ผลวิจัยคพ.ตรงกับสส.ชี้โซฮอล์มีสารก่อมะเร็ง ทส.เล็งเก็บตัวอย่างใหม่ เหตุปัจจุบันเผาไหม้ดีขึ้น

ผลวิจัยคพ.ตรงกับสส.ชี้โซฮอล์มีสารก่อมะเร็ง ทส.เล็งเก็บตัวอย่างใหม่ เหตุปัจจุบันเผาไหม้ดีขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดผลวิจัย คพ. ชี้ชัดแก๊สโซฮอล์มีสารก่อมะเร็ง สอดคล้องกับนักวิจัย สส. ปลัด ทส.ยอมรับ เคยหารือ ก.พลังงานแล้ว แต่คาดต้องรื้อผลศึกษาใหม่ เพราะเก็บตัวอย่างไม่กี่สถานี รวมทั้งปัจจุบันเทคนิคเผาไหม้สมบูรณ์มากขึ้น

หลังจากเกิดข้อถกเถียงกรณีนางเดซี่ หมอกน้อย นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอผลงานวิจัยว่าแก๊สโซฮอล์มีสารก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน และล่าสุดนางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ออกมาระบุว่าเป็นงานวิจัยส่วนตัวที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมนั้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ผู้สื่อข่าว มติชน เปิดเผยว่า มีโครงการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ ที่จัดทำโดย สำนักจัดการคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.pcd.go.th ของ คพ. ด้วย

การวิจัยดังกล่าว ระบุว่า การทดลองนี้ได้เก็บตัวอย่างอากาศด้วยวิธีมาตรฐานสากล โดยเฉพาะกลุ่มสารเบนซีน ทูโลอิน เอทธิล เบนซีน และไซลีน ด้วยอุปกรณ์ชนิด Thermal Desorption Tube และวิเคราะห์ด้วยเครื่อง GC โดยเก็บตัวอย่างอากาศต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงทุก 6 วัน เป็นเวลา 12 เดือนจากสถานีตรวจวัดอากาศ 5 สถานี ได้แก่ เคหะชุมชนดินแดง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โชคชัย 4 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม จ.ปทุมธานี นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในห้องปฏิบัติการเพื่อวัดสารมลพิษ 19 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ใหม่ 6 คัน รถยนต์ใช้งาน 5 คัน แท็กซี่ 2 คัน และรถมอเตอร์ไซค์ 6 คัน ส่วนน้ำมันมี 11 ชนิด ได้แก่ เบนซิน 95 จำนวน 2 ชนิด แก๊สโซฮอล์ 95 จำนวน 3 ชนิด ที่ใช้ทดสอบกับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ น้ำมันเบนซินออกเทน 91 จำนวน 2 ชนิด แก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 จำนวน 4 ชนิด

ผลการทดสอบและตรวจวัดมลพิษจากรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ เปรียบเทียบสารมลพิษจากไอเสียรถยนต์ระหว่างการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ กับการใช้น้ำมันเบนซินปกติ ในส่วนของรถยนต์ พบว่า การระบายก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 14.97 เมื่อใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ส่วนการระบายไนโตรเจน ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และก๊าซไฮโดรคาร์บอนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.20, 5.73 และ 3.93 ตามลำดับเมื่อใช้ก๊าซโซฮอล์ ขณะที่การระบายสาร 1,3 บิวทาดีน และเบนซิน ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 55.71 และ 12.86 ตามลำดับเมื่อใช้ก๊าซโซฮอล์

สำหรับ ผลการทดสอบการตรวจวัดสารมลพิษจากไอเสีย และไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ พบว่า ปริมาณการระบายสารมลพิษแต่ละประเภทจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเปลี่ยนจากน้ำมันเบนซีน เป็นก๊าซโซฮอลล์ โดยเมื่อรถยนต์เปลี่ยนจากน้ำมันเบนซีนเป็นก๊าซโซฮออล์จะทำให้การระบายมลพิษในบรรยากาศเปลี่ยนแปลงใน 2 ลักษณะ คือ 1.เป็นไอเสียที่ระบายออกจากท่อไอเสีย ซึ่งเป็นสารมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรง มีปริมาณการระบายก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ สาร1-3 บูตาดีน และสารเบนซินลดลง ขณะที่ สารไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไซลีน โทลูอีน อะเซทอลดีไฮด์ เอททิว และเบนซีนเพิ่มขึ้น 2.เป็นไอระเหยน้ำมัน ซึ่งเป็นสารมลพิษจากถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆที่สัมผัสกับน้ำมันโดยตรง โดยมีปริมาณการระบายสารไฮโดรคาร์บอนเพิ่มขึ้น หรือ การระเหยออกสู่บรรยากาศของสารไฮโดรคาร์บอนสูงขึ้น เมื่อใช้ก๊าซโซฮออล์

งานวิจัยยังระบุว่า ปี 2549 มีปริมาณการใช้ก๊าซโซฮอล์เพิ่มขึ้น 197.43 ล้านลิตร เมื่อเทียบกับปี 2548 โดยพบว่า การสะสมของสารเบนซีน โทลูอีน และไซลีน ในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากการวัดสารดังกล่าวที่ระบายออกมาพร้อมไอเสียรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่ใช้ก๊าซโซฮอลล์ พบว่ามีสาร 3 ชนิดเพิ่มขึ้น โดยสารไซลีน เพิ่มสูงกว่าสารเบนซีนถึง 177.07 เท่า แต่สารเบนซีนน้อยลง และเมื่อพิจารณาการระเหยที่เป็นสาเหตุการระบายก๊าซไฮโดรคาร์บอนออกสู่บรรยากาศจากการใช้ก๊าซโซฮอล์ พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.52 ในรถยนต์กลุ่มใหญ่ที่ใช้ก๊าซโซฮอล์

สำหรับผลจากการตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศในบรรยากาศ พื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า ในปี 2549 ปริมาณสารมลพิษโดยเฉพาะสารเบนซีน โทลูอีน ฟอร์มาดีไฮ ที่สะสมในบรรยากาศมีมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2548 และยังพบว่า ปริมาณสารมลพิษที่ตรวจวัดได้จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตั้งอยู่ริมถนนโชคชัย 4 สถานีดินแดง สถานี รพ.จุฬาฯ จะมีความเข้มข้นสูงกว่าสถานีที่ตั้งห่างถนน

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่าง ทส.กับกระทรวงพลังงาน ได้มีการหารือประเด็นมลพิษจากแก๊สโซฮอล์ โดยได้นำงานวิจัยของ คพ.เข้าหารือด้วย ทั้งนี้จะมีการพิจารณาทบทวนการวิจัย หาข้อมูลใหม่ และถ้าเป็นไปได้อาจจะต้องทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน ก่อนที่จะตัดสินว่าก๊าซโซฮอล์มีมลพิษหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากการวิจัยดังกล่าวอาจจจะมีการเก็บวัดมลพิษ เชิงพื้นที่ที่เก็บตัวอย่างเพียงไม่กี่สถานี และอาจจะไม่ใช่ตัวแทนของปัญหาทั้งหมด และเห็นว่ายังสามารถแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคได้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีการติดตั้งเพื่อควบคุมให้การเผาไหม้ให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้จะมีการหารือกันอีกครั้งในเร็วๆนี้ และในหลักการยังไม่จำเป็นต้องทบทวนนโยบายการใช้ก๊าซโซฮอล์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook