กฎว่าด้วย..มัธยัสถ์..วางแผนและมีวินัย

กฎว่าด้วย..มัธยัสถ์..วางแผนและมีวินัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : ใครที่แวะไปร่วมเสวนาพิเศษ อิสรภาพทางการเงินวัยเกษียณกับกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ไลฟ์ไซเคิล เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คงอิ่มอกอิ่มใจกับการแสวงหาความสุขในวัยเกษียณอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการได้รับฟังแนวคิดและมุมมองจาก รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อาจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ที่ประกาศว่า วันนี้มีความสุขกับวัยเกษียณเป็นอย่างยิ่ง เสริมเพิ่มเติมด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่กว่าอย่าง มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด คนที่มีความสุขในวัยเกษียณอย่าง รศ.ดร.วรากรณ์ บอกว่า เรื่องเงินกับเรื่องเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นศาสตร์ของการจัดการเกี่ยวกับการ จำกัด เรามีเงินจำกัดก้อนหนึ่งในชีวิต คำถามคือ ทำอย่างไรให้มันเป็นประโยชน์ต่อเราหลังจากที่เราพ้นวัย 60 ไปแล้ว คำตอบแรกคือ การวางแผน ถ้าไม่วางแผนไว้ เราก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่เมื่อหลัง 60 ปีไปแล้ว ถ้าเรารวยเพื่อจนในวันนี้ คือ มีเงินได้เท่าไหร่ เราใช้หมดเลย โดยไม่คิดถึงวันข้างหน้า อย่างนี้เขาเรียกว่า รวยเพื่อจน แต่ถ้าเราจนเพื่อรวยในวันนี้ คือ เรามีการวางแผน เราใช้เงินอยู่ในขอบเขตของชีวิตของเรา แล้วเราก็จะรวยหลังจากที่พ้น 60 ปีไปแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ที่คำตอบคำเดียวคือ วินัย วินัยกับการวางแผนเป็นของคู่กัน ดังนั้น ถ้ายอมรับว่า ต้องมีการวางแผน ก็ต้องนำแผนการที่วางไว้มาบังคับให้มีวินัยเกิดขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะสามารถเอาชนะปัญหาที่ว่า จะทำอย่างไรเมื่อถึงวัยเกษียณและไม่ได้มีรายได้เข้ามาแล้ว สิ่งเดียวที่บังคับคนให้มีอายุยืนได้ ก็คือ วินัย ตัวผมเองเมื่อถึงอายุ 60 แล้ว ผมก็พยายามทำสิ่งที่แตกต่างจากที่ผมทำมา ด้วยการออกกำลังกาย เมื่อก่อนผมออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 วัน แต่ตอนนี้ผมทำทุกวัน ทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้น ผมอยากจะเรียนว่า การที่คนเราจะออมได้หรือไม่ จะมีสุขภาพดีหรือไม่ หรือว่าจะทำอะไรที่ประสบความสำเร็จหรือไม่ บากบั่นหรือไม่ ผมว่าอยู่ที่คำคำเดียวเท่านั้น นั่นคือ วินัย รศ.ดร.วรากรณ์ ยังให้คำจำกัดความน่ารักๆ ของคำว่า วินัย ไว้ด้วยว่า หมายถึงการทำอะไรที่ ตรงกันข้าม กับสิ่งที่เราอยากจะทำ นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นเจ้าของงานเขียนด้านบริหารเงิน รวมทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสาร แพรว บอกด้วยว่า การเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินจึงขึ้นอยู่กับการวางแผนและความมีวินัย รวมทั้งการให้ เงิน ทำงานรับใช้เจ้าของเงิน ถ้ามีเงินฝากไว้แล้ว แทนที่จะให้เงินทำงานรับใช้เรา เราเอามาใช้เสียก่อน มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา สมมติฐานก็คือ ใส่เงินเข้าไปแล้วทุกเดือนๆ เราไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลย คือ เรามีวินัยที่จะไม่ยุ่งกับมัน ถ้าถอนเข้าถอนออกระหว่างทาง แผนการนั้นก็ล้มเหลวหมด เพราะฉะนั้น วินัย คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง อาจารย์วรากรณ์สำทับได้อย่างน่าสนใจยิ่งกับประโยคทองที่ว่า ขณะที่การมีสุขภาพดีคือ การมีเงินอีกก้อนหนึ่งในกระเป๋า สำหรับหลักการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลที่ รศ.ดร.วรากรณ์ บอกว่า เป็นหลักที่เห็นพ้องต้องกันอย่างแรก คือ จะต้องกินอยู่ต่ำกว่าฐานะ การจะมีเงินออมได้ ต้องกินอยู่ต่ำกว่าฐานะ และการอยู่กินต่ำกว่าฐานะได้ต้องมีวินัย ต้องมีอำนาจเหนือเงิน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่บอกว่า การออมที่ได้ผล คือ การออมโดยบังคับ เพราะมนุษย์ชอบที่จะผัดวันประกันพรุ่ง

ส่วนหลักข้อที่ 2 เมื่ออยู่กินต่ำกว่าฐานะแล้ว จะต้องให้เงินทำงานรับใช้ ต้องลงทุน เพราะเงินมีแขนมีขา งอกได้ และเงินมีหลายชั่วอายุคน สุดท้ายคือ การมองโลกในแง่มุมที่เปลี่ยนไป นั่นคือ เลิกมองว่าการออมเป็นเรื่องน่าอาย และคน มัธยัสถ์ เป็นคนน่ารังเกียจ เคยมีงานวิจัยที่สอบถามเศรษฐีอเมริกันกว่า 1 หมื่นคนว่า มีกฎในการใช้เงินอย่างไร เขาบอกว่า กฎข้อที่ 1 มัธยัสถ์ แปลว่าไม่ควรใช้จ่ายเงินในเรื่องที่ไม่ควรใช้จ่ายอย่างโง่ๆ กฎข้อ 2 มัธยัสถ์ และกฎข้อที่ 3 ให้ท่องกฎข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ให้แม่นๆ รศ.ดร.วรากรณ์กล่าวปิดท้าย ด้าน มาริษ ซึ่งรับหน้าที่ให้ข้อมูลกองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย ไลฟ์ไซเคิล ซึ่งประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย ไลฟ์ไซเคิล 2015, 2020 และ 2025 บอกว่า กองทุนในซีรีส์นี้ออกมาเพื่อรองรับความสุขหลังวัยเกษียณ ซึ่งแน่นอนว่า จะตอบสนองในส่วนที่เป็น การวางแผน สำหรับอนาคตทางการเงินของผู้ลงทุน ส่วนความมี วินัย นั้น กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี บอกว่า ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง เพราะผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่ดูแลวินัยการลงทุน โดยมุ่งเน้นบริหาร ความเสี่ยง ให้อยู่ในระดับต่ำ ด้วยการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความมั่นคง เช่น ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรรัฐบาลไทย ขณะที่ วินัย อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่ตัวของผู้ลงทุนเองว่า จะสามารถรักษาการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือนไว้ได้หรือไม่ ขวัญชนก วุฒิกุล

k_wuttikul@hotmail.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลี่ยงทางรอด เหยื่อเทคโนโลยี เส้นแบ่งของโจรกับนักสืบ อะไรๆ ก็ง่ายไปหมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook