องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการแก้มหาวิกฤตการณ์สยาม

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการแก้มหาวิกฤตการณ์สยาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย ศ.นพ. ประเวศ วะสี หมายเหตุ: ปาฐกถาพิเศษจากการประชุมวิชาการเรื่องทางออกจากวิกฤตสยามด้วยยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิซิเมนต์ไทย และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

บ้านเมืองของเรากำลังเผชิญวิกฤต เราต้องผนึกกำลังทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขวิกฤติชาติ ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ฝ่ายราชการ ผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานต่างๆ รวมเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ''เบญจภาคี หรือมากกว่าเพื่อแก้วิกฤตที่มีทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงวิกฤติทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโลก อันเกิดมาจากวิถีการพัฒนาแบบเดิม

ประเทศไทยมีทรัพยากรที่จะใช้สร้างสุขภาวะแก่ประชาชนได้หลายรอบ หลายเที่ยว แต่ที่ผ่านมาไม่สำเร็จเพราะมิจฉาทิฐิของการพัฒนา ซึ่งหากมองการออกแบบการพัฒนาเป็นการสร้างพระเจดีย์ จะเห็นว่าการพัฒนาไม่สามารถทำได้จากยอดเหมือนแบบเดิมที่เคยทำ แต่ต้องสร้างจากฐาน ซึ่งก็คือประชาธิปไตยท้องถิ่น (Local democracy) และฐานที่แข็งแรงก็จะทำให้เกิดความมั่นคงสามารถรองรับโครงสร้างได้ ชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนา

50 ปีที่ผ่านมา เราพัฒนาจากด้านบน และนำทรัพยากรต่างๆ จากด้านล่างมาเปลี่ยนเป็นเงินของคนส่วนน้อยบางกลุ่ม เช่นป่าไม้ 50 ปีที่ผ่านมาจำนวนป่าไม้ลดลงไปกว่าครึ่ง ทำให้เกิดความไม่สมดุลของ ดิน ฟ้า อากาศ และส่งผลในการทำลายเศรษฐกิจของคนจน เพราะป่าไม้ถูกทำลายเหลือแต่ดินแตกระแหง จากเดิมคนจนแม้ไม่มีเงินก็อาศัยอยู่กับป่าได้แต่วันนี้อยู่ไม่ได้ คนจนยิ่งจึงยิ่งยากจนมากขึ้น

ช่องว่างที่ใหญ่กว้างขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมิจฉาทิฐิจากการพัฒนานี้ ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง การแก้ไขจะต้องเริ่มจากทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง โดยมิติด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม สุขภาพ รวมทั้งการเมืองต้องเชื่อมโยงกันไม่หลุดลอย

ในขณะที่ด้านบนเป็นเรื่องของอำนาจ มายาคติ และความฉ้อฉล แต่ด้านล่างเป็นเรื่องชีวิตจริง สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม แม้จะอยู่ในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลกที่กระทบกระเทือนถ้วนหน้า ทำให้คนด้านบนต้องวิตกกังวล แต่ชุมชนท้องถิ่นยังสามารถอยู่ได้

สังคมจะต้องมีความดีงาม ซึ่งก็คือยอดพระเจเดีย์ และความดีงามที่สำคัญที่สุดคือ "ความเป็นธรรมของสังคม ในทุกๆ เรื่อง ความเป็นธรรมจะทำให้คนรักกัน รักประเทศชาติ หากขาดความเป็นธรรมจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความเป็นธรรมในสังคมเป็นเรื่องซับซ้อน ดังนั้นมหาวิทยาลัยทั้งหมดจะต้องทำวิจัยเรื่องความเป็นธรรมขึ้นมา ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีวันมีความสงบหากสังคมขาดความเป็นธรรม

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ปัจจัยสำคัญคือ ชุมชนท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง ระบบต่างๆ ต้องเชื่อมกับท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชนต้องเป็นเศรษฐกิจบูรณาการ ถ้าระบบเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมกับชุมชอกูลก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ ขณะนี้รัฐบาลสนใจเรื่องนี้จนมีการตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งแห่งชาติขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงหน้าต่างแห่งโอกาสที่ได้เปิดออกมา ซึ่งทุกฝ่ายต้องพยายามทำให้มีแรงเหวี่ยงหรือผลสะเทือนออกไปให้ไกล โดยเชื่อมโยงกันระหว่างการเมือง รัฐบาล ธุรกิจ เอ็นจีโอ

สำหรับการสร้างชุมชนเข้มแข็งนั้น อาจเริ่มด้วยการทำความเข้าใจวิสัยทัศน์เมืองไทยน่าอยู่ ซึ่งมีโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้ประเทศไทยน่าอยู่ที่สุดในโลก ให้ทุกท้องถิ่นเป็นท้องถิ่นน่าอยู่ที่สุดในโลก เรื่องนี้ทุกส่วนต้องร่วมกันสร้างจินตนาการ เพราะจินตนากรรมต้องมาก่อนความรู้ เบื้องต้นจึงขอเสนอปัจจัยพื้นฐาน 8 ประการ คือ

1.เป็นท้องถิ่นแห่งความเป็นธรรม 2.ท้องถิ่นแห่งความพอเพียง 3.ท้องถิ่นแห่งความไม่ทอดทิ้งกัน 4.ท้องถิ่นแห่งความปลอดภัยและสันติภาพ 5.ท้องถิ่นแห่งความเป็นประชาสังคม ต้องให้คนรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเรื่องต่างๆ ความเป็นประชาสังคมจะทำให้การเมืองดี สังคมดี เศรษฐกิจดี และศีลธรรมดี

6.เป็นท้องถิ่นแห่งความงาม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ศิลปะ 7.ท้องถิ่นแห่งการเรียนรู้ ผู้คนกระตือรือร้นที่จะขวนขวายหาความรู้ เพราะสังคมซับซ้อน อำนาจอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องอาศัยการเรียนรู้ของผู้คนเต็มสังคม โดยการเปิดพื้นที่ทางสังคม ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง เพื่อท้ายที่สุดจะปรับวัฒนธรรมอำนาจไปสู่วัฒนธรรมเรียนรู้ 8. ท้องถิ่นแห่งสุขภาวะ ไม่เฉพาะเรื่องสุขภาพแต่กินความไปถึงทุกๆ เรื่อง

สำหรับเป้าหมายของท้องถิ่นเพื่อให้การทำงานมีพลังนั้น เบื้องต้นขอเสนอ 10 ประการ ได้แก่ 1.สร้างจิตสำนึกใหม่ สำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเพื่อจะไม่ให้เป็นสังคมที่ดูถูกตัวเอง 2.สร้างสังคมเข้มแข็ง ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

3.สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ที่ผ่านมา จีดีพี เป็นเศรษฐกิจที่เอาเงินเป็นตัวตั้งแล้วสุดท้ายก็พินาศทั้งโลก เพราะตัวเลขเหล่านี้เป็นมายาคติ เศรษฐกิจที่แท้จริงคือการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สัมมาชีพไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ โดย "คน จะเป็นทั้งเป้าหมายและดัชนีวัดการพัฒนา การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เพราะเป็นเศรษฐกิจศีลธรรม

4.สร้างระบบสวัสดิการสังคม ต้องมีการสำรวจในทุกตำบลว่าประชาชนต้องการอะไรบ้าง และสร้างสวัสดิการนั้น 5.อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม 6. พัฒนาโครงสร้างทางกายภาพและพลังงานชุมชน ต้องมีการวิจัยพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น เมื่อเป็น clean energy ในอนาคตก็จะ clean economy 7.ความปลอดภัย ความยุติธรรม สันติภาพ 8. ระบบการสื่อสาร ต้องมีการพัฒนาการสื่อสารของชุมชนทุกช่องทาง โดยเฉพาะน่าจะมีหนังสือพิมพ์ชุมชนทุกชุมชน เพราะแต่เดิมชุมชนและประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ทุกคนต่างก็มีสารที่จะสื่อ 9. ระบบสุขภาพชุมชน 10. ระบบการศึกษาของท้องถิ่น

สำหรับหลักการของการศึกษาท้องถิ่นนั้นมีควาาก การศึกษารวมศูนย์ส่วนกลางมากว่า 100 ปีทำความเสียหายให้กับสังคมมากเพราะดำเนินไปในทางที่ผิด ท้องถิ่นต้องคิดระบบการศึกษา โดยท้องถิ่น เพื่อท้องถิ่น ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง โดยมีหลักการเบื้องต้น 4 ประการ คือ (1) เป็นการศึกษาสำหรับคนทั้งมวล(Education for all) (2) ทั้งมวลเพื่อการศึกษา (All for education) (3) ปฏิรูปการเรียนรู้ที่เอาชีวิตจริง ปฏิบัติจริงเป็นตัวตั้ง (4) เกิดผลดีกับท้องถิ่น (ปฏิเวธ)

เป้าหมายของท้องถิ่นเข้มแข็ง 10 ประการ ได้แก่ 1.ชมรมรักการอ่านทุกหมู่บ้าน 2.ศูนย์เด็กเล็กในทุกท้องถิ่น เด็กเล็กต้องได้เรียนฟรีทุกคน 3.ศูนย์การเรียนรู้ของตำบล ซึ่งต้องมีบริการอินเตอร์เน็ต ห้องสมุดตำบล พิพิธภัณฑ์ตำบล ศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา ศูนย์การเรียนรู้พิเศษที่ชุมชนสนใจ รวมไปถึงตลาดชุมชน 4.วัด 5. โรงเรียน

6.ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ 7.คนทั้งหมดในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ 8.การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร 9.อาชีวศึกษาและวิทยาลัยชุมชน อันที่จริงอาชีวศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสัมมาชีพสังคมจึงต้องให้เกียรติไม่ดูถูกสิ่งเหล่านี้ ในสหรัฐอเมริกามีวิทยาลัยชุมชนกว่า 3,000 แห่ง 10. มหาวิทยาลัยชีวิต ให้ท้องถิ่นมีอำนาจต่อรองกับมหาวิทยาลัยโดยเป็นผู้สนับสนุนทุนหลักให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เขาปรับตัว ปรับทิศทางมาสนใจท้องถิ่น รับใช้ท้องถิ่นมากขึ้น

เรื่องสำคัญที่จะเป็นกลไกรากฐานสำหรับสิ่งต่างๆ คือ ประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ มากมาย ไม่ว่า ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. อบจ. นายกเทศมนตรี ที่ได้รับเลือกตั้งมา รวมไปถึง สภาผู้นำชุมชนระดับหมู่บ้าน สภาชุมชน สภาผู้นำชุมชนระดับตำบล สภาองค์กรชุมชน เหล่านี้คือโครงสร้างประชาธิปไตยที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก

พลังขับเคลื่อนท้องถิ่นเข้มแข็ง อาจมีได้ดังต่อไปนี้ 1.คณะทำงานท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งได้แก่กลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องนี้และจะเป็นตัวการประสานทุกอย่าง 2.ภาคีเพื่อท้องถิ่น 3.เครือข่ายผู้นำท้องถิ่น 4. โรงเรียนผู้นำชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมผู้นำท้องถิ่นให้มีศักยภาพมากขึ้น 5.เชื่อมโยงกับนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook