ผ่าตัว "หนอนตัวแบนนิวกินี" เปิดความร้ายที่มีต่อคนและระบบนิเวศ

ผ่าตัว "หนอนตัวแบนนิวกินี" เปิดความร้ายที่มีต่อคนและระบบนิเวศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ต้องตกใจกันไปใหญ่โตว่าหนอนตัวแบนนิวกินี 1 ใน 100 สิ่งรุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก (100 of the World's Worst Invasive Alien Species) ที่เพิ่งพบในประเทศไทยจะทำอันตราย หรือทำให้เราเป็นโรคร้ายแรง (อ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติม)

เพราะแค่เราระมัดระวัง ล้างผัก และผลไม้ ให้สะอาดก่อนทาน ก็ปลอดภัยจากโรคพยาธิปอดหนู พยาธิหอยโข่ง ที่เจ้าหนอนตัวแบนนิวกินีอาจจะนำมาแพร่แล้ว แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงเห็นจะเป็นเรื่องของระบบนิเวศมากกว่า แต่จะน่าเป็นห่วงขนาดไหนลองมาค่อยๆ ทำความเข้าใจกับ 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาในประเทศไทยกัน

257242

หนอนตัวแบนนิวกินี มีบ้านเกิดอยู่บนเกาะนิวกินี ที่จังหวัดปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนิเซีย โดยหลังจากที่มันฝักออกมาเป็นตัว ได้ 3 สัปดาห์ ก็สามารถวางไข่ แพร่พันธุ์ต่อได้แล้ว

แต่ถึงแม้มันจะมี 2 เพศในตัวเดียว แต่ก็ไม่สามารถผสมพันธุ์แบบโดดเดียวได้ ต้องอาศัยเพื่อนหนอนอีกตัวมาช่วยก่อนจะแยกย้ายกันไปวางไข่ โดยหนอนตัวแบนนิวกินี 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ครั้งละ 5 - 10 ฟอง ใช้เวลาฟักใข่ 1 อาทิตย์ จากนั้นมันจะมีอายุ 1 - 2 ปีเลยทีเดียว

อ้าว! แล้วมันมาประเทศไทยได้ยังไง?

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ siamensis.org (กลุ่มสยามเอ็นสิส) เปิดเผยกับ Sanook news หลังเดินทางไปเก็บตัวอย่างหนอนตัวแบนนิวกินี ที่บ้านนายมงคล อันทะชัย ซึ่งโพสต์ภาพหนอนตัวแบนนิวกินี กำลังกินหอยทากที่บ้านใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 60 ว่า

ตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหนอนตัวแบนนิวกินีเข้ามาแพร่พันธุ์ในประเทศไทยได้อย่างไร แต่เชื่อว่ามาด้วยความบังเอิญ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหนอนชนิดนี้เคยระบาดในประเทศสิงคโปร์ จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะติดมากับ ดิน หิน ต้นไม้ ผัก ผลไม้ หรือแม้กระทั่งลังไม้ที่ขนส่งมาทั้งทางเรือ และเครื่องบิน

883848

เขากล่าวต่อว่า ตอนนี้ได้รับรายงานการแพร่กระจายของหนอนตัวแบนนิวกินี ใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, สงขลา, ชลบุรี และเชียงใหม่ ซึ่งการที่มันแพร่กระจายแบบนี้แสดงว่าน่าจะเข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว

ดร.นณณ์ บอกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด เป็นเรื่องของระบบนิเวศ เพราะนอกจากมันจะกินหอยทาก จนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารแล้ว พอมันกินหอยทากหมด มันก็เริ่มกินไส้เดือน และสัตว์หน้าดินตัวนิ่มอื่นๆ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพดินของเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูก

โดยตามธรรมชาตินั้นยังไม่พบว่ามีสัตว์ชนิดไหนกินเจ้าหนอนตัวแบนนิวกินีเลย วิธีที่กำจัดที่รวดเร็ว และถูกต้องที่สุดก็คือ ใส่ถุงมือก่อน แล้วราดด้วยน้ำร้อน หรือโรยเกลือ แต่ก็ไม่ควรโรยเกลือลงในดินมากเกินไปเพราะจะทำให้ดินเค็ม

ดังนั้นเมื่อใส่ถุงมือแล้วสามารถกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินีได้ตามนี้

  1. ราดน้ำร้อนลงไปที่ตัวหนอน
  2. จับหนอนตัวแบนนิวกินีรวมกันในภาชนะใดก็ได้ แล้วใส่เกลือลงไป (วิธีนี้เห็นผลไวที่สุด)
  3. จับหนอนตัวแบนนิวกินีรวมกันในภาชนะใดก็ได้ แล้วเทผงซํกฟอก หรือสารเคมีแรงๆ ลงไป
  4. ใช้ขี้เถ้าเป็นจำนวนมากโปะลงไปที่ตัวของหนอนตัวแบนนิวกินี

ส่วนกรณีที่ว่ากันว่า ถ้าเราหั่นหนอนตัวแบนนิวกินีออก มันจะไม่ตายนั้น ดร.นณณ์ บอกว่าถ้าเราหั่นมันเป็นชิ้นใหญ่ๆ มันก็สามารถสร้างอวัยวะมาใหม่ กลายเป็น 2 - 4 ตัวได้ เรียกว่าการงอกใหม่ หรือ Regenerate

ที่ทำได้เพราะสัตว์ประเภทนี้ยังมีสเต็มเซลล์อยู่ในร่างกาย และสเต็มเซลล์สามารถซ่อมแซมบาดแผลจนสร้างอวัยวะใหม่ได้ แต่ถ้าเราสับมันอย่างละเอียดก็เชื่อว่ามันคงไม่สามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน

513701

ดร. นณณ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ตอนนี้หนอนตัวแบนนิวกินีออกมาระบาด อาจเป็นเพราะปีนี้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้มีหอยทากอาหารโปรดของหนอนเยอะเป็นพิเศษ แน่นอนพอมีอาหารมากหนอนตัวแบนนิวกินีก็มีมากตามๆ กันไป

เขาย้ำอีกครั้งว่า เมื่อพบเห็นก็ให้กำจัดให้ถูกวิธี อย่าจับมันมากิน และที่สำคัญเวลาจะทานผัดสด ผลไม้ ก็ควรล้างทำความสะอาดให้ดี เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหนอนไปเดินผ่านสิ่งที่เราจะกินเข้าไปบ้างหรือเปล่า ถ้าเมือก หรือไข่ของมันไปติดอยู่ที่ผัก ผลไม้ที่เรากินเข้าไป ก็จะทำให้ป่วยได้นั่นเอง

ด้าน รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ Sanook! News ว่า การพบหนอนตัวแบนนิวกินีในปีนี้ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง และเป็นเรื่องสำคัญต่อระบบนิเวศ มากกว่าเรื่องการแพร่ระบาดของโรคที่จะติดต่อกับมนุษย์ จึงขอให้ประชาชนอย่างตื่นตกใจจนแห่ฆ่าสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกันไปหมด

321204

โดยขอให้สังเกตให้ดีก่อนว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินีจริงๆ ไม่ใช่หนอนริบบอน หนอนหัวขวาน หรือทากเปลือย เหล่าสัตว์เจ้าถิ่นที่อยู่ดูแลระบบนิเวศให้เรา โดยวิธีสังเกตหนอนตัวแบนนิวกินีคือจะมีลักษณ์ตัวแบนตามชื่อ ด้านบนของตัวจะเป็นสีดำ ครึ่งล่างจะออกสีขาวๆ ตรงกลางตัวจะมีเส้นลากยาวเป็นสีออกสีขาวๆ หรือ เหลือง ด้านหัวและหางจะมีลักษณะแหลมๆ

ถ้าแน่ใจว่าใช่แน่ๆ ก็จัดการได้เลย เพราะถ้าเห็นอะไรก็ฆ่าไปหมด ก็อาจจะทำให้สัตว์เจ้าถิ่นสูญพันธุ์ จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของเราอีกเช่นเดียวกัน

รศ.ดร. เจษฎา ยังบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่เราจะได้รับโรคจากเจ้าหนอนนี้โดยตรง เพราะคนเราไม่ได้กินหนอนนี้เป็นอาหาร ถึงแม้มันจะเป็นพาหะแพร่พยาธิ  Angiostrongylus cantonensis หรือพยาธิปอดหนู / พยาธิหอยโข่ง ซึ่งติดต่อสู่คนได้ แต่พยาธิดังกล่าวมักติดต่อสู่คนจากการกินหอยที่มีตัวอ่อนของพยาธิอยู่และไม่ได้ทำให้สุกเสียก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่พยาธิมีหนูเป็นพาหะหลัก ทำให้เมื่อคนกินตัวอ่อนพยาธิเข้าไป มันจึงไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรในร่างกายมนุษย์ได้ ตัวอ่อนพยาธิจะไปอาศัยอยู่ตามสมองและระบบประสาทในร่างกายของมนุษย์  ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่มันไปอยู่ ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก มีบางคนเท่านั้นที่เกิดอาการรุนแรง จนทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

749265หนอนตัวแบนนิวกินี กำลังกินลูกหอยทาก

ทั้งนี้ นอกจากหนอนตัวแบนนิวกินีแล้ว ในประเทศไทยยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่เป็น 1 ใน 100 สิ่งรุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก (100 of the World's Worst Invasive Alien Species) อย่างปลาซักเกอร์ ที่เคยเป็นที่นิยมเลี้ยงไว้ดูดเศษต่างๆ ที่ก้นของตู้ปลา ตอนนี้หลงไปแพร่พันธุ์อยู่ในแม่น้ำ และกินปลาท้องถิ่นจนได้รับความเดือดร้อน

หรือในมุมกลับกันต้นสาบเสือ (Siam weed) ในบ้านเราเป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยา แต่ถ้ามันไปอยู่ประเทศอื่นมันก็จะเป็น 1 ใน 100 สิ่งรุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดในโลกเหมือนกัน หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคือ หมูป่าอินเดีย หรือที่เราเรียกว่าหมูป่าเอเชีย Pig (Sus serofa) ที่พบในอินเดีย เนปาล พม่า ศรีลังกา และไทย ถ้ามันไปอยู่ที่อื่น จนสร้างผลกระทบกับระบบนิเวศ ก็ถูกจัดเป็น 1 ใน 100 สิ่งรุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดในโลกได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook