข้ามา หากไม่มีหรือทำหายก็จะสอบถามกับตัวผู้โดยสารเองว่าเดินทางมาด้วยเที่ยวบินใด  และในส่วนช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automatic Channel) ผู้โดยสารคนไทยจะนำหนังสือเดินทางเข้าเครื่องอ่านและจะใช้บัตรที่นั่งที่มีรหัส  บาร์โค๊ดสแกนที่เครื่อง หากไม่มีก็จะใช้วิธีกดหมายเลขเที่ยวบินเอง ส่วนบัตร ตม.6  ก็จะวางใส่ตะกร้า หลังจากที่ผ่านช่องตรวจแล้ว  จึงไม่มีมีความจำเป็นใดๆ กับบัตร ตม.6

หากผู้โดยสารดังกล่าวมีประวัติอยู่ในฐานข้อมูลระบบบัญชีเฝ้าดูหรือบัญชีต้องห้าม เครื่องตรวจหนังสือเดินทางทั้งช่องปกติและช่องตรวจอัตโนมัติก็จะไม่ให้ผ่านจนกว่าเจ้าหน้าที่จะทำปลดล๊อคในระบบ  ส่วนการใช้ข้อมูลในบัตรเพื่อติดตามตัวนั้น ส่วนใหญ่ต้องการทราบที่พักว่าพักที่ใด ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะเขียนที่พักตามสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้พักอยู่บ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้น

โดยจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 15 กันยายน 2560 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2560 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป

เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของนักเดินทางจำนวนมากที่ต้องไปรอหน้าเคาน์เตอร์เข้าเมือง ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้เน้นมาตรการการคัดกรองบุคคลเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook