สธ. มอบ 6 รางวัลสุดยอดผลงานวิชาการปี 2551 สร้างประโยชน์ให้วงการแพทย์และประชาชน

สธ. มอบ 6 รางวัลสุดยอดผลงานวิชาการปี 2551 สร้างประโยชน์ให้วงการแพทย์และประชาชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระทรวงสาธารณสุข มอบรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมและดีเด่น ประจำปี 2551 ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการบริการประชาชน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานปิดการประชุมวิชาการสาธารณสุขประจำปี 2552 ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2552 ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยมอบรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมและดีเด่น ประจำปี 2551 ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกจากผลงานวิชาการดีเด่นที่เข้ารอบจากการประชุมวิชาการปีที่ผ่านมา จำนวน 34 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ งานวิจัยด้านการแพทย์ (Clinical) งานวิจัยด้านอื่นๆ (Non Clinical) และงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research/PAR) โดยประเภทงานวิจัยด้านการแพทย์ มีผู้ได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น 2 เรื่อง ได้แก่ 1.Distraction Osteogenesis of Malunion Fracture Mandible โดย ทันตแพทย์วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2.ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดเรื้อรังในทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม โดยแพทย์หญิงศิริสุข อุตมา โรงพยาบาลลำปาง ประเภทงานวิจัยด้านอื่นๆ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 1 เรื่อง คือการศึกษาต้นทุนทางเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดย นางสาวจอมขวัญ โยธาสมุทร โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กรมอนามัย และรางวัลดีเด่น 1 เรื่อง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการถาวรและเคลื่อนที่ระบบสุขภาพสากลในการตรวจยืนยันยาบ้าในปัสสาวะ โดยนางลักษณา ลือประเสริฐ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเภทงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 1 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหน่วยบริการคู่สัญญาหลัก โดยนางสาวปิยนุช บุญกอง โรงพยาบาลสกลนคร และรางวัลดีเด่น 1 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบการประเมินและการจัดการความปวด โดย นางสาวสายันต์ นาควิเชียร โรงพยาบาลขอนแก่น สำหรับการประชุมวิชาการปีนี้ มีผู้นำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งหมด 544 เรื่อง แยกเป็นแบบบรรยาย 355 เรื่อง โปสเตอร์และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ 189 เรื่อง ผ่านการคัดเลือกผลงานวิชาการดีเด่น รวม 70 เรื่อง แบ่งเป็นรางวัลเกียรติยศ 1 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายสำหรับการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย โดยนางนัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร กรมอนามัย ผลงานวิชาการดีเด่นนำเสนอด้วยวาจา 43 เรื่อง และผลงานที่นำเสนอโดยโปสเตอร์และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ 26 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกเข้ารับรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมในแต่ละประเภทต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook