รวมคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อย ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ

รวมคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อย ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ

รวมคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อย ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

พระลองทองใหญ่ เป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับเป็นพระโกศที่มีลำดับยศสูงที่สุด นอกจากนี้ พระโกศทองใหญ่ยังใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่บรรจุพระบรมศพและพระศพลงในหีบพระศพแทนการลงพระโกศ 

เจ้าพนักงานภูษามาลา คือข้าราชการในราชสํานัก มีหน้าที่ถวายทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ถวายพระกลด (กางร่ม) ถวายสุกํา ทําสุกํา เปลื้องเครื่องสุกําศพ พระบรมศพ พระศพ และเปลื้องเครื่องสุกําศพที่ได้รับพระราชทานโกศ เป็นต้น ในสมัยก่อนจะมีกรมภูษามาลา เจ้ากรมชื่อพระยาอุไทยธรรม ตำแหน่งภูษามาลามักเป็นตำแหน่งที่สืบตระกูลกันมา

เกยลา ลักษณะเป็นยกพื้นสี่เหลี่ยมย่อมุม  ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง  มีบันไดขึ้นลง 3 ด้าน คือ ด้านตะวันออกเป็นที่อัญเชิญพระโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นเกย ด้านเหนือและด้านใต้สำหรับเจ้าพนักงาน ส่วนด้านตะวันตกเป็นที่เทียบพระยานมาศ สามลำคาน เพื่ออัญเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ ขึ้นประดิษฐาน ก่อนจะเคลื่อนต่อไป

พระยานมาศสามลำคาน เป็นคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน อยู่ในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 1 ใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายก บริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระราชยานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นครั้งแรก

เกรินบันไดนาค คืออุปกรณ์ที่ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากราชรถและพระเมรุมาศแทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อยกสูงแบบสมัยโบราณ ที่ใช้กำลังคนยกขึ้นลงซึ่งมีความยากลำบาก ไม่สะดวก โดยทำเป็นรางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุน ลักษณะการใช้งานเหมือนลิฟต์ในปัจจุบัน มีแท่นที่วางพระโกศเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายขึ้นหรือลง ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา ซึ่งเป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้งสองข้างตกแต่งเป็นรูปพญานาค

ฉากบังเพลิง ฉากบังเพลิงเป็นเครื่องกั้นทางขึ้นลงพระเมรุมาศในชั้นจิตกาธาน มีลักษณะเป็นฉากพับได้ ติดไว้กับเสาทั้ง 4 ด้าน บริเวณบันไดขึ้นลงพระเมรุมาศ เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และใช้บังลม ส่วนมากมักเขียนจิตรกรรมประดับตกแต่งด้วยภาพเทวดา ฉากบังเพลิงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นภาพพระนารายณ์อวตารในปางต่าง ๆ 8 ปาง พร้อมสัตว์พาหนะ และกลุ่มเทวดา ด้านล่างเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดดิน น้ำ ลม และไฟ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook