อภิสิทธิ์วอนอย่าตื่นศก.ตกต่ำ คาดไตรมาสสุดท้ายเข้าแดนบวก สศช.จี้กแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2

อภิสิทธิ์วอนอย่าตื่นศก.ตกต่ำ คาดไตรมาสสุดท้ายเข้าแดนบวก สศช.จี้กแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกฯแจงออก พ.ร.ก.ปรับเพดานเงินกู้ เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลหาเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจที่หากยังไม่ดีขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า คาดไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะกลับมาอยู่แดนบวก สภาพัฒน์เร่งคลอดแผนกระตุ้น ศก.รอบ 2 หลังประเมินวิกฤตนานกว่าที่คาด มาร์คชี้เพิ่มเพดานกู้เปิดช่องหาเงิน

เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 19 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการตรา พ.ร.ก.เงินปรับเพดานเงินกู้ว่า ให้กระทรวงการคลังไปดูอยู่ หลักการคือการส่งออกหดตัวตามการค้าโลก มีผลมาถึงรายได้ของรัฐบาล เพราะการจัดเก็บภาษีได้รับผลกระทบมาก ถ้าเราอยู่เฉยๆ คนก็จะตกงาน เศรษฐกิจก็จะหดตัว ดังนั้น รัฐบาลจะต้องใช้จ่าย ซึ่งมีทางเลือก เช่น จะเก็บภาษีเพิ่ม จะขายสมบัติของชาติ หรือการกู้เงิน รัฐบาลเห็นว่าช่องทางการกู้เงินน่าจะเหมาะสมที่สุด การใช้กฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลในการกู้เงินก็เป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งเคยทำมาในอดีต แต่การกู้เงินระยะสั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาวันที่ 24 มีนาคมนี้ เพื่อมาทำในโครงการบางส่วน จะเริ่มใช้ประมาณครึ่งปีหลังหรือไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่มีการหารือเพิ่มเติมกันคือถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า ต้องเตรียมเปิดช่องไว้ให้กับรัฐบาลหาเงินที่จะมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีการหารือกันเมื่อเช้าวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงวงเงินงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท คิดว่าถ้าจะมีการลงทุนและคิดว่าควรจะทำ เพื่อรักษาระดับเศรษฐกิจไม่ให้คนตกงาน และเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นในเรื่องแหล่งน้ำ ถนน เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจะได้มีความพร้อม

ไม่เสียหน้าถอนร่างกม.ทำสัญญา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลขอถอนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา พ.ศ.... ออกจากการพิจารณาของสภาว่า ตรงนั้นคงไม่เป็นไร เป็นเรื่องของขั้นตอนและวิธีการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เมื่อถามว่า สาเหตุที่ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพราะจะบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการกู้เงินลงไปด้วยหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ควรจะต้องใส่ และถ้าหาก ครม.วินิจฉัยว่าเงินกู้ในสัญญาใดไม่ใช่ลักษณะสัญญาระหว่างประเทศ ก็ไม่ต้องเสนอสภา

เมื่อถามว่า ถ้าเป็นเรื่องการกู้ที่มีผลผูกพันงบประมาณก็อาจเข้าข่ายสัญญาระหว่างประเทศ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเข้าข่ายก็เสนอ อย่างสัญญาเงินกู้ที่จะไปทำกับธนาคารโลก ก็ต้องนำเข้าสภาอยู่แล้วเพราะไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น ข้อโต้แย้งที่ทำขึ้นนั้นมีลักษณะสัญญาแบบไจก้า (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) ที่มาทำโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงการคลังกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าไม่ใช่หนังสือสัญญา แต่เป็นสัญญาเงินกู้ภายใต้กฎหมายภายในประเทศนั้นๆ แต่ตนเห็นว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง น่าจะถือว่ากระทบต่อเศรษฐกิจ ก็เลยจะนำเข้าสภา แต่รัฐบาลที่แล้วก็ไม่ได้เอาเข้า

เมื่อถามย้ำว่า เหตุผลที่แท้จริงของการถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคืออะไร นายกฯกล่าวว่า ต้องการที่จะตัดวรรคดังกล่าวออกไปแล้วจะให้เป็นดุลพินิจของรัฐบาล ว่าสัญญาเงินกู้ฉบับไหน เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย การถอนร่างออกมารัฐบาลไม่ได้รู้สึกเสียหน้า แต่กลับสบายใจมากกว่า ที่เมื่อมีความเห็นทักท้วงอย่างมีเหตุมีผล ก็มีการปรับแก้กัน ดีกว่าจะไปดื้อดึง

บอกปชช.อย่าตื่นตกใจวิกฤตศก.

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเตือนมาตลอดว่าสถานการณ์จะหนัก การที่จะหวังให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในแดนบวก คงต้องรอจนถึงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งในการประชุม จี 20 ที่ประชุมยังกังวลเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ขณะนี้ตลาดของสหรัฐเริ่มตอบสนองทางบวกมากขึ้น แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ต้องดูสถานการณ์สหรัฐเป็นหลัก

ยืนยันได้ว่ารัฐบาลไม่ประมาท และไม่ต้องการให้ประชาชนประมาท ขณะเดียวกันไม่อยากให้ตื่นตกใจมากเกินไป เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศยังพอขับเคลื่อนไปได้ รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศควบคู่กันไป นายกฯ กล่าวและว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจวันที่ 25 มีนาคม จะหารือเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการลงทุน เมื่อได้ตัวเลขชัดเจนแล้ว จะมาดูถึงการจัดหาเงินว่าจะมาจากไหน โดยจะตัดสินใจให้ทันกับเวลาในการแก้ปัญหา ถ้าจะเปิดวงเงินกู้ซึ่งกำลังดูในกรอบ 2-3 ปีข้างหน้าอยู่ ขณะนี้หนี้สาธารณะของทุกประเทศกำลังพุ่ง ก็ต้องดูว่าจะยอมให้ขึ้นมาถึงขนาดไหน

เมื่อถามว่า การออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินจะทำได้ทันในเดือนเมษายนนี้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เท่าที่วางกรอบไว้ก็ใกล้เคียงกับระยะเวลาดังกล่าว หรือช้ากว่านั้น แต่อาจไม่ได้ออกเป็น พ.ร.ก. อาจจะเป็น พ.ร.บ. ก็ได้ ต้องดูที่เงื่อนไข

สศช.เร่งกระตุ้นรอบ 2 รับศก.ไม่ฟื้น

วันเดียวกัน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ชุดเล็ก ที่บ้านพิษณุโลก เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา นายกฯแจ้งว่า การประชุมกลุ่ม จี 20 มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะยาวนานกว่าที่คาดไว้ และทุกประเทศเริ่มมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองออกมา และจะมีปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กำลังอยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรงขณะนี้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไทย รอบ 2 ให้เร็วขึ้น โดย สศช.กำลังพิจารณารายละเอียดโครงการลงทุนวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ปี 2553-2555 เพื่อเสนอ ครม.เศรษฐกิจพิจารณาในสัปดาห์หน้า

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกใช้งบประมาณ 1.167 แสนล้านบาท เป็นเพียงการบรรเทาไม่ให้สถานการณ์ทรุดหนัก ซึ่งใช้ได้ประมาณ 6 เดือน หรือถึงเดือนกันยายนนี้เท่านั้น เมื่อเราปั๊มหัวใจแล้ว ก็ต้องให้ยากระตุ้นเพิ่ม ดังนั้น การออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อรองรับปัญหากรณีที่เศรษฐกิจไม่พื้นตัวในสิ้นปีนี้ นายอำพน กล่าว

ยันลงทุนภาครัฐต้องเป็นหัวหอก

เลขาฯสศช.กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นเมื่อไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ต่างจากที่คาดการณ์ไว้มาก โดยเฉพาะการส่งออกและนำเข้าน่าห่วงมาก ดังนั้น การลงทุนภาครัฐจึงต้องเป็นหัวหอก รัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนหนึ่งเพื่อพลิกฟื้นการลงทุน การบริโภคให้กลับมา หากไม่หามาตรการมารองรับมีหวังเกิดปัญหาใหญ่แน่ โดยเม็ดเงินที่เหมาะสมอย่างน้อยจะต้องอยู่ที่ 5 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มเติมจากงบฯลงทุนปกติของภาครัฐ โดยจะทำให้การลงทุนภาครัฐเติบโต 3-4% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา จะทำให้การบริโภคขยายตัวได้ 2-3% สามารถชดเชยรายได้จากการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว 10-15% และจะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ให้ติดลบจนกลายเป็นวิกฤตรอบสอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แหล่งเงิน 5 แสนล้านบาทต่อปี จะนำมาจากไหน นายอำพนกล่าวว่า ช่วงปี 2554-2555 รัฐบาลคงไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายได้เกินกว่า 1.8-1.9 ล้านล้านบาท เพราะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้ และอัตราภาษีคงไม่สามารถเพิ่มได้ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา จึงจำเป็นต้องกู้เงินทั้งในและต่างประเทศ และจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพดานการก่อหนี้

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงตัวเลขนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงมากถึง 40.33% ว่า ไม่ได้หมายถึงว่าสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศจะแย่ลง แต่เกิดจากไตรมาสแรกปีที่แล้วมีการเร่งการนำเข้าจำนวนมาก จึงมีสินค้าคงคลังอยู่มากทำให้ต้องชะลอการนำเข้าลง

กอร์ปศักดิ์ยันไม่ทิ้งชะลอเลิกจ้าง

ที่รัฐสภา นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนหรือโครงการต้นกล้าอาชีพ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการเพื่อป้องกันการไม่ปฏิบัติตามของผู้ประกอบการโดยอาจให้ต้องวางเงินค้ำประกัน แต่คงต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการให้พิจารณาอีกครั้ง ส่วนที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะยกเลิกการฝึกอบรมในส่วนการชะลอการเลิกจ้างแรงงานนั้น ไม่เป็นความจริง รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเพราะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน ขณะนี้มีผู้ประกอบการ 106 แห่ง รวมจำนวนพนักงาน 7.4 หมื่นราย ที่อยู่ในเป้าหมายการฝึกอบรม

ที่ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลลอยแพแผนชะลอเลิกจ้าง 1.5 แสนคน ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพราะการประชุมคณะกรรมการที่ผ่านมา ส.อ.ท. และกระทรวงแรงงานเสนอรายชื่อผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการไม่ทัน เท่านั้นเอง ในการประชุมครั้งต่อไปน่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาได้ แต่หากจะของบประมาณ 1,000 ล้านบาท ไปทำกันเอง คงเป็นไปไม่ได้ นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวและว่า เร็วๆ นี้จะจัดทำเว็บไซต์แสดงรายละเอียดว่าเงินแต่ละส่วนนำไปทำอะไรบ้าง บริษัทใดเข้าร่วมประมูล เพื่อให้สังคมตรวจสอบ

ไม่เชื่อคนอยากตกงานไปอบรม

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่กังวลว่าโครงการต้นกล้าอาชีพจะจูงใจให้ลูกจ้างลาออกจากงานเพื่อไปรับเงิน 4,800 บาท และรับเงินกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม 8 เดือนนั้น เป็นไปไม่ได้ที่คนทำงานที่มั่นคงจะลาออกมารับเงินแค่ 4,800 บาท 3 เดือน และการจะรับเงิน 4,800 บาทนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ จะได้เงินต้องมีการฝึกอาชีพเหมือนทำงานทุกประการ และการลาออกเพื่อมาเอาเงินว่างงานยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในยามนี้ไม่มีใครอยากตกงานมารับเงินแค่เพียงร้อยละ 30 ของเงินเดือน เว้นเสียแต่ว่าคนงานจะรู้ว่าโรงงานจะปิดกิจการ

ที่โรงแรมริชมอนด์ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ว่า ได้รับการยืนยันจากธนาคารกรุงเทพว่า เช็คกว่า 5.5 ล้านใบ จะเสร็จในวันที่ 21 มีนาคม และพร้อมแจกตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-8 เมษายนนี้ สำหรับผู้ที่ไปรับเช็คไม่ทันกำหนด สามารถนำบัตรประชาชนไปติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนเป็นต้นไป กรณีที่ผู้มีสิทธิไม่มารับเช็ค หรือไม่แสดงตัว จะทำหนังสือแจ้งภายในเดือนมิถุนายน หรือภายใน 90 วัน หากเกินระยะเวลาดังกล่าวยังไม่มีผู้มารับ จะนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารกรุงเทพและส่งคืนกรมบัญชีกลาง

นักวิชาการห่วงแจกเงินรั่วไปนอกปท.

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาพิเศษ นโยบายประชานิยม...ความฝันของรัฐบาลหรือประชาชน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลใช้อยู่ มีปัญหา 4 ข้อ คือ ปัญหากลุ่มเป้าหมาย ปัญหาประสิทธิภาพของนโยบาย ปัญหาที่เกิดผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และปัญหาการคลัง แม้ปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศไม่ปกติ จำเป็นต้องใช้นโยบายประชานิยม แต่ควรคำนึงวิธีการจัดการ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะได้รับประโยชน์น้อย เช่น นโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควรให้คนกลุ่มไหนเพื่อกระตุ้นที่แท้จริง อีกเรื่องที่สำคัญคือ เงินที่แจกจ่ายลงไปอาจไม่อยู่ในประเทศไทย แต่รั่วไหลออกนอกประเทศจนทำให้การกระตุ้นต่ำลง

ความเป็นธรรมสำคัญที่สุด ควรอธิบายให้ได้ว่า ทำไมบางกลุ่มได้ บางกลุ่มไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความไม่เป็นธรรม อย่างกลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเกษตรที่มีกว่า 3 ล้านคน คนเหล่านี้ตั้งขอสงสัยว่าทำไมพวกตนจึงไม่ได้รับเงิน 2,000 บาท (โครงการเช็คช่วยชาติ) นายณรงค์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook