กบข.เล็งตั้งอนุฯสอบเงินหดดึง ปปท.ร่วม! แจงอีกอ้างผลตอบแทนสูง7.04%

กบข.เล็งตั้งอนุฯสอบเงินหดดึง ปปท.ร่วม! แจงอีกอ้างผลตอบแทนสูง7.04%

กบข.เล็งตั้งอนุฯสอบเงินหดดึง ปปท.ร่วม! แจงอีกอ้างผลตอบแทนสูง7.04%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กบข.มีมติตั้งอนุกรรมการพิเศษดูกองทุนหดดึง ป.ป.ท.ร่วมในฐานะตั้งขอสงสัย เป็นความท้าทายที่ของกบข.ที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ แจงอีก ยันตัวเลขกองทุนลดกว่า5.8หมื่นล้านคลาดเคลื่อน อ้างเหตุไถ่ถอนตราสารหนี้ เผยตั้งแต่ตั้งกองทุนให้ค่าตอบแทนสมาชิกสูงถึง7.04%สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยเงินออม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม เวลา 14.00 น.คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าชการ( บอร์ดกบข.) มีการประชุมวาระพิเศษ เพื่อหารือถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะเข้าตรวจสอบการลงทุนของกบข.หลังจากมีผลตอบแทนการลงทุนขาดทุนในปี 2551 โดยมีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังในฐานประธานบอร์ด เป็นประธานการประชุม และมีกรรมการมีกรรมการเข้าร่วมประชุม ประมาณ 10กว่าคน จากกรรมการทั้งหมด 25 คน ใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

นายศุภรัตน์กล่าวถึงผลการประชุมว่า วันนี้ไม่ใช่การประชุมบอร์ดในวาระปกติ แต่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกบข.ได้เชิญกรรมการที่ว่างมาขอหารือถึงกรณีที่ป.ป.ท.มีหนังสือถึงกบข.เรื่องผลการดำเนินงาน ซึ่งเลขากบข.ก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้รับทราบ อย่างไรก็ตามกรรมการก็มีมติอย่างไม่เป็นทางการให้ตั้งอนุกรรมการพิเศษขึ้นดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงควรมีตัวแทนจากป.ป.ท.ร่วมด้วย และให้นำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคมนี้

นายศุภรัตน์กล่าวว่า สำหรับกรอบการทำงานเบื้องต้นนั้น มี 3-4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.พิจารณาดูว่าการดำเนินงานของกบข.เป็นไปตามกรอบ กติกาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 2.กบข.พยายามดูแลรักษาผลประโยชน์ชองสมาชิกมากน้อยเพียงใด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ 3.พิจารณาถึงผลกระทบการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจว่ามีมากน้อยเพียงใด เปรียบเทียบกับตลาด หรือที่อื่น ได้รับผลกระทบมากกว่า หรือน้อยกว่า และ 4.การทำความเข้าใจกับสมาชิกและประชาชนในเรื่องที่เกิดขึ้น

"การที่ป.ป.ท.ตั้งข้อสงสัย เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มาก และผมเชื่อว่าเรื่องนี้ เเป็นความพยายามทำงานอย่างสุจริตใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ป.ป.ท.ก็พยายามทำหน้าที่ของเขา กบข.เองก็พยายามทำหน้าที่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องมาดูว่าอะไรเกิดก่อนหลัง และมุ่งหาคำตอบ จึงเห็นว่าควรตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดู โดยเฉพาะในประเด็นที่ป.ป.ท. ตั้งข้อสังเกต และที่สมาชิกร้องเรียนมา และดูว่าจะชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร" นายศุภรัตน์กล่าว

นายศุภรัตน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามต้องแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ออกว่า ผลการดำเนินงานที่ออกมานั้นเกิดจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ สุจริตใจหรือไม่ และส่วนไหนที่เกิดจากภาวะเศรฐกิจ ถ้าแยกแยะได้ก็เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งประเด็นที่มีการตั้งขึ้นมา บางอย่างก็ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสิน อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร การตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดู ก็น่าจะทำให้เกิดความมั่นใจกับทุกฝ่ายได้

" ถือเป็นความท้าทายที่ของกบข.ที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะสมาชิกมีเป็นล้านคน ซึ่งที่ผ่านมากบข.ก็มีการชี้แจง ผ่านช่องทางอื่นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องมีการชี้แจงต่อ ส่วนการชี้แจงที่กบข.ชี้แจงต่อบอร์ดนั้น บอร์ดก็รับฟัง แต่ไม่ได้มีการตัดสินอะไร" นายศุภรัตน์กล่าว

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรรมการ กบข.กล่าวว่า บอร์ดเห็นว่าควรจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการที่มีความน่าเชื่อถือมาอธิบายให้สมาชิกที่ไม่เข้าใจฟัง แต่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่ากรรมการควรมาจากหน่วยงานใดบ้าง อาจจะมาจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และ ป.ป.ท. ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ท.มีอำนาจในการเข้าตรวจสอบการทำงานของกบข.หรือไม่ ซึ่งก็น่าสงสัยว่าอาจจะไม่มีอำนาจ อย่างไรก็ตามเมื่อมีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ก็ต้องมีการชี้แจง

นาง วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) กล่าวว่าภาพรวมการลงทุนของกองทุนในปีที่ผ่านมานั้น หากกองทุนลงทุนในหุ้นก็ต้องติดลบแน่นอน แต่ถ้าลงทุนในตราสารหนี้ก็ไม่ติดลบ ส่วนกองทุนที่ลงทุนผสมระหว่างหุ้นกับตราสาร ก็แล้วแต่ว่าสัดส่วนการลงทุนของกองทุนนั้นๆเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับกบข.ที่เป็นการลงทุนแบบผสม อย่างไรก็ตามคงให้ความเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลในเชิงลึกว่ากบข.ลงทุนอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการที่ ป.ป.ท. เข้ามาตรวจสอบการบริหารงานของ กบข.ซึ่งในปีที่ผ่านมาผลตอบแทนติดลบ เพราะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกและกบข.เอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ออกข่าวชี้แจงกรณี มูลค่าเงินลงทุน กบข.ระหว่างปี 2550-2551 ลดลงจำนวน 58,093 ล้านบาท ว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยในข้อเท็จจริงคือ อัตราผลตอบแทนส่วนของสมาชิก ติดลบ 5.12% หรือคิดเป็นจำนวน 16,832 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมถึงเงินลงทุนที่ กบข. บริหารทั้งหมดทั้งในส่วนของเงินกองทุนสมาชิกและส่วนเงินสำรอง ผลตอบแทนลดลง 4,216 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน ติดลบ 1.12%

ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบผลการเติบโตของ กบข.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2549-2551) จะพบว่าในปี 2549 กบข. มีสินทรัพย์สุทธิในส่วนของสมาชิกทั้งสิ้น 275,315.89 ล้านบาท ในปี 2550 กบข. มี 315,926.30 ล้านบาท และในปี 2551 มี 308,240.94 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าตัวเลขดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในทางที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี และขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินคืนสมาชิกที่พ้นสมาชิกภาพในแต่ละปี ซึ่งในปี 2551 นอกจากการเกษียณอายุราชการตามเกณฑ์ปกติแล้ว ยังมีผู้เกษียณอายุก่อนกำหนดอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาผลประโยชน์สะสมตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน กบข.ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้สมาชิกได้ เห็นได้จากตัวเลขอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสุทธิย้อนหลังสำหรับสมาชิกแต่ละคนตั้งแต่ตั้งกองทุนเท่ากับ 7.04% ต่อปี ซึ่งยังสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3.26% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยที่ 2.06% ต่อปี

สำหรับมูลค่าเงินลงทุนของ กบข.ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ลดลงเป็นจำนวนมากนั้น กบข.ขอชี้แจงว่าการลดลงดังกล่าวมีสาเหตุเกิดจากการขาย และไถ่ถอนตามกำหนดอายุของตราสารหนี้สถาบันการเงิน ตราสารหนี้บริษัทเอกชน และการขายหุ้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อตราสารหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การลดลงยังมีสาเหตุจากการที่ราคาหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ปรับลดลงตามภาวะตลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งยังมิได้มีการขายออกแต่อย่างใด เนื่องจาก กบข.เห็นว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีแนวโน้มที่ราคาหลักทรัพย์นั้นๆ จะปรับตัวสูงขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทแห่งหนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น กบข.ขอชี้แจงว่า ในการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ตราสารทุน กบข.จะพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ แต่ละตัวประกอบกับราคาหลักทรัพย์ในขณะนั้น กล่าวคือ กบข.จะขายหลักทรัพย์เมื่อเห็นว่าราคาหลักทรัพย์นั้นสูงกว่าราคาปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน กบข.จะซื้อหลักทรัพย์เมื่อเห็นว่า ราคาหลักทรัพย์นั้นต่ำกว่าราคาพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากการที่ กบข.ได้ซื้อขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ และหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2551 โดยมีราคาซื้อเฉลี่ยที่ต่ำกว่าราคาขายโดยเฉลี่ย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook