โปรเจ็กต์หาเสียง กทม. เลื่อนไม่มีกำหนด BRT สายแรก ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์

โปรเจ็กต์หาเสียง กทม. เลื่อนไม่มีกำหนด BRT สายแรก ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4089

คอลัมน์ Zoom Content

หลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ บีอาร์ที สายแรก ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ตั้งแต่ต้นปี 2550 ขณะนี้งานก่อสร้างสถานีคืบหน้าไปเกือบ 100% แล้ว โดยตั้งแต่สถานีที่ 2-11 ก่อสร้างโครงสร้างและ องค์ประกอบสถานีเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ส่วนสถานีที่ 1 และ 12 ซึ่งเป็นสถานีต้นทางและปลายทาง อีก 1 เดือนจะแล้วเสร็จ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ใส่องค์ประกอบเพิ่มในส่วนของปาร์กแอนด์ไรด์ เพราะเป็นสถานีเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ

ตามกำหนดการเดิม กทม.เตรียมโปรแกรมเปิดทดลองเดินรถบีอาร์ทีเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะตัดริบบิ้นเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 5 ธันวาคม

แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะไม่เป็นไปตาม ที่วาดแผนไว้ เนื่องจากโครงการนี้กำลัง ถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อรถจำนวน 45 คัน วงเงิน 387 ล้านบาท จากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ที่ถึงขณะนี้เรื่องก็ยังคาราคาซัง ทำให้ผู้บริหาร กทม. ไม่กล้าจะเดินหน้าโครงการต่อ

ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า เบื้องต้นคงต้องเลื่อนเปิดใช้โครงการบีอาร์ทีออกไปเป็นปีหน้าแทน จากเดิมกำหนดจะเปิดให้ทันวันที่ 5 ธันวาคม ยิ่งไปกว่านั้นขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่า จะเปิดให้บริการได้เมื่อใด เพราะต้องรอ ป.ป.ช.ชี้มูลผลสอบโครงการนี้ออกมาก่อน

เดิมทีจะเดินหน้าโครงการต่อโดยไม่รอผลสอบจาก ป.ป.ช. โดยใช้วิธีจัดซื้อรถบีอาร์ทีใหม่ แล้วเปิดประมูลหาผู้ประกอบการรายใหม่แทน โดยโยกงบประมาณ สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ มาใช้ไปก่อน แต่เกรงว่าจะถูกบริษัทเบสท์รินฯฟ้องเรียกค่าเสียหายภายหลัง จึงชะลอการเปิดใช้โครงการออกไป แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังพิจารณาคือทำเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส 2.2 กิโลเมตร ให้กรุงเทพธนาคมจ้างเอกชนรายอื่นมาเดินรถให้ไปพลางๆ ก่อน

สำหรับโครงการบีอาร์ทีสายนำร่องของ กทม.ใช้เงินลงทุนไปทั้งหมดเบ็ดเสร็จ 2,385 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างงานโยธา 1,107 ล้านบาท งานจัดซื้องานระบบ 800 ล้านบาท จัดซื้อรถบีอาร์ที 387 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาในการบริหารจัดการ 82 ล้านบาท

โครงการมีระยะทางทั้งสิ้น 15 กิโลเมตร แนวเส้นทางเริ่มจากแยกสาทร-นราธิวาสราชนครินทร์ จะต่อเชื่อมกับรถ ไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีช่องนนทรี จากนั้นวิ่งไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แยกนราราม 3 เลี้ยวขวาเข้าถนนพระรามที่ 3 และวิ่งไปตามแนวถนนพระรามที่ 3 ผ่านวัดด่าน วัดปริวาศ และวัดดอกไม้ จากนั้นตัดผ่านถนนเจริญกรุง ขึ้นสะพานพระราม 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตัดผ่านถนนเจริญนคร เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก ไปสิ้นสุดที่แยกรัชดาฯ-ราชพฤกษ์ ซึ่งในอนาคตบริเวณนี้ จะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าตากสิน

มีสถานีจอดรับผู้โดยสารจำนวน 12 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีช่องนนทรี 2.สถานีอาคารสงเคราะห์ 3.สถานีเทคนิคกรุงเทพ 4.สถานีถนนจันทน์ 5. สถานีนราราม 3 6. สถานีวัดด่าน 7.สถานีวัดปริวาศ 8.สถานีวัดดอกไม้ 9.สถานีสะพานพระราม 9 10.สถานีเจริญราษฎร์ 11.สถานีสะพานพระราม 3 และ 12.สถานีราชพฤกษ์ หน้า 8

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook