พบรูปสลักแผ่นหินคล้าย ฟาโรห์ ริมอันดามัน! ร้องผู้เชี่ยวชาญเร่งพิสูจน์

พบรูปสลักแผ่นหินคล้าย ฟาโรห์ ริมอันดามัน! ร้องผู้เชี่ยวชาญเร่งพิสูจน์

พบรูปสลักแผ่นหินคล้าย ฟาโรห์ ริมอันดามัน! ร้องผู้เชี่ยวชาญเร่งพิสูจน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"หมอบัญชา"เผยพบรูปสลักบนแผ่นหินคล้ายใบหน้าฟาโรห์อียิปต์โบราณ ในพังงา-ระนอง ชี้ยังพบหินสีแกะสลักรูปสัตว์ คล้ายในสุสานลุ่มน้ำเวียดนาม เร่งค้นคว้าหาร่องรอยประวัติศาสตร์

ผู้สื่อข่าวภูมิภาค "มติชน" รายงานว่า ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ จ.กระบี่ สุราษฎร์ธานี พังงา ระนอง และชุมพร ที่มีการขุดพบลูกปัดเป็นจำนวนมาก คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งผลิตและการค้าลูกปัดในยุคโบราณเมื่อสองพันปีก่อนนั้น ยังพบหลักฐานหลายชิ้นที่มีลักษณะคล้ายกับวัตถุโบราณที่ผลิตขึ้นจากอียิปต์เป็นแหล่งอารยธรรมโลกอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการสุธีรัตนามูลนิธิ เขียนไว้ในหนังสือ "รอยลูกปัด" ระบุหลักฐานดังกล่าวที่ขุดพบในพื้นที่ของภาคใต้ สร้างความแปลกใจในแวดวงคนสนใจประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นอย่างมากคือ รูปสลักหินที่แกะสลักเป็นใบหน้าคน มีใบหน้าหนึ่งคล้ายใบหน้าของฟาโรห์ในอารยธรรมอียิปต์โบราณ โดยรูปสลักหินมีลักษณะเป็นแผ่นหินแบนสีน้ำตาลแก่ แกะตัดเป็นรูปใบหน้าที่มีเคราบริเวณคางกับทรงผมเป็นกระพุ่ม และใบหน้ามีรอยขีดเห็นดวงตาและเส้นผม

นอกจากนี้ ยังพบรูปคนคล้ายนักรบแกะบนแผ่นหินมีเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับศีรษะ อาวุธและสิ่งที่ถือในมือเปล่งเป็นประกาย คล้ายๆ กับภาพนักรบที่เคยปรากฏในประติมากรรมขนาดใหญ่ของทั้งอียิปต์และเปอร์เซียโบราณ

นพ.บัญชาให้สัมภาษณ์ว่า แรกพบเห็นประติมากรรมขนาดเล็กเหล่านี้เชื่อว่าน่าจะเป็นของทำขึ้นใหม่ แต่เมื่อได้ติดตามศึกษาโดยเฉพาะจากชุมชนที่พบและรวบรวมรักษาไว้นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการค้นพบสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว แต่ไม่มีการเห็นคุณค่า เนื่องจากแต่ก่อนผู้คนมีความสนใจแต่เพียงลูกปัดเท่านั้น

"เมื่อผมลงไปศึกษาค้นคว้า จึงมีชาวบ้านนำสิ่งของเหล่านี้ที่พบและเก็บเอาไว้ในบ้านบ้าง บนหิ้งพระบ้าง หรือกระทั่งทิ้งขว้างหรือเก็บในกล่องไว้บ้าง ออกมาให้ดูเพราะต่างก็แปลกใจ ไม่แน่ใจว่าคืออะไร สอบถามหลายฝ่ายต่างน่าเชื่อได้ว่าเป็นของเก่าที่ถูกพบจากใต้ดินมาแต่เดิมจริง จึงตัดสินใจขอเก็บรวบรวมไว้ก่อน เพื่อรอการตรวจสอบพิสูจน์โดยได้ตัดสินใจเขียนและตีพิมพ์ในหนังสือ เพื่อการเชิญชวนสาธารณะได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบด้วย" นพ.บัญชากล่าว

นพ.บัญชากล่าวอีกว่า เนื่องจากในประเทศไทยไม่ทราบว่าจะปรึกษาเรื่องนี้กับใคร ตลอดจนเคยสอบถามนักวิชาการต่างประเทศที่เข้ามาขอศึกษาค้นคว้าต่างตอบว่าไม่มีความรู้และสันทัดพอในด้านนี้ มีนายไมเคิล ไรท อดีตนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษเพียงคนเดียวที่แสดงทรรศนะในเรื่องนี้ไว้ในสองประเด็นว่า

"ถ้าเป็นของปลอมที่ทำขึ้นมาใหม่ ก็น่าแปลกใจว่าใครทำ และทำขึ้นมาทำไม ทำมาตั้งแต่เมื่อไร ในเมื่อพื้นที่ที่พบประติมากรรมเหล่านี้ก็มิได้เป็นพื้นที่แหล่งลูกปัดที่มีชื่อเสียงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บางกล้วยในกิ่ง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง และที่ควนบางโร ใน อ.คุระบุรี จ.พังงา ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นที่ต้องการ มีมูลค่ามาแต่ก่อนเลย แต่ถ้าเป็นของเก่ามาแต่ก่อนจริง ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญมากที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง" นพ.บัญชากล่าว

นพ.บัญชากล่าวว่า ในเบื้องต้นนายไมเคิล ไรท ให้ความเห็นว่าจากรูปลักษณะที่เห็น คล้ายกับรูปเคารพของกลุ่มอารยธรรมย่อย (Minor Civilisation) ในเขตพื้นที่แอฟริกาและตะวันออกกลางโบราณที่นิยมผลิตสิ่งของที่ผสมผสานอารยธรรมของตนเข้ากับอารยธรรมใหญ่ (Major Civilisation) คืออียิปต์ในลุ่มแม่น้ำไนล์ และเปอร์เซียตะวันออกกลางและดินแดนเมโสโปเตเมีย

นอกจากนี้ ในพื้นที่ทั้งสองแห่ง ยังพบหินและหินสีมีค่าแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปช้าง ม้า ปลา เต่า สิงห์ มกร โดยมีสัตว์ลักษณะแปลกชนิดหนึ่งคล้ายหนู มีสี่ขา หางสั้น จมูกแหลม คล้ายที่เคยมีรายงานการพบในสุสานสมัยฮั่น-เวียด (พ.ศ.432-586) ในลุ่มน้ำแดงของเวียดนามปัจจุบัน รวมทั้งมีการพบกลุ่มหินแกะสลักเป็นหัวแหวนและตราประทับ (Intaglios) เป็นจำนวนมาก โดบพบมีทั้งรูปอย่างอินเดียและโรมัน ตลอดจนอักขระสมัยพราหมีและปัลลวะด้วย

นพ.บัญชากล่าวว่า หลักฐานเหล่านี้ล้วนเหลือเชื่อ หากศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาโบราณคดีก็จะบอกอะไรอีกหลายอย่าง โดยเห็นว่าข้อเสนอสำคัญเรื่องโบราณคดีชุมชนที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะชุมชนชาวบ้านและท้องถิ่นมีส่วนเป็นบทบาทสำคัญ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook