บทวิเคราะห์ : ทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียนเงื่อนปมย้อนรอยการเมือง??

บทวิเคราะห์ : ทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียนเงื่อนปมย้อนรอยการเมือง??

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัญหานมโรงเรียนไม่ได้มาตรฐาน วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.สรุปผลหลังการสุ่มตรวจการจัดซื้อนมโรงเรียนใน 16 จังหวัด 87 เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลพบโครงการนมโรงเรียนแทบทุกแห่งมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือฮั้วประมูล โดยมีพฤติกรมที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ตั้งแต่การกำหนดนโยบายของคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2545 ที่จำกัดสิทธิในการเป็นผู้จัดซื้อนมโรงเรียนด้วยการแบ่งโซนนิ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นมีช่องทางในการทุจริตไปด้วย นอกจากนี้ ป.ป.ท. ยังตรวจพบพิรุธการจัดซื้อนมโรงเรียนได้ถึง17 ประเด็นจากการล็อกสเปกบริษัทที่มีสิทธิประมูล ทำให้ไม่มีผู้แข่งขัน เกิดการผูกขาดบริษัทเดียวทุกปี รวมทั้งมีการมอบอำนาจให้บุคคลเดียวที่ถูกเรียกขานว่า "คนเดินนม มาเสนอราคาแข่งกันเอง ในนาม 2 บริษัท เมื่อตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ได้สิทธิ พบว่าบางแห่งเป็นบริษัทค้าไม้และหลายแห่งไม่ได้ประกอบธุรกิจด้านนมหรืออาหาร บางบริษัท ยังนำสิทธิให้บริษัทอื่นส่งนมแทนโดยกินหัวคิวถุงละ 50-60 สตางค์ "เรื่องนี้มีความรับผิดแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ พื้นที่ซึ่งเป็นปลายทาง อีกส่วนหนึ่งคือระดับกำหนดนโยบายคือ ต้นทาง รายที่ชนะ คือรายที่เสนอราคากลางพอดี รายที่เสนอราคาแข่งก็เป็นเพียงไม้ประดับ ทำให้ได้ผู้ชนะ ส่วนที่แบ่งโซน18 ราย 24ราย ในความเป็นจริงไม่มีหรอก มาแค่ 2 รายเท่านั้น นี่คือคำยืนยันของ นายสาธิต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการป.ป.ท. การฮั้วประมูลผูกขาดนมโรงเรียนทำให้ไม่อาจควบคุมคุณภาพนมได้ รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก และได้นมที่ด้อยคุณภาพ ป.ป.ท. จึงเสนอสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดำเนินคดีเอาผิดกับคณะรัฐมนตรี ปี 2545 ทั้งคณะที่กำหนดนโยบายส่งผลให้เกิดการทุจริตนมโรงเรียน!!! ตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดว่า นมโรงเรียนต้องเป็นนมพาสเจอร์ไรซ์ เป็นนมโคที่ไม่ผสมนมผง มีระยะเวลาการเก็บรักษาเพียง 3 วัน และต้องเก็บในที่เย็นเท่านั้น ส่วนใหญ่เด็กจะบริโภคหมดวันต่อวัน จึงอนุญาตให้บรรจุถุงแทนกล่อง ทำให้ต้นทุนของนมต่ำลง และตามมติคณะรัฐมนตรี อย.และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ในการควบคุมเรื่องคุณภาพกระบวนการผลิต หากตรวจพบว่ามีการผสมนมผงในนมโครงการนมโรงเรียนจะถือว่าผิดข้อตกลงของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 จะถือว่าเป็นอาหารปลอมปน มีโทษปรับไม่เกิน 5,000-100,000 บาท หรือ จำคุก 6 -10 เดือน และหากพบว่าเป็นนมบูดไม่ได้มาตรฐานจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือเป็นความเห็นแก่ได้ของผู้ผลิต หากมีการเติมนมผงผสมในนมโรงเรียน ดังนั้น หากตรวจพบว่าโรงงานที่ผลิตนมโรงเรียนมีการลักลอบผสมนมผง นอกจากดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องของฉลาก ก็จะต้องตรวจสอบคุณภาพของนมผงด้วยว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเปิดตัวเลขจากผลการตรวจสถานที่ผลิตนมโรงเรียน จำนวน69 แห่ง จาก 37 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าผ่านมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม (จีเอ็มพี) 66 แห่ง ไม่ผ่าน 3 แห่ง คือ โรงงานนำศรีชลเครื่องดื่ม จ.ชุมพร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (สำนักงานภาคกลาง) จ.สระบุรี โดยแค่ไม่ผ่านเกณฑ์ในสถานที่ตั้งและอาคารผลิต นอกจากนี้ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน จำนวน 69 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าผ่านเกณฑ์ จำนวน 49 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์ 20 ตัวอย่าง ในรายที่ไม่ผ่านเกณฑ์ พบค่าการแปรผลทางเคมีในส่วนของปริมาณมันเนย โปรตีน ปริมาณไขมัน ต่ำกว่ามาตรฐาน และพบเชื้อจุลินทรีย์ ที่เกินค่ามาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้นมเน่าเสียเร็วขึ้น และทำให้เกิดการท้องเสียได้ เบื้องต้นถือว่าผู้ผลิตนมที่ไม่ได้มาตรฐานกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร ฐานผลิตอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และให้ทุกโรงงานปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์นมที่ได้มาตรฐานต่อไป ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ การพบหลักฐานทุจริตโครงการอาหาร (เสริม) โรงเรียน หรือ นมโรงเรียนที่จังหวัดชุมพรอย่างชัดเจนนี้เอง ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมเสนอเป็นคดีพิเศษ โดยประเด็นในการสืบสวนจะมุ่งไปที่เรื่องการแบ่งโซนการจำหน่ายนมโรงเรียน ที่ได้มีการแบ่งโซนออกเป็น 3 โซน อาจเข้าข่ายเป็นการกำหนดเงื่อนไข เพื่อเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นนอกเขตโซนนิ่ง เพื่อไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้สรุปเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว นอกจากนี้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ยังพบหลักฐานการทุจริตชัดเจนที่จังหวัดชุมพร โดยผู้เสนอราคามีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาใน กคพ. เพื่อขอให้มีมติรับเป็นคดีพิเศษ ภายในเดือนมีนาคมนี้!!! ดูเหมือนว่า ปัญหานมโรงเรียนทำท่าจะหมดทางออก เมื่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มี.ค.52 ได้มีมติยกเลิกการซื้อนมโรงเรียนในระบบโซนนิ่ง ตามที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ แล้วให้มีการเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมประมูลได้ทุกพื้นที่ โดยมีคณะอนุกรรมการบริหารนมโรงเรียนจะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล แม้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่าจะดำเนินการรื้อระบบในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการผูกขาด ให้มีการตรวจสอบมาตรฐานของโรงผลิตนมทั้งหมด รวมทั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็สนับสนุนให้ยกเลิกโซนนิ่ง เพื่อจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี โดยเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการจัดซื้อนมโรงเรียนมากขึ้นเพื่อที่จะได้นมที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกษตรกรขายน้ำนมดิบได้ตามกำลังการผลิตด้วย แต่หากมองในแง่ปฎิบัติแล้ว ยังเป็นเรื่องยาก เพราะยังมองเห็นช่องโหว่ที่เปิดกว้างต่อการทุจริต และยังไม่พบว่าจะมีช่องทางใดที่จะยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตได้ และหากย้อนไปในสมัยที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้เคยยกเลิกระบบโซนนิ่งมาแล้ว เนื่องจากเปิดเสรีดังกล่าวไม่ว่าใครก็ย่อมรู้ว่า สุดท้ายก็ถูกผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับการสัมปทาน เพราะมีศักยภาพ มีกำลังการผลิตที่ตรงตามสเปกที่ถูกกำหนดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงเลี่ยงมิได้ที่จะมีการผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ และแน่นอน เมื่อถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ผลิตนมรายย่อยย่อมได้รับความเดือดร้อนตามมา เป็นเหตุให้ คุณหญิงสุดารัตน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ต้องกลับมาจัดระบบโซนนิ่งเหมือนเดิม...!! ดังนั้น จึงเป็นปมเงื่อนสำคัญ ที่รัฐบาลอาจจะต้องทบทวนอีกครั้งกับการหวนคืนระบบเปิดเสรีนมโรงเรียน เพราะเมื่อเห็นบทเรียนในอดีตแล้วก็ย่อมเรียนรู้ที่จะหาหนทางใหม่ที่จะไม่ย้อนรอยความผิดพลาดเช่นในอดีตอีกครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook