บทความพิเศษ-ศูนย์เด็กเล็กในโรงงาน เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก

บทความพิเศษ-ศูนย์เด็กเล็กในโรงงาน เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : สภาพสังคมไทยทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากสังคมเกษตรเดิมๆ อย่างยิ่งยวด จากที่เคยอยู่ร่วมกัน ในบ้านหลังใหญ่ มี ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา กลับกลายไปเป็นครอบครัวเดี่ยวเล็กๆ ที่มีเพียง พ่อ แม่ ลูก ครอบครัวเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นหลายครอบครัวจึงไม่สามารถฟูมฟักลูกเองได้ เพราะต่างต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต่างจากสมัยก่อนที่ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านหลังเดียวกันช่วยเลี้ยงดูหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะคนที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ต้องจำทนพรากลูกน้อยไปจากอกทั้งที่เพิ่งชื่นชมได้เพียง 3 เดือน เพราะต้องกลับไปทำงานเมื่อครบกำหนดลาคลอด ภาระการเลี้ยงดูลูก จึงถูกผลักไปที่ญาติผู้ใหญ่ นี่คือความจริง และเป็นความจริงที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ใช้แรงงานที่หลายคนไม่รู้ว่า ยังมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ให้แก่ผู้ใช้แรงงานที่ปัจจุบันเผชิญภาวะเศรษฐกิจและเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง นางกีรติกร ประจำชอบ พนักงานบัญชี บริษัท ซอนเกอร์ แทคเกิ้ล จำกัด แม่ลูกอ่อนวัย 31 ปี บอกว่า หากมีศูนย์ เด็กเล็ก ในสถานประกอบการ หรือใกล้ๆ ที่ทำงาน จะเป็นการดีสำหรับพนักงาน เพราะง่าย-สะดวกที่จะไปดูแลหรือให้คนใกล้ชิดที่ไว้ใจมาช่วยดูแลเด็กๆ ซึ่งนอกจากจะสบายใจที่ได้อยู่ใกล้ลูกแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรับส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือบ้านของญาติได้อีกทางหนึ่งด้วย ที่สำคัญคือ เป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตให้พนักงาน เพื่อนบางคนส่งลูกกลับไปให้ญาติผู้ใหญ่เลี้ยงที่ต่างจังหวัด โชคดีที่ไม่ไกลมากนัก เสาร์อาทิตย์จึงกลับไปหาลูกได้ แต่ตอนนี้ลูกถึงวัยเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว ก็รับมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งหากมีศูนย์ เด็กเล็ก ในสถานประกอบการที่ไว้ใจได้ ก็คงจะเป็นการดีกับพนักงานทุกคนที่มีลูก นางกีรติกรกล่าว เรื่องนี้ดูแล้วอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่หากใครไม่โดนกับตัวก็คงไม่รู้ว่าในยามที่บุตรหลานไร้คนที่ไว้ใจได้ดูแลจะเป็นทุกข์ขนาดไหน ไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ก็เคยรับปากว่าจะสานต่องานนี้ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่ง เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล ก่อนหน้านี้ กสร.ได้จัดตั้งศูนย์ เด็กเล็ก วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ ที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรปราการ เพื่อรองรับบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานในย่านดังกล่าว ล่าสุดมี เด็กเล็ก อยู่ในความดูแลของศูนย์ทั้ง 2 แห่ง ประมาณ 1,300 คน มีการประสานงานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อภารกิจนี้ถึง 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการและชุมชน ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีบทบาทในการอนุญาตให้จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก การตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำ รวมทั้งสนับสนุนอาหารเสริมประเภทนมและสื่อพัฒนาการเด็ก มหาดไทย ส่งเสริมศูนย์พัฒนา เด็กเล็ก ตามภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาธิการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย สาธารณสุขสนับสนุนองค์ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพ ขณะที่กระทรวงแรงงาน ประสานความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมี 8 แห่งเป็นนิคมฯ นำร่อง ซึ่งแต่ละแห่งมีลูกจ้างมากกว่า 2 หมื่นคน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู อมตะนคร แหลมฉบัง ลาดกระบัง เวลโกรว์ บางปะอิน บ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ผลการศึกษาพบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ แหลมฉบังและลาดกระบัง ต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในบริเวณชุมชนมากกว่าในสถานประกอบการ เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากกว่าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนลูกจ้างในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค บางปู บางปะอิน และ เวลโกรว์ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก เพราะเห็นว่าญาติพี่น้องสามารถดูแลได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือแจ้งไปยังสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 75 จังหวัด เพื่อบูรณาการแผนการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 กระทรวง ในการส่งเสริมให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ล่าสุดทั่วประเทศมี 69 แห่ง เป็นศูนย์เลี้ยงเด็กของเอกชน 63 แห่ง และในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง มีเด็กเข้ารับการเลี้ยงดูจำนวน 1,194 คน ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนลูกจ้าง ซึ่งอาจเพราะมีปัจจัยอื่น เช่น กำหนดให้มีถ้าจำนวนลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป หรือบางแห่งสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ เช่น ผลิตสารเคมี เสียงดัง ที่สำคัญคือวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละภาค เช่นภาคเหนือ ภาคใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมให้ปู่ย่าตายาย หรือคนในครอบครัว เป็นผู้เลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม นายไพฑูรย์ตั้งเป้าว่าปีนี้จะขยายศูนย์ เด็กเล็ก ให้มากกว่าที่มีอยู่ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง เรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่สำหรับลูกจ้างในเมืองก็น่าจะได้รับการบรรเทา ลดความกังวล และทำให้หน่วยสังคมหน่วยเล็กที่สุดประคับประคองกันร่วมฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งหลบหลีกภัยสารพัดรูปแบบที่รุมเร้าในยามนี้ไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง เฉลี่ยปีคนไทยอ่านน้อยลง หนังสือพิมพ์แชมป์มีผู้อ่านมากที่สุด66.3% ตลาดสินค้าอาหารยังมีช่องเติบโต เศรษฐกิจทรุดไม่กระทบมาก-ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมาแรง อย.ไล่จับเยลลี่นำเข้าจากมะกัน-จิงโจ้วิจัยพบเด็กกินสมาธิสั้น เกมเศรษฐีออนไลน์กระตุ้นต่อมคิด-ประลองกึ๋น.. วอนรัฐช่วยสร้างเขื่อน กั้นตลิ่งพัง-ช่วยชุมชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook