บทวิเคราะห์ : หน้าที่ของอาเซียนต่อวิกฤตโลกร้อน-วิกฤตน้ำ
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060

    บทวิเคราะห์ : หน้าที่ของอาเซียนต่อวิกฤตโลกร้อน-วิกฤตน้ำ

    2009-03-25T16:25:21+07:00
    แชร์เรื่องนี้
    แม้ว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่อาเซียนก็จะมีวาระสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งก็คือ การประชุมอาเซียน+3 และการประชุมอาเซียน+6 ซึ่งจะมีประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาเหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เข้าร่วมประชุม ณ เมืองพัทยา ในวันที่ 10-12 เมษายน 2552 ที่กำลังจะถึงนี้ ประเด็นหนึ่งที่ทางกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญในขณะนี้ก็คือประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไว้ว่าอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเยียวยาวิกฤตนี้ให้ได้ สถานการณ์ภาวะโลกร้อนและวิกฤตน้ำ ภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเรานี้ เป็นประเด็นที่นานาประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจกันมานานแล้ว โดยได้มีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อรวบรวมระดมความคิดจากส่วนต่าง ๆ เพื่อติดตาม แก้ไข และหาทางรับมือกับวิกฤตนี้โดยนักวิทยาศาสตร์เกือบ 2,000 คน นอกจากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน แล้ว ยังมีการประชุมระดับโลกทางด้านน้ำจืด หรือ World Water Forum ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งมีเนื้อหาการประชุมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศซึ่งมีผลต่อทรัพยากรน้ำโดยตรง ซึ่งในที่ประชุมมีความกังวลว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนในด้านทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ เนื่องจากประมาณกลางศตวรรษ หรือประมาณปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน จาก 6.5 พันล้านคน ซึ่งเกิดความลำบากในการจัดสรรน้ำได้อย่างพอเพียง โดยทั้งนี้ได้มีข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่เผยมาว่า อีก 20 ปีเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นในบริเวณประเทศจีนและเอเชียใต้ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็คือ จากการศึกษาล่าสุดพบว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นราว 50-100 เซนติเมตร ทำให้เมืองชายฝั่งทะเลจมน้ำ โดยในที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก นักวิทยาศาสตร์ประมาณ 2,000 คน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เร่งหากลไกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันนำไปสู่ภาวะโลกร้อน เนื่องจากมีความกังวลว่าจะทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และไม่สามารถแก้ไขให้สภาพอากาศของโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีความตื่นตัวและมีคามตระหนักเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนนี้มานานแล้ว นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานศูนย์เตือนภัยพิบติแห่งชาติ ได้เตือนว่าจะเกิดพายุฤดูร้อน ในบริเวณ อ่าวไทยตอนใน คือจังหวัดสมุทรปราการ-เพชรบุรี อ่าวไทยตอนบน คือจังหวัดชุมพร-นครศรีธรรมราช และอ่าวไทยตอนล่าง คือจังหวัดสงขลา-นราธิวาส ส่วนในกรุงเทพนั้น คาดการณ์ว่าภายใน 40 ปีจะจมอยู่ใต้ระดับน้ำ 1.5-2 เมตร นอกจากนี้ยังจะเกิดปัญหาที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ โดยทั้งนี้ทั้งทางภาครัฐและเอกชนไทยก็ได้มีการดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อน ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปลูกพืชพลังงานทดแทนกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงกิจกรรมรณรงค์ปิดไฟ Earth hour 1 ชั่วโมงเพื่อลดโลกร้อน ผลกระทบจากวิกฤตน้ำ ปัญหาภัยแล้งคือผลกระทบที่ชัดเจนจากวิกฤตน้ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนและมลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำสะอาด โดยในการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเกี่ยวกับน้ำนั้นมีความรุนแรงขึ้นในหลาย ๆ ด้านได้แก่ ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักขอโลกลดลงประมาณร้อยละ 50 โดยเฉพาะแม่น้ำสำคัญ 10 สายสำคัญของโลกซึ่งได้แก่ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำดานูบ แม่น้ำลาปาสตา แม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุ แม่น้ำไนล์ แม่น้ำเมอเรย์แอนด์ดาร์ลิง แม่น้ำโขง และแม่น้ำแยงชี กำลังเกิดวิกฤต รวมทั้ง พบว่าทะเลสาบของจีนประมาณ 500 แห่งได้หายไปอันเนื่องมาจากการจัดการชลประทานเพื่อการเพาะปลูกขนาดใหญ่ ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตน้ำระดับโลกนี้ อาจพิจารณาได้หลายประการเช่น 1) การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก 2) การสร้างความสะดวกสบายหรูหราของมนุษย์ 3) มลพิษทางน้ำอันมีผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 4) การขาดการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 5) การขาดการปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้น้ำของประชาชน ข้อเรียกร้องต่ออาเซียนในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ได้ตั้งความหวังว่าอาเซียนนั้นจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยการส่งจดหมายถึงผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้สนับสนุนข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็ง ซึ่งได้ข้อสรุปในการเจรจาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือต่าง ๆ ต่อไปนี้ 1) พันธะกฎหมาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศอุตสาหกรรม (ในฐานะกลุ่มประเทศ) อย่างน้อยที่สุดร้อยละ 40 ภายในปี 2563 2) กลไกด้านเงินทุนในการยุติการทำลายป่าไม้เชิงสุทธิ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้อง ในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี 2563 3) แผนปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายให้ลดลงได้อย่างน้อยร้อยละ 15-30 ภายในปี 2563 "แถลงการณ์ของประธานในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 อำเภอชะอำ วันที่ 28 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552 จากผลสรุปการประชุมสุดยอดอาเซียน ได้มีการให้ความสำคัญกับประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวไว้ในสองหัวข้อดังนี้ 11. เราตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความต้องการของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เพื่อให้การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนประสบผลสำเร็จ 13. เรารับทราบความสำคัญของความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อที่จะรับประกันการเพิ่มพูนความมั่นคงและความยั่งยืนของพลังงานโดยอาศัยการทำให้มีความหลากหลายของทรัพยากร การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากร การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ในการนี้ เรายินดีต่อการลงนามในความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นคุณูปการสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน และวิกฤตน้ำ ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น ทว่าเป็นปัญหาที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานด้วยน้ำมือมนุษย์เรานี่เอง ดังนั้นมนุษย์ทุกคนบนโลกจึงไม่อาจหนีความรับผิดชอบในฐานะผู้สร้าง ผู้ทำลาย และผู้แก้ไข ต่อวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ อาเซียนในฐานะกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ร่วมแก้ไขและบรรเทาวิกฤตทั้งสองประการ จึงถูกจับตามองจากองค์กรต่าง ๆ ว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำของโลก กนกวรรณ ขวัญคง : เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง : บรรณาธิการ