ส.อาหารผนึกเจโทร ติวเข้มความปลอดภัยอาหารไปญี่ปุ่น

ส.อาหารผนึกเจโทร ติวเข้มความปลอดภัยอาหารไปญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดร.อมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 มีนาคมว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน สามารถนำรายได้เข้าประเทศได้นับแสนล้านบาทต่อปี ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ การส่งออกอาหารของไทยแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็นับว่าน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่อุตสาหกรรมอาหารต้องเผชิญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ คือ มาตรการ กฎ ระเบียบและมาตรฐานด้านต่างๆ ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่นับวันจะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่เกิดวิกฤติความไม่ปลอดภัยของอาหารที่ผลิตจากประเทศจีนซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเป็น วงกว้างต่ออุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกรวมถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารที่สำคัญของไทย

สถาบันอาหารร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) จัดสัมมนาเรื่อง "ความปลอดภัยด้านอาหารกับโอกาสของอาหารไทยในตลาดญี่ปุ่น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบ Positive List ซึระบบที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญและมีการตรวจสอบสินค้านำเข้าภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวอย่างเข้มงวด และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) ซึ่งเป็นกลไกในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สำคัญเพื่อให้ความมั่นใจต่อผู้บริโภคในด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าอาหาร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ Positive List และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้สอดคล้องกับข้อกำหนดในระบบ Positive List และระบบการตรวจสอบย้อนกลับรวมถึงกฎ ระเบียบเกี่ยวกับการส่งสินค้าอาหารเข้าประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบันญี่ปุ่นถือว่าเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกรวม 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นสินค้าแปรรูป 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออกในรูปของสินค้ากึ่งวัตถุดิบ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารไปยังตลาดญี่ปุ่นในอันดับต้นๆ รองจาก สหรัฐฯ จีน แคนาดา และออสเตรเลีย แต่ทั้งนี้การประกาศใช้ระบบ Positive List ของญี่ปุ่น ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา ที่กำหนดให้ (1) สารเคมีจำนวน 65 รายการที่ไม่จำเป็นต้องกำนดค่า MRLs เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ามีความปลอดภัย (2) สารเคมีจำนวน 16 รายการที่ห้ามใช้หรือไม่อนุญาตให้มีตกค้างในอาหาร (3) มีการกำหนดค่า MRLs ของสารเคมีทางการเกษตร ยาปฏิชีวนะ และสารเพิ่มเติมในอาหารสัตว์ทั้งสิ้น 799 รายการ และ (4) สารเคมีอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏรายชื่อในข้อ 1-3 กำหนดให้ใช้ค่า MRLs ที่ระดับ 0.01 ppm เป็นมาตรฐานทั่วไป (Uniform Limited) นั้นได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยโดยตรง

เนื่องจากสินค้าอาหารส่วนใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่แปรรูปจากผลผลิตการเกษตร ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบการตกค้างของสารเคมีตามรายการที่ระบุในระบบ Positive List จำนวนมาก รวมทั้งอาจเกิดปัญหาการตรวจพบสารเคมีบางชนิดที่ญี่ปุ่นไม่มีการตรวจสอบมาก่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหากับการส่งออกสินค้าอาหารไทยได้อีกในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook