สวล.ไม่อุทธรณ์! คุมพิษมาบตาพุด

สวล.ไม่อุทธรณ์! คุมพิษมาบตาพุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
บอร์ดสิ่งแวดล้อมลงมติ ไม่อุทธรณ์ ประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดระยอง แต่ยื่นอุทธรณ์ข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประกาศภายใน 60 วันตามคำสั่งศาลปกครองระยอง มาร์คชี้หากเอกชนจะฟ้องก็มีสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ไม่อยากให้กังวลเพราะมีประกาศไปแล้วหลายพื้นที่ ขณะที่สุวิทย์นำมติสวล.เข้าที่ประชุมครม.วันนี้ ด้านปตท.เรียกประชุมทุกธุรกิจในมาบตาพุด ประเมินสถานการณ์ในอนาคตเพื่อรายงานบอร์ด ประธานสภาอุตฯ ชี้ควรมีตัวแทนนั่งในบอร์ดสวล.ด้วย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณากรณีศาลปกครองจังหวัดระยอง พิพากษาให้ประกาศพื้นที่ ต.มาบตาพุด ห้วยโป่ง เนินพระ ทับมา มาบข่า อ.เมือง และต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ภายใน 60 วัน โดยมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ

ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีมติให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุต และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งตรงกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองจังหวัดระยอง ทั้งนี้ การประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อบรรยากาศทางการลงทุน ในส่วนของการดำเนินธุรกิจก็ต้องดำเนินการต่อไป ไม่ได้เป็นการต่อต้านทางธุรกิจ เพราะการประกาศดังกล่าว จะทำให้การทำงานในการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามกฎหมาย และเปิดทางให้คนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของตัวคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดก่อน ที่ถูกศาลปกครองจังหวัดระยองวินิจฉัยว่า ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่นั้น ในที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอุทธรณ์ ในส่วนของคำวินิจฉัยที่ระบุว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่การอุทธรณ์ดังกล่าว จะไม่มีผลต่อการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

เมื่อถามถึงกรณีที่ภาคเอกชนจะฟ้อง หากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไม่อุทธรณ์การประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประกาศเป็นไปด้วยความชอบธรรม หากเอกชนต้องการจะฟ้อง ก็สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้ เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ส่วนข้อกังวลในเรื่องของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โครงการลงทุนในมาบตาพุด ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วนั้น การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะไม่มีผลย้อนหลัง

ไม่อยากจะให้กังวลถึงการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพราะขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก็ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ที่มีการดำเนินการเขตควบคุมมลพิษเช่นเดียวกัน อีกทั้งการประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะทำให้การแก้ไขสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างร่วมกันคิดร่วมกันทำ นายอภิสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ นายรัฐมนตรียังมอบหมายให้ผู้ดำเนินการ ต้องรับฟังความคิดเห็นในทุกๆ เรื่อง ที่จะต้องมีการดำเนินการ นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ไปร่วมกันแก้ไขปัญหา เรื่องกากอุตสาหกรรมในจ.สระบุรี และให้รายงานให้ทราบภายใน 7 วัน ส่วนเรื่องของปัญหาเสียงจากการขึ้น-ลงของเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รับไปดำเนินการ และให้เสนอเรื่องกลับมาให้ทราบในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งหน้า

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า บอร์ดสิ่งแวดล้อมมีมติให้ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยจะไม่มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีการดำเนินการลดผลและขจัดมลพิษ ตามมาตรการระยะเวลา 5 ปี ที่ได้ทำอยู่ในขณะนี้ แต่พบว่ายังขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและประชาชน ดังนั้นการที่บอร์ดมีมติให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะผลกระทบทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในท้องถิ่นทั้งสิ้น ประชาชนจึงน่าจะเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระบวนการในคำพิพากษาของศาลนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง ในประเด็นที่ศาลระบุว่าบอร์ดสิ่งแวดล้อม ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ ทส.จะนำมติประกาศเขตควบคุมมลพิษ เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทางสภาอุตสาหกรรมและภาคเอกชนยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ที่มีมติไม่อุทธรณ์ นายสุวิทย์กล่าวว่า คิดว่าเอกชนไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะมีเรื่องบรรษัทธรรมาภิบาลและถ้าทำความเข้าใจก็ไม่มีผลกระทบในเรื่องของการลงทุน ว่าจะไม่มีรับผลกระทบกับการประกาศเขต รวมทั้งในส่วนของการท่องเที่ยวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะที่ผ่านมามีหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต ก็ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษไปนานแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบอะไร เพียงแต่กระบวนการของการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นเรื่องของทส.ที่เข้าไปดูแลเท่านั้น โดยหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบว่า การดำเนินการที่ผ่านมายังขาดเหลืออะไรอยู่บ้างในการควบคุมมลพิษ นอกจากเรื่องนี้แล้วในการประชุมบอร์ดสวล. นายกรัฐมนตรียังสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งสำรวจความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดเก็บของเสียอันตรายที่ยังมีปัญหาอยู่ด้วย

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ นัดประชุมคณะกรรมการปตท.เพื่อหารือถึงกรณีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ โดยพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปตท. แผนการลงทุนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และจะติดตามว่าจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอะไรบ้างหลังจากประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว โดยขณะนี้ผู้บริหารของปตท.กำลังรวบรวมข้อมูล ผลกระทบ และแนวทางแก้ไข รวมถึงตัวเลขการลงทุนทั้งหมดของเครือปตท.ในเขตมาบตาพุด เพื่อนำเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการปตท.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการในมาบตาพุด เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมี พลาสติก ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ได้ข้อสรุปว่ายินดีให้ความร่วมมือ โดยจะรอผลการพิจารณากรอบการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่จะต้องจัดทำขึ้น หากส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อนักลงทุน ก็จะยื่นต่อศาลปกครองกลาง และเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ส.อ.ท.และสภาหอการค้าไทยควรร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วเอกชนไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เว้นแต่ได้รับความเสียหายและกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประเด็นนี้จึงต้องรอแผนจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะออกมาก่อน หากมีผลกระทบก็มีทางเลือกในการยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้ไต่สวนใหม่ หรือขอให้ชะลอคำสั่งดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่งจะต้องศึกษาในแง่กฎหมายอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook