จน เครียด ติดคุก ทำความรู้จักแคมเปญ #ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

จน เครียด ติดคุก ทำความรู้จักแคมเปญ #ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

จน เครียด ติดคุก ทำความรู้จักแคมเปญ #ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อไรก็ตามที่มีคดีอาญาเกิดขึ้น ขั้นตอนที่เราจะนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ “การประกันตัว” ที่จะช่วยให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดี โดยไม่ต้องติดคุกก่อนที่ศาลจะพิพากษา ส่วนวิธีการที่เชื่อกันว่าจะรับประกันว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี ก็คือ “การวางเงินประกัน”

การวางเงินประกันเป็นวิธีการที่ใช้กันในหลายประเทศ โดยจะเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลพิจารณาแล้วว่าผู้ต้องหาไม่มีแนวโน้มจะกระทำความผิดซ้ำ ข่มขู่พยาน หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อย่างในประเทศฝรั่งเศสมี “มาตรการควบคุมทางตุลาการ” โดยการวางหลักประกันเป็นเงิน หรือการจำกัดบริเวณ โดยห้ามออกจากภูมิลำเนาหรือที่พัก หรือประเทศเยอรมนี ที่มีมาตรการควบคุมขณะปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งการรายงานตัวต่อศาล จำกัดบริเวณ ประกันโดยบุคคล วางหลักทรัพย์ประกัน หรือวางประกันเป็นเงินสด โดยศาลจะเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินตามความเหมาะสม หรือประเทศแคนาดาที่มีการวางประกัน ทั้งแบบมีผู้ค้ำประกันหรือวางเงินประกันหรือทรัพย์สินอื่น และมีรูปแบบการปล่อยตัวชั่วคราวลดหลั่นกันไปแบบขั้นบันได

iStockphoto

ส่วนในสหรัฐอเมริกา หลายรัฐยังใช้วิธีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงินหรือหลักทรัพย์เป็นประกัน โดยกำหนดวงเงินการปล่อยตัวชั่วคราวตามความรุนแรงของข้อกล่าวหา ทำให้คนยากจนที่ไม่มีเงินมาวางต้องถูกคุมขังในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม มีบางรัฐที่เปลี่ยนมาใช้นโยบายไม่ให้เรียกเงินหรือทรัพย์สินในการปล่อยตัวชั่วคราว แต่จัดตั้งสำนักงานปล่อยตัวชั่วคราวใน 94 เขตอำนาจศาลทั่วประเทศ และใช้วิธีการประเมินความเสี่ยง รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ต้องหาแทน

ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ต่างจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อคนรวยก่อคดี แต่สามารถประกันตัวได้อย่างสะดวกสบาย หรือแม้กระทั่งหนีคดีไปต่างประเทศ ในขณะที่คนที่ไม่มีทุนทรัพย์กลับต้องถูกจำคุกทั้งที่ศาลยังไม่พิพากษา เพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัวเพื่อสู้คดีนอกคุก จนถึงกับมีประโยคฮิตว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

อย่างไรก็ตาม มุกตลกร้ายดังกล่าวดูเหมือนจะถูกลบล้างแล้ว ด้วยแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ที่มุ่งล่ารายชื่อ 60,000 รายชื่อ ผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อนำไปเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ในวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลงชื่อร่วมแคมเปญกัน Sanook! อยากให้คุณมาทำความเข้าใจระบบการประกันตัวและหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีใครติดคุกเพราะจน กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นำของแคมเปญนี้

“หลักพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ ทุกคนย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล”

ระบบการประกันตัวในประเทศไทยมีที่มาอย่างไรและมีลักษณะอย่างไร
โดยหลักพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ ทุกคนย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติไว้เป็นหลักทุกฉบับว่าในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ดังนั้นใครที่ถูกตำรวจจับ ต้องถือว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ระบบนี้มีไว้เพื่อคุ้มครองเราจากการเป็นแพะ จากการจับผิดตัว หรือจากการกล่าวหาอย่างต้องการกลั่นแกล้งกัน แต่จะผิดจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ต้องให้ศาลพิพากษาก่อนแล้วค่อยติดคุก ฉะนั้นโดยหลักแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ควรติดคุกก่อนจะมีคำพิพากษา แต่เพื่อเป็นการประกันว่าเขาจะมาขึ้นศาลในคราวต่อไป ก็ต้องวางประกันไว้ นอกจากจะมีเหตุยกเว้น คือเป็นความผิดที่จับมาซึ่งหน้า หลักฐานมัดแน่นชัดเจน ถ้าปล่อยไปจะทำให้เกิดการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไปกระทำผิดซ้ำ อันนี้ศาลก็จะไม่ให้ประกันตัว

ระบบการประกันตัวของเรา ในทางปฏิบัติเราจะใช้เงินหรือหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน โดยตามประกาศของประธานศาลฎีกา พ.ศ. 2548 ถ้าคดีที่มีโทษอย่างสูงคือประหารชีวิต หลักประกันที่ใช้คิดเป็นเงิน 800,000 บาท ถ้าเป็นคดีที่มีโทษอย่างสูงคือจำคุกตลอดชีวิต หลักทรัพย์คือ 600,000 บาท คดีที่มีโทษต่ำกว่านั้นคิดปีละ 20,000 บาท เช่น ถ้าโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี ก็คิดเป็น 400,000 บาท ถ้าจำคุก 10 ปี ก็ 200,000 บาท

แต่ในประกาศของศาลฎีกา พ.ศ. 2548 ข้อ 4 เขียนไว้ว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันก็ได้ ถ้าจะมีหลักประกันเป็นเงิน ให้ศาลพิจารณาฐานะของจำเลยด้วย ถึงต้องมีหลักเกณฑ์เรื่องจำนวนเงิน ซึ่งถือเป็นขั้นสุดท้ายหรือเป็นข้อยกเว้น แต่ในทางปฏิบัติเรายังไม่ได้ทำตามประโยคแรกกันเลย

“คดีอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นคดีอาญา จะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ และที่สำคัญคือถ้าจะมีหลักประกัน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีตรงไหนเขียนไว้เลยว่าต้องใช้เงิน”

ทำไมถึงเลือกใช้เงินเป็นหลักประกันอันดับแรก ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นข้อยกเว้น
ต้องไปถามผู้พิพากษาแล้วครับ เพราะในรัฐธรรมนูญ ในประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีไม่ได้มีการเขียนเรื่องเงินไว้เลย ถ้าให้ผมอธิบาย มันง่ายที่สุดไง อย่างน้อยถ้าหนีไปรัฐยังได้เงินเอาไว้ แต่มันไม่ได้ผล เพราะป้องกันการหนีไม่ได้ คนที่มีเงินในการประกันตัวก็ทิ้งเงินได้เพื่อซื้ออิสรภาพให้ตัวเอง

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 บอกว่า ในคดีอาญาที่มีโทษอย่างสูง 5 ปีขึ้นไป ศาลจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันเลยก็ได้ ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือคดีอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นคดีอาญา จะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ และที่สำคัญคือถ้าจะมีหลักประกัน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีตรงไหนเขียนไว้เลยว่าต้องใช้เงิน การใช้เงินเป็นการทำกันเองโดยที่กฎหมายไม่รองรับ

 iStockphoto

แล้วการใช้เงินเป็นหลักประกันป้องกันการหนีได้จริงหรือไม่
อย่าว่าแต่ 800,000 เลย 10 ล้าน 30 ล้าน ก็หนีกันมาแล้ว เพราะถ้าคนมีเงินมาวางหลักทรัพย์ได้ และกลัวศาลพิพากษาให้ติดคุกก็หนีเลย สรุปคือการใช้เงินประกันไม่ได้ผลและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะคนมีเงินก็ซื้ออิสรภาพแล้วก็หนีได้ ส่วนคนจน ต่อให้ไม่ผิดก็ต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินประกัน กลายเป็นว่าศาลให้ใช้เงินประกัน ก็เท่ากับว่าไม่ให้ประกันตัวอยู่ดีสำหรับคนจน แล้วการทำคดีในศาลไม่ได้เร็วเลยนะกว่าศาลจะยกฟ้อง

อย่างคดีตำรวจไปจับแท็กซี่ที่มีผู้โดยสาร 2 คน แล้วค้นรถเจอยาไอซ์ตกอยู่บนพื้นรถ ตำรวจก็ตั้งข้อหาเป็นผู้ค้ายาไอซ์ทั้ง 3 คน และส่งฟ้องศาลก็เป็นจำเลย ปรากฏว่าผู้โดยสารมีเงิน ก็ประกันตัวออกไป ส่วนแท็กซี่ไม่มีเงิน ก็ติดคุก 1 ปีผ่านไปศาลยกฟ้อง เพราะว่าสองคนที่ประกันตัวไปรับสารภาพว่าเป็นยาของเขา แท็กซี่ติดคุกไป 1 ปี ใครจะคืนเวลาให้เขาได้ ลูกสาวที่ยังเรียนอยู่มัธยมต้องลาออกจากโรงเรียน เพราะว่าไม่มีคนส่งให้เรียน

มันคือความเหลื่อมล้ำ และไม่มีความเหลื่อมล้ำใดที่จะเลวร้ายไปกว่าเรื่องนี้อีกแล้ว ไม่ใช่ว่ามีรายได้น้อยกว่า แต่เป็นความเหลื่อมล้ำที่ต้องไปติดคุกเพราะมีรายได้น้อยกว่า อันนี้มันแย่ที่สุดแล้ว

“มีคนติดคุกตั้ง 300,000 คน 1 ใน 3 เป็นผู้ต้องหาที่เป็นจำเลยรอศาลพิพากษา และ 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้คือคน 66,000 คน ที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว”

นอกจากผลกระทบต่อตัวจำเลยหรือครอบครัว ระบบการประกันตัวโดยใช้เงินยังส่งผลต่อระบบเรือนจำด้วยหรือไม่
ทราบไหมครับว่าประเทศไทย คนที่ยังไม่มีการพิพากษา ซึ่งถือว่ายังบริสุทธิ์อยู่และประกันตัวไม่ได้ ถูกนำไปขังรวมกับนักโทษนะครับ คุกเราสร้างมาขังคนแค่แสนเดียว แต่มีคนติดคุกตั้ง 300,000 คน 1 ใน 3 เป็นผู้ต้องหาที่เป็นจำเลยรอศาลพิพากษา และ 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้คือคน 66,000 คน ที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว ดังนั้น พอเราเอาคนดีๆ ไปขังรวมกับนักโทษ จากคนที่เคยดีก็กลายเป็นร้าย และแน่นอน คุกมันล้นครับ และคุกที่มันล้นก็ทำหน้าที่ในการเยียวยาคนให้กลับสู่สังคมไม่ได้

ถามว่าคุกล้นแก้ปัญหาอย่างไร เรามีการพระราชทานอภัยโทษปีละ 30,000 คน เพราะต้องเคลียร์พื้นที่รับนักโทษใหม่ นักโทษจะเป็นนักโทษชั้นดีเร็วขึ้น ศาลลงโทษ 10 ปี ติดจริงแค่ 5 ปี กระบวนการในการกล่อมเกลาให้เป็นคนดียังไม่เรียบร้อยเลย เพราะถ้าไม่ระบายออกมาก็รับของใหม่ไม่ทัน แค่เราเปลี่ยนระบบเป็นระบบอื่น คุกก็จะโล่งขึ้นเยอะ ดังนั้นการทำหน้าที่ของคุกในการกล่อมเกลาคนให้กลับสู่สังคมก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น

iStockphoto

ถ้าให้เลิกใช้เงินประกันตัวจะให้ใช้อะไรแทน
แนวคิดของเรื่องนี้คือหลักประกันหรือการประกันตัวเพื่อให้มั่นใจว่าจำเลยจะกลับมาขึ้นศาลอีก ดังนั้นวิธีการที่ได้ผลกว่าการใช้เงินและไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คือการประเมินความเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงที่จะหนีมากก็ไม่ให้ประกัน ถ้าความเสี่ยงปานกลางก็ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น ใส่กำไลข้อเท้า จำกัดบริเวณ ถ้าความเสี่ยงน้อยก็ให้ประกันตัว ขั้นต่อไปคือจะประเมินความเสี่ยงอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็ดูประวัติที่ผ่านมา เคยมีประวัติการทำผิด เคยมีประวัติการหนีไหม อาชีพ ฐานะของครอบครัว สถานะในชุมชนเป็นตัวบ่งบอกทั้งสิ้นว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้ใช้มาแล้วในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายประเทศ ส่วนของไทยก็เริ่มใช้แล้ว 12 ศาล

แล้ววิธีประเมินความเสี่ยงได้ผลหรือไม่
ได้ผลสิครับ มีคนอย่างน้อย 600 คนที่ไม่ติดคุก ถ้าเป็นเมื่อก่อน 600 คนนี้จะติดคุกอยู่ แต่ว่าศาลมี 200 กว่าศาลนะครับ เพิ่งใช้แค่ 12 ศาล

ถ้าใช้ระบบประเมินความเสี่ยงแทนหลักประกันที่เป็นเงิน แต่ผู้ต้องหาหนีไปจะทำอย่างไร
ถ้าพูดแบบสุดโต่งนะ ที่ผ่านมา สิทธิในการหนีมีเฉพาะแต่คนรวย ถ้าถามว่าการประเมินความเสี่ยงแล้วหนีไปจะทำอย่างไร แล้วการใช้เงินป้องกันการหนีได้หรือเปล่า ป้องกันไม่ได้ ประเมินความเสี่ยงนี่แหละ ยิ่งทำได้ดีเท่าไร ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ยิ่งป้องกันการหนีได้เท่านั้น แต่เราต้องการฐานข้อมูลที่กว้างขวางและเหมาะกับบริบทของประเทศไทย เราต้องการ Big Data เบื้องต้นเลยต้องมีปัจจัยมาประเมินกัน ปัจจัยตัวไหนได้ผลมาก ได้ผลน้อย ก็ต้องทำสักระยะหนึ่ง ถึงจะมีประสิทธิภาพ ซึ่งมันไม่ได้แย่กว่าการใช้เงินประกันอย่างแน่นอน การใช้เงินประกันตัวมีเฉพาะคนรวยที่จะหนีได้ แต่ระบบประเมินความเสี่ยง ถ้าจะหนีก็ไม่เกี่ยวกับเงินแล้ว แต่ดีสุดก็ไม่ควรจะหนี ถ้าระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน 

หลังจากยื่นรายชื่อจาก Change.org ไปแล้วจะมีกระบวนการอะไรต่อไปอีก
เราก็ต้องไปคุยกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมว่ารับฟังแนวคิดเรามากแค่ไหน แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ลำพังมีแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยื่นข้อเสนอมันไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรอก แต่ถ้าเกิดสังคมเห็นด้วย สื่อมวลชนตื่นตัว เพราะเราตอบไม่ได้ว่าทำไมคนต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว มันไม่เป็นธรรมอยู่แล้วไง เปลี่ยนวิธีก็ได้ ตัวอย่างมีเยอะแยะในต่างประเทศ แต่เราไม่เปลี่ยนเอง และมันถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยน

“การให้ประกันหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาอยู่แล้ว ประเด็นคือเมื่อให้ประกันเมื่อไร ขอให้ไม่ใช้เงิน ให้ใช้กระบวนการอื่นอย่างการประเมินความเสี่ยง”

นอกจากอาจารย์จะเป็นผู้นำแคมเปญแล้ว ยังมีใครมาร่วมแคมเปญกับอาจารย์อีก
ความจริงก็มีผู้พิพากษา นักกฎหมาย เครือข่ายประชาชน นักศึกษา ที่เห็นในเพจ ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน นี่ก็เป็นเพจของนักศึกษาปี 4 คณะนิติศาสตร์

 นักศึกษาร่วมเดินขบวนรณรงค์เข้าชื่อในเว็บไซต์ Change.orgต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจนนักศึกษาร่วมเดินขบวนรณรงค์เข้าชื่อในเว็บไซต์ Change.org

ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนมาลงชื่อ เพราะการที่คนจะมาลงชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาต้องเห็นด้วยในระดับที่พร้อมจะให้ชื่อไปเลย และมันก็มีความอคติปนอยู่ในความคิดของประชาชนจำนวนไม่น้อยด้วย เช่น มีเสียงวิจารณ์ออกมาว่าถ้าแบบนี้ พวกที่ทำผิดก็ไม่ต้องติดคุกน่ะสิ ก็ต้องอธิบายไป ถ้าได้ฟังเหตุผลกันก็เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว การให้ประกันหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาอยู่แล้ว ประเด็นคือเมื่อให้ประกันเมื่อไร ขอให้ไม่ใช้เงิน ให้ใช้กระบวนการอื่นอย่างการประเมินความเสี่ยง ถ้ามีความเสี่ยงมาก ต่อให้จนก็ไม่ให้ประกัน ในทางกลับกัน ถ้ามีความเสี่ยงมาก มีเงินล้นฟ้าก็ไม่ให้ประกัน มันต้องไม่เกี่ยวกับเงิน

“เรารู้ว่าตอนประกันตัวต้องมีเงินไปประกัน แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่ามันเป็นธรรมหรือเปล่า”

อาจารย์มีความคาดหวังกับแคมเปญนี้อย่างไร
แคมเปญนี้มีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือทำให้คนเกิดความตื่นตัวและหวังว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ต่อไป เราหวังว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปเรื่องระบบยุติธรรมในแง่ของความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม อย่างที่สองคือ เราเชื่อว่ามีผู้พิพากษาอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นปัญหา แต่ยังนึกไม่ออกว่าระบบใหม่คืออะไร หรืออาจจะยังไม่กล้าใช้ เพราะกลัวว่าถ้าใช้ระบบใหม่แล้วผู้ต้องหาหนีไป ศาลจะต้องรับผิดชอบ สังคมจึงต้องสนับสนุนศาลครับ การลงชื่อที่ Change.org สาระคือตรงนี้ ตัวเลขคนลงชื่อตอนนี้ 30,000 แล้ว และเราก็จะไปยื่นรายชื่อในวันที่ 22 พฤศจิกายน แต่ยื่นแล้วก็ยังไม่จบนะ เราอยากให้ตัวเลขไปถึง 60,000 ชื่อ เป็นการสนับสนุนให้ศาลที่ยังลังเลอยู่เห็นว่าประชาชนเอาด้วยกับท่าน

 ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

เรารู้ว่าตอนประกันตัวต้องมีเงินไปประกัน แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่ามันเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าคนจนไม่มีเงินจะทำอย่างไร และถ้าคนไม่มีเงินต้องติดคุกจะทำอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่เรามาตั้งคำถามเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะตอบรับเรื่องนี้มากแค่ไหน ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว จะเปลี่ยนแปลงแค่บางส่วนหรือเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็อยู่ที่กระแสของสังคมว่าตื่นตัวกันมากแค่ไหน

รัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรค 3 บัญญัติไว้ชัดเจนนะครับว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเหตุแห่งฐานะ จะกระทำมิได้ คนรวยปฏิบัติอย่าง คนจนปฏิบัติอย่าง อย่างไม่เป็นธรรม ทำไม่ได้ การใช้เงินเป็นหลักประกันคือการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะคนไม่มีเงินจะประกันตัวไม่ได้ ความเห็นส่วนตัวของผมนั้น ผมคิดว่าหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เรื่องการใช้เงินเป็นหลักในการประกันตัวขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องความเสมอภาคแน่นอน คนที่มีเงินไม่ต้องติดคุก ส่วนคนไม่มีเงิน ติดคุก มันไม่ยุติธรรม ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook