ดีเอสไอขู่ดำเนินคดีหากหน่วยงานรัฐไม่เร่งดูแลมาบตาพุด ด้านเครดิต สวิสชี้ไม่กระทบอุตสาหกรรมเดิม

ดีเอสไอขู่ดำเนินคดีหากหน่วยงานรัฐไม่เร่งดูแลมาบตาพุด ด้านเครดิต สวิสชี้ไม่กระทบอุตสาหกรรมเดิม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้ว่าฯระยอง ดึง 6 เทศบาลเร่งทำแผนควบคุมมลพิษ มาบตาพุด ขณะที่ ดีเอสไอ ขู่หน่วยงานใดไม่รีบออกเกณฑ์ดูแล สั่งดำเนินคดีฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เครดิต สวิส ชี้ไม่กระทบอุตสาหกรรมเดิม ประเมินค่าใช้จ่ายเพิ่มไม่ถึง 10% ต่อปี ปตท.ทบทวนโครงการท่อส่งก๊าซสายที่ 7 มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน นายกฯยันไม่อุทธรณ์ พร้อมชี้แจงเอกชนให้เข้าใจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ถึงแนวทางการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่สั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประเทศพื้นที่อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมิลพิษ ว่า คิดว่าคงจะไม่ยื่นอุทธรณ์แล้ว คงไม่มีปัญหา น่าจะทำความเข้าใจกันได้ เพราะคำว่าเขตควบคุมมลพิษ มันไม่ใช่เขตที่จะไม่ให้ลงทุน แต่เป็นเขตที่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตนคงจะทำความเข้าใจกับภาคเอกชนต่อไป ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตนก็นำข้อห่วงใยของภาคเอกชนเข้าไปหารือ และกรรมการทุกคนก็เข้าใจ อย่างเรื่องการประกาศแล้วจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าเป็นเขตควบคุมมลพิษจะไม่มีใครไปเที่ยวระยอง ก็ดูว่านอกจากพื้นที่ระยองแล้ว พัทยา จ.ชลบุรี หัวหิน หรือปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นเขตควบคุมมลพิษ และไม่มีผลกระทบ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

วันเดียวกัน นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ ตามที่ศาลปกครองระยองประกาศให้มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ภายหลังการประชุม นายสยุมพรเปิดเผยว่า เบื้องต้นจะมีเทศบาล 6 แห่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดทำแผน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามทางจังหวัดจะต้องรอเอกสารอย่างเป็นทางการที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษจากรัฐบาลก่อนจึงจะดำเนินการได้ สำหรับข้อกังวลในผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวนั้น ทางจังหวัดจะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อไป

ขณะเดียวกันนายภูวิช ยมหา เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง โดยเสนอให้บังคับใช้กฎหมายสั่งให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอย่างจริงจังด้วย

นายภูวิชเปิดเผยว่า หลังจากดีเอสไอลงพื้นที่ เพื่อสืบสวนหาผู้กระทำความผิด และติดตามเฝ้าระวังการกระทำความผิดของสถานประกอบการอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง พบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีแผนป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากทุกหน่วยงานจะรอนโยบายจากรัฐบาลในเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งศาล ทำให้ประชาชนเดือร้อน ทางดีเอสไอจึงเสนอให้จังหวัดระยองเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา โดยให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

นายภูวิชกล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษใน จ.ระยอง มาร้องกับดีเอสไอแล้ว เพื่อให้ดำเนินคดีกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแลปัญหามลพิษ ในข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ โดยหน่วยงานต่างๆ ไม่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งดีเอสไอประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วว่าหน่วยงานใดบ้างที่มีข้อกฎหมายแล้วไม่บังคับใช้ หรือละเว้นการปฏิบัติ ซึ่งจะต้องดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบหน่วยงานอย่างแน่นอน หากพบว่ามีพฤติกรรมเช่นนั้น ขณะนี้มีการสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วกว่า 4 หน่วยงาน

วันเดียวกัน เครดิต สวิส ธนาคารเอกชนและวาณิชธนกิจแห่งสวิตเซอร์แลนด์ ออกบทวิเคราะห์กรณีศาลปกครองมีคำสั่งให้เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไม่ยื่นอุทธรณ์ ว่า คำสั่งดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบมากต่อโครงการที่มีอยู่เดิมหรือที่กำลังดำเนินอยู่ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) เพราะประเมินว่าการเพิ่มมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายการลงทุนน้อยกว่า 10 % ต่อปี นอกจากนี้ประเมินว่าจะไม่มีผลกระทบมากต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ เช่นกัน แม้ว่าคำสั่งของศาลจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวจะค่อยๆ ส่งผลกระทบทางลบต่อทั้ง ปตท.และปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งอาจจะทำให้ทั้งสองบริษัทเน้นการลงทุนไปยังต่างประเทศแทน

แม้ว่าอุตสาหกรรมต่างๆ จะประเมินว่าคำสั่งของศาลจะทำให้การลงทุนลดลงมาก แต่เราเห็นว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบในวงจำกัด เพราะการจะพัฒนากฏระเบียบใหม่ในการควบคุมมลพิษจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ดังนั้นเรื่องต้นทุนที่มีต่ออุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ บทวิเคราะห์ระบุ

บทวิเคราะห์ระบุว่า อย่างไรก็ตามในระยะยาว การประกาศเขตควบคุมมลพิษในจ. ระยองอาจส่งผลกระทบมากต่อโครงการปิโตรเคมีและโรงกลั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามเรากลัวมาตรการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดน้อยกว่ากลัวความไม่แน่นอนของกระบวนการทางการเมืองในการควบคุมมลพิษ เพราะเท่าที่พูดคุยกับตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม พบว่าสิ่งที่คนเหล่านี้กังวลคือความไม่แน่นอนว่ากฏระเบียบควบคุมมลพิษที่จะออกมาใหม่จะเป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เราหวังว่าคงไม่ยุ่งเหยิงแบบกรณีของอินโดนีเซียที่ทุกสิ่งอย่างในการควบคุมมลพิษขาดความชัดเจนว่าอยู่ในอำนาจของใครระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกับรัฐบาล

บทวิเคราะห์ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่มีบรรทัดฐานแข็งแกร่งในการพัฒนากระบวนการออกกฏระเบียบควบคุมมลพิษ แม้ว่าไทยจะมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว 17 เขต แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตท่องเที่ยว มีเพียง 2 แห่งที่เป็นเขตอุตสาหกรรมคือสมุทรปราการและสระบุรี แต่ทั้งสองแห่งก็ไม่ประสบปัญหากดดันมากเท่ากับมาบตาพุด เพราะสมุทรปราการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่อัสดงแล้ว ส่วนสระบุรีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมซีเมนต์ซึ่งไม่ยุ่งยากในการลดฝุ่น ดังนั้นมาบตาพุดจะเป็นบททดสอบแรกที่หนักหนาสำหรับไทย

การตัดสินใจเกี่ยวกับมาบตาพุด อาจจะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นที่เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชะลอตัวลง ขณะที่แรงจูงใจใหม่ๆ ในการผลิตมีน้อยลง ตามทฤษฎีแล้วผู้ลงทุนก็อาจหนีจากมาบตาพุดที่แออัดไปลงทุนในแถวภาคใต้แทน แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้การสนับสนุนต่อแผนการพัฒนาลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างแรงจูงใจและเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐานในภาคใต้ ชัยชนะในคดีมาบตาพุดอาจทำให้องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ต่อต้านการขยายการลงทุนดังกล่าวในภาคอื่น

เราตระหนักว่าพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยดำเนินมาถึงจุดที่วางความสำคัญต่อคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมไว้สูงและเต็มใจน้อยลงที่จะทนต่ออากาศและน้ำที่มีมลพิษเพื่อแลกกับการเติบโตทางจีดีพี เราคิดว่าอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสูงจะได้รับการสนับสนุนน้อยลงจากรัฐบาลและสังคมส่วนใหญ่ บทวิเคราะห์ระบุ

นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กว่าวถึงกรณีการประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษที่อาจส่งผลต่อแผนการลงทุนของ ปตท. ว่า แผนการลงทุนขยายท่อส่งก๊าซสายที่ 7 มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ตามแผนจะก่อสร้างภายใน 1-2 ปีนั้น คงต้องมีการทบทวนเพื่อรอดูความชัดเจนของกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานในพื้นที่จะออกให้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองระยอง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ายังไม่มีการยกเลิกแผนการลงทุน ส่วนโรงแยกก๊าซปิโตรเคมีต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่มาบตาพุดที่ดำเนินการไปแล้วนั้น ปตท.มีระบบพัฒนาเพื่อลดมลภาวะต่างๆ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook