ฝนดาวตกเจมินิดส์ มาตามนัด สวยตระการตาบนดอยอินทนนท์

ฝนดาวตกเจมินิดส์ มาตามนัด สวยตระการตาบนดอยอินทนนท์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 ธันวาคม ถึง รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2560 นำประชาชนนอนนับฝนดาวตกยอดดอยอินทนนท์ ท้าลมหนาว 9 องศา ปีนี้มาให้ชมแบบเต็มตา นับได้กว่า 200 ดวงต่อชั่วโมง ส่วนอีก 3 จุดสุดคึกคัก ทั้งนครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, สงขลา มีประชาชนสนใจร่วมชมหลายพันคน

(15 ธ.ค) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2560 เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า เห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่าและเริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ปริมาณฝนดาวตกมากที่สุดตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืนเป็นต้นไป นับได้ประมาณ 200 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกเจมินิดส์จะมีจุดเด่นคือมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก สังเกตเห็นได้ง่าย แต่ละดวงปรากฏนานประมาณ 1-3 วินาที สามารถชี้ชวนคนข้างๆ ให้ชมดาวตกได้อย่างทันท่วงที

สำหรับบรรยากาศที่ยอดดอยอินทนนท์ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา สภาพท้องฟ้าดีมากและยังตรงกับช่วงข้างแรม ท้องฟ้าจึงมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ต่างมีความสุขที่ได้ชมดาวตกกันอย่างเต็มตา ตลอดช่วงที่ดาวตกปรากฏให้เห็นก็จะมีเสียงฮือฮา โห่ร้องพร้อมเสียงเรียกชี้ชวนกันดูเป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงปรากฏให้เห็นเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) ทำให้บรรยากาศการเฝ้ารอชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในครั้งนี้เต็มไปด้วยความคึกคักและสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สดร. กับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นำประชาชนและนักท่องเที่ยวกว่าร้อยคน ร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ท่ามกลางอากาศหนาว 9 องศาเซลเซียส ประชาชนที่ขึ้นไปร่วมชมฝนดาวตกต่างเตรียมอุปกรณ์กันหนาวกันแบบจัดเต็ม ทั้งเสื้อกันหนาว ถุงนอน หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ

สำหรับนอนรอชมฝนดาวตก ซึ่งนอกจากการนอนรอชมฝนดาวตกเจมินิดส์แล้ว สดร. ยังเตรียมกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ มากกว่าสิบตัว มาติดตั้งในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้สังเกตวัตถุท้องฟ้า อาทิ เนบิวลาวงแหวน เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน กาแล็กซีแอนโดรเมดา และกระจุกดาวต่างๆ พร้อมเจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการดูดาวเบื้องต้น ทำให้การนอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์ในคืนนี้ ประชาชนต่างตื่นตาตื่นใจไปกับดาวตก และดาวที่ระยิบระยับเต็มฟ้าของยอดดอยอินทนนท์ที่นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีที่สุดในประเทศไทย

สำหรับ ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่น ของแข็ง และน้ำแข็งจำนวนมาก ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaeton) ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า โดยจะปรากฏในช่วงระหว่างวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี สำหรับในปีนี้ปรากฏให้เห็นมากที่สุดวันที่ 14 ธันวาคม 2560

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook