ประวัติ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มุ่งมั่นจนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS รุ่น 5

ประวัติ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มุ่งมั่นจนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS รุ่น 5

ประวัติ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มุ่งมั่นจนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS รุ่น 5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวการเสียชีวิตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน สิริอายุรวม 68 ปี ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศที่ได้สร้างผลงานและสร้างชื่อเสียงไว้ในตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมีวาระ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 จนสิ้นสุดวาระเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 โดยทำงานที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ 

ย้อนเส้นทางของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จเป็นบุคคลระดับประเทศ ในวัยเด็ก ด.ช.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช การศึกษาระดับประถม เรียนที่โรงเรียนวัดบ้านตาล และในระดับมัธยม เรียนที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช 

และในระดับอุดมศึกษา สอบชิงทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ต่อมาได้รับการผลักดันจากอาจารย์ให้เรียนต่อปริญญาโท ทางด้านสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และในปี พ.ศ. 2517 เรียนจบระดับปริญญาเอก ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 

ต้องบอกว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คือบุคคลผู้มีความมุ่งมั่นทางด้านเรียนและมีความเพียรทางด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก จาก เว็บไซต์ นักเรียนแลกเปลี่ยน (afsthailand.org) ได้เปิดเผยคำสัมภาษณ์เรื่องราวของ ดร.สุรินทร์ ในวันวานไว้ผ่านหัวข้อ "เด็กเอเอฟเอสจากบ้านตาล บนเก้าอี้เลขาธิการอาเซียน" 

โดยบอกว่า สมัยเรียนมัธยม ดร.สุรินทร์ เคยได้รับทุนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน รุ่นที่ 5 ในโครงการ AFS (American Field Service) ไปศึกษาชั้นมัธยมปลายในอเมริกา หนึ่งปีกับประสบการณ์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กต่างจังหวัดเป็นอย่างมาก ซึ่งบางช่วงบางตอนของการให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ ดร.สุรินทร์ ได้กล่าวไว้โดยมีใจความระบุว่า  

"การได้เข้าร่วมโครงการเอเอฟเอสนั้นเหมือนการเตรียมตัวเพื่อเป็นพลเมืองของโลกในยุคโลกาภิวัตน์จริงๆ ผมก็ได้พื้นฐานจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสเป็นเวลา 1 ปี คือในช่วงปี 2510-2511 ที่มลรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ วิธีคิด วิธีวิเคราะห์ วิธีให้เหตุผล ที่สำคัญ คือความเชื่อมั่นในตัวเองและความกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต"

"จากช่วงเวลา 1 ปีที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตจากครอบครัวของเขา ผมได้เรียนรู้วิธีคิด ค่านิยม และขนบธรรมเนียมของสังคมอเมริกันและครอบครัวอเมริกัน ไปรับเอาสิ่งที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ รู้จักที่จะเรียนรู้การอยู่ในบรรยากาศของการแข่งขันซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ในโลกที่กำลังเล็กลงทุกทีและมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ความสำเร็จหลายๆ ด้านของผมทั้งในนามส่วนตัวและประเทศชาติก็ได้พื้นฐานมาจาก 1 ปีของการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของเอเอฟเอส"

อีกหนึ่งด้านของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่น่ายกย่องและน่าเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

>>>ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เสียชีวิตแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook