บทวิเคราะห์: มาตรฐานทางการศึกษา..วัดที่ครูหรือผู้เรียน??

บทวิเคราะห์: มาตรฐานทางการศึกษา..วัดที่ครูหรือผู้เรียน??

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การศึกษาของเด็กไทยที่ผ่านมา มีความพยายามในการยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพื่อให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการได้หาแนวทางในการยกระดับการศึกษาวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย ภายหลังที่พบว่าผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไทยอยู่ในระดับที่ตกต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในระดับโลกจนน่าตกใจ โดยผลสำรวจพบว่าเด็กไทยไม่แตกฉานในวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนทุกวิชา ทำให้ไม่สามารถตีโจทย์วิชาอื่นๆ ด้วยได้ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หากมองถึงการพัฒนาการศึกษาทั่วโลก นายโคอิชิโร มัตซืออุระ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ได้เผยถึงปัญหาทางการศึกษาว่า ในหลายประเทศการพัฒนาการศึกษาเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจากข้อมูลการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาของประเทศภาคีสมาชิก ประเทศไทยถือได้ว่าได้รับการสนับสนุนงบประมาณสูงที่สุด แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (จีดีพี) พบว่า ในปี 2548 ประเทศไทยมีการใช้จ่ายทางการศึกษาเพียงร้อยละ 4.3 ซึ่งต่ำกว่า ปี 2542 ที่มีการใช้จ่ายถึงร้อยละ 5.1 หรือก่อให้เกิดคำถามว่าประเทศไทยมีการทุ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างพอเพียง?? หรือทุ่มงบประมาณได้ถูกต้องตรงกับปัญหาหรือไม่?? แม้ประเทศไทยจะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนฟรี 15 ปี รวมถึงโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตรครู 5 ปี) การประเมินวิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูที่มีผลงานดีได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่เหตุใดปัญหาการศึกษาของเด็กไทยยังมีการประเมิณว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สำนักข่าวแห่งชาติจึงได้ทำการสอบถาม ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เล่าถึงปัญหาด้านการเรียนของเด็กไทยในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างถึงคณะวิทยาศาสตร์ที่พบว่าเด็กไทยในปัจจุบันมีผลการเรียนที่อ่อนลง รวมถึงให้ความสนใจต่อการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวถึงปัญหาทางการศึกษา โดยยกตัวอย่างถึงการเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยในปัจจุบันว่า การที่เด็กไทยสนใจเรียนวิทยาศาสตร์น้อยลง มีปัจจัยมาจาก ประการแรก จากตัวเด็กเอง ที่ให้ความสนใจในเรื่องของเกม และสื่อเพื่อความบันเทิงมากขึ้น ทำให้ความสนใจในการศึกษาหาความรู้ลดน้อยลง และอาจเนื่องมาจากคณะวิทยาศาสตร์เป็นคณะที่ไม่ชัดเจนทางวิชาชีพเหมือนคณะอื่น ทำให้เด็กทีความสนใจในการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์น้อยลง แต่ในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์สามารถตอบคำถามได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น รวมถึงวิทยาศาสตร์ยังช่วยคิดค้นทดลองซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายวิชาชีพ ฉะนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ครูผู้สอน ต้องทำงานให้มากขึ้นในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีความสนุก เพื่อดึงดูดความสนใจของเยาวชน ประการที่สอง ปัญหาการสอบแอดมิดชั่น ที่ต้องยอมรับว่ามีส่วนให้เด็กสนใจที่จะเรียนวิชาอย่างวิทยาศาสตร์น้อยลง รวมถึงทำให้ความรู้ของเด็กในเรื่องของวิทยาศาสตร์น้อยลงเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากระบบการสอบแอดมิดชั่นเป็นการเน้นคะแนนสอบในบางวิชาเป็นหลัก แต่ไม่ได้เน้นความรู้ในเชิงลึกเหมือนการสอบในสมัยเก่าที่เด็กจะต้องเรียนค่อนข้างเยอะเพื่อสอบเข้า ทำให้ความสำคัญกับคะแนนวิทยาศาสตร์น้อยลง ทำให้เด็กไม่สนใจศึกษาเพิ่มเติม ประการสุดท้าย ปัญหาจากครูผู้สอน ที่ต้องยอมรับว่าเรื่องค่าตอบแทนหรือเงินเดือนครูในปัจจุบันไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ครูได้ ที่สำคัญคือ การฝึกฝนเรียนรู้ของครูเพื่อให้เท่าทันศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงวิทยาศาสตร์ที่หมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ศ.ดร.สุพจน์ ยกตัวอย่างว่า บางครั้งเด็กมีความสนใจปัญหาทางวิทยาศาสตร์และเกิดคำถามจึงนำมาถามครูในชั้นเรียน ซึ่งบ่อยครั้งที่ครูไม่สามารถตอบคำถามได้ ฉะนั้นการให้ความรู้เพิ่มเติมกับครู เพื่อจะไปสอนให้ทันกับเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ น่าจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้การสอนมีความสนุกสนานมากขึ้น เด็กมีความสนใจมากขึ้น และส่งผลต่อระดับการเรียนที่ดีขึ้นได้ จากทั้งสามประการ ศ.ดร.สุพจน์กล่าวว่า ตัวแปรสำคัญที่สุดคือ ตัวครูผู้สอน ที่พบว่ายังคงขาดการพัฒนา โดยที่ผ่านมาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ได้เผยผลการประเมินคุณภาพภายนอก ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งพบว่ามีสถาบันการศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองผลคิดเป็นร้อยละ 19.59 โดยในเบื้องต้นพบว่าสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองมีปัญหาสำคัญมาจากคุณภาพครู เช่น ในระดับอาชีวศึกษาพบว่า คุณภาพของอาจารย์ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำโดยมีอาจารย์วุฒิปริญญาตรี ร้อยละ 74 ที่เหลือต่ำกว่าปริญญาตรี ทั้งที่ควรจะมีอาจารย์วุฒิปริญญาตรีและปริญญาโทอย่างละครึ่ง ขณะที่ในระดับมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกันที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคุณวุฒิคุณภาพของอาจารย์ ซึ่งตามเกณฑ์แล้วอาจารย์ที่สอนอยู่ในระดับอุดมศึกษาต้องจบการศึกษาระดับปริญญาเอกร้อยละ 30 ของอาจารย์ทั้งหมด แต่ตอนนี้อาจารย์ที่จบปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้นหากมองย้อนถึงปัญหาทางการศึกษาของเด็กไทย และการกระตุ้นเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือจึงอาจต้องมุ่งเน้นที่องค์รวม และการพัฒนาบุคคลากร เพราะการที่บุคคลากรด้านครูยังขาดการพัฒนาทางความรู้และการศึกษา ก็จะส่งผลให้ไม่เกิดการพัฒนาทางการเรียนการสอน และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในที่สุด และท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งผลให้บัณฑิตที่ผลิตออกไปนั้น ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในสาขาที่ตลาดแรงงานในประเทศต้องการ และขาดแคลนแรงงานในที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook