นักวิจัยเผย การ์ตูนช่อง 9 นำเสนอความรุนแรงมากที่สุด เด็กหลายคนรับเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว

นักวิจัยเผย การ์ตูนช่อง 9 นำเสนอความรุนแรงมากที่สุด เด็กหลายคนรับเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จอตู้ ทำร้ายเด็กเพิ่มขึ้น วิจัยเผยการ์ตูน-ละครหลังข่าวยัดเยียดความรุนแรงมากสุด ผู้ผลิตแข่งแย่งเรตติ้งลืมผลกระทบเด็ก ชี้คนดูซึมซับไม่รู้ตัว น่าห่วง 6 โมง - 3ทุ่ม เด็กดูทีวีมากสุด อึ้ง พ่อ-แม่ ไม่เคยแนะนำลูกดูทีวี เด็กรับเคยเลียนแบบพฤติกรรม

ที่อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ เมื่อวันที่12 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จัดเสวนาเรื่อง เจาะลึกจอตู้ วันนี้หนูๆ ดูอะไร โดยมี รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม เป็นผู้เปิดงาน พร้อมกล่าวว่า จากผลวิจัยต่างๆ ชี้ว่า รายการโทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมเด็ก ดังนั้น ผู้ผลิตสื่อควรที่จะให้ความสำคัญต่อเด็ก ด้วยการนำเสนอรายการที่เป็นประโยชน์ ไม่ล่อแหลม ที่สำคัญ คือ เน้นเนื้อหาที่แฝงความคิดที่มีประโยชน์ลงไป

ขณะที่ ผศ.ลักษมี คงลาภ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า จากการสำรวจรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ทั้งหมด 91 รายการ พบว่า มีถึง50 รายการที่นำเสนอความรุนแรง หรือคิดเป็นร้อยละ 54.95 และนำเสนอผ่านการ์ตูนมากที่สุดถึงร้อยละ 63.81 ซึ่งเป็นการ์ตูนที่นำเสนอความรุนแรงทางร่างกายโดยใช้อาวุธ สร้างความกดดันทางจิตใจ ความก้าวร้าว เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม 2551 พบว่า รายการการ์ตูนมีปริมาณเวลาการออกอากาศมากที่สุดถึง 989 นาที

ผศ.ลักษมี กล่าวต่อ 6 - 12 ปี จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,600 คน พบว่า การ์ตูนและละครหลังข่าวเป็นสิ่งที่เด็กชอบดูมากที่สุด เด็กหลายคนยอมรับว่า เคยมีพฤติกรรมเลียนแบบทีวี เช่น การเตะต่อย ตบตีกัน อันนำไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวทั้งทางวาจาและการกระทำทางร่างกาย โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนท์ ทีวี หรือช่อง 9 มีการนำเสนอความรุนแรงมากที่สุด 48 นาที คิดเป็น 37% เพราะเป็นช่องที่มีรายการการ์ตูนที่เด็กชอบดู ในด้านการต่อสู้กันของตัวละคร

ส่วนการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ต่อทัศนคติของผู้ปกครองนั้น ผศ.ลักษมี เปิดเผยว่า ผู้ปกครองเห็นว่า มีประโยชน์ เพราะหากเป็นรายการสำหรับเด็กที่มีตัวอักษร ด จะให้ลูกดูโดยไม่ห่วง แต่ก็มีความกังวลในเนื้อหาของรายการการ์ตูน เพราะมักนำเสนอความรุนแรงและบางเรื่องมีความล่อแหลมทางเพศ อย่างไรก็ตาม รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่ผู้ปกครองอยากให้มีเพิ่มมากขึ้น คือ รายการให้ความรู้พื้นฐานที่ใช้ในการเรียน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และให้คติสอนใจ

ด้าน ดร. บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า การสำรวจพฤติกรรม การเปิดรับและความต้องการของเด็กที่มีต่อรายการโทรทัศน์ พบว่า เด็กดูโทรทัศน์หลายช่วงเวลา แต่ช่วงที่เด็กดูมากที่สุดคือ วันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่าง เวลา 18.00 - 21.00 น. คิดเป็นร้อยละ 66.8 เพราะเป็นช่วงที่โรงเรียนเลิกซึ่งเป็นเวลาว่างของเด็ก ส่วนช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์ ช่วงเวลาที่เด็กดูมากคือ เวลา 6.00 - 9.00 น. คิดเป็นร้อยละ 70 เพราะเป็นช่วงวันหยุดของเด็ก โดยเด็กดูกับผู้ปกครองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.8 แต่สิ่งที่ผู้ปกครองแนะนำลูกหลานเวลาดูทีวีไม่ใช่แนะนำที่เนื้อหา แต่กลับกลายเป็นการเตือนอย่านอนดึกหรือดูทีวีใกล้ ซึ่งทำให้เด็กยังคงไม่ได้รับคำแนะนำจากเนื้อหาที่ดูและอาจทำให้เด็กค่อยๆ ซึมซับพฤติกรรมในโทรทัศน์ไปใช้ได้

ในขณะที่ภาพยนตร์โฆษณาในรายการโทรทัศน์ สำหรับเด็ก นั้น ดร. บุญอยู่ กล่าวว่า ส่วนมากเป็นโฆษณาขนมขบเคี้ยวมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.24 จาก 294 เรื่องในรายการโฆษณาทั้งหมด และมีการนำเสนอความรุนแรงในภาพยนตร์โฆษณาถึงร้อยละ 31.89 ซึ่งเด็กๆ ได้รับผลเสียจากการดูโทรทัศน์โดยไม่รู้ตัวถึง 2 ต่อ คือ ภาวะโรคอ้วนจากการซื้อขนมที่ดูจากโฆษณาทางโทรทัศน์ และความรุนแรงจากสื่อโฆษณาที่ล่อแหลมต่อพฤติกรรมเด็ก

*****************************

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://modernine.mcot.net/cartoon

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook