10 เทคโนโลยีสุดว้าวที่งานวิศวะเกษตร

10 เทคโนโลยีสุดว้าวที่งานวิศวะเกษตร

10 เทคโนโลยีสุดว้าวที่งานวิศวะเกษตร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานทั้งที มีหรือจะไม่โชว์เทคโนโลยีสุดล้ำ!! ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่นเพราะครบรอบ80ปีของคณะฯ งานนี้จึงเน้นนวัตกรรมเพื่อการเกษตรเพื่อจะเข้าช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรในหลายๆด้าน ในงาน "บนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 11 AGRINNOVATION ENGINEERING 2018” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เพื่อวันนี้และวันหน้า สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในงานระดมสิ่งประดิษฐ์กว่า 39 ผลงานมาให้ทุกท่านได้ชม และวันนี้เราคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นมาให้รู้จักเทคโนโลยีล้ำๆ เจ๋งๆ มาเป็นน้ำจิ้มกันก่อนไปดูงานจริงในวันที่ 26-28 มกราคม 2561 ของงานเกษตรแห่งชาติ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.

  1. เครื่องเตาอบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียวโดยไม่ง้อแสงอาทิตย์

     สภาพอากาศประเทศไทยเอาแน่เอานอนไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นความร้อน หรือลมจากธรรมชาติ และถ้าหากมีฝนที่ไม่ค่อยตกตามฤดูกาลเท่าไหร่ ก็ทำให้การตากปลาหรือเนื้อสัตว์แดดเดียวมีคุณภาพและปริมาณการผลิตลดลง จึงได้มีการสร้างเครื่องอบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียวโดยอาศัยอุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า โดยให้ความร้อนและลดความร้อนได้อย่างรวดเร็วด้วยขนาดเตามีขนาดเล็กกว่าเตาประเภทอื่นๆ เคลื่อนย้ายก็สะดวก คราวนี้จะตากปลา ตากเนื้อ ตอนฝนตกแดดออกก็ทำได้ตลอด แถมคุณภาพคงที่อีกด้วย

  1. ฝูงบินอากาศยานไร้คน สำหรับภารกิจฝนหลวง และการบินเกษตร


     เทคโนโลยีการบินและอวกาศเข้ามามีส่วนช่วยในอุตสาหกรรมการเกษตรด้านการเก็บข้อมูลของพื้นที่เกษตร ปกติจะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในวงกว้างซึ่งมีข้อจำกัดในด้านความละเอียดของภาพและขนาดของข้อมูล จึงมีผู้พัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ผ่านความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน เพื่อช่วยอุตสาหกรรมการเกษตร ในด้านพยากรณ์อากาศและการทำฝนหลวง สามารถสำรวจพื้นที่การเพาะปลูก มีความละเอียดของภาพถ่ายสูงกว่าภาพถ่ายดาวเทียม สามารถติดตามพื้นที่เพาะปลูกได้ละเอียดมากกว่าที่เคย และสามารถระบุความต้องการปุ๋ยของพืชในแต่ละส่วน พร้อมตำแหน่งพิกัดอย่างแม่นยำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรได้มากมายทีเดียว

  1. เครื่องตรวจสอบและคัดแยกไข่ที่มีโอกาสฟักอัตโนมัติ


     เพราะอุตสาหกรรมไก่เติบโตขึ้นทุกปี การฟักไข่ก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ไข่ทุกฟองที่สามารถฟักออกเป็นตัวได้หรือรับประทานได้ เพราะไข่บางฟองมีเชื้อตาย มีรอยร้าว และอื่นๆ หากเราปล่อยให้ไข่เหล่านี้เข้าไปรวมกัน ไข่ที่เสียจะเน่าและทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ส่งผลให้ไข่ใบอื่นๆหรือลูกเจี๊ยบที่ออกมาเกิดความเสียหาย จึงเกิดแนวคิดออกแบบและสร้างเครื่องตรวจสอบและคัดแยกไข่ที่มีโอกาสฟักอัตโนมัติขึ้นมา โดยใช้การสแกนประมวลผลภาพจากกล้องในการระบุไข่เสียและใช้ระบบแขนกลในการคัดแยกไข่ดี-ไม่ดีออกจากกัน

  1. หุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็กเพื่อการศึกษา

      ในอนาคตหุ่นยนต์กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนสนใจศึกษาหาความรู้ในด้านนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศ หุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็กจึงถูกออกแบบโดยนำกีฬาอันดับหนึ่งของโลกอย่างฟุตบอลและเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาผสมกัน ตัวระบบจะถูกออกมาให้ง่ายต่อการใช้งานและการเข้าใจ เหมาะที่จะนำไปสอนเด็กๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่สนใจด้านหุ่นยนต์แต่ไม่มีความรู้พื้นฐานได้อีกด้วย

  1. เครื่องกรีดมะขามฝักเพื่อการแปรรูป และเครื่องแยกเมล็ดจากเนื้อมะขาม

 

     หมดปัญหาเรื่องแรงงานคนในการการแปรรูปมะขามเพราะมีการพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการแปรรูปมะขามทดแทนการใช้แรงงานคน ตั้งแต่การคัดแยก การแกะเปลือก ล่าสุดได้มีการพัฒนาสร้างเครื่องแยกเมล็ดออกจากเนื้อมะขาม โดยใช้กระบวนการกรีดฝักมะขามที่แกะเปลือกในลักษณะการใช้ลูกกลิ้งโลหะที่มีเขี้ยวจำนวน 3 ลูกกลิ้งในการแยกเมล็ดออกจากเนื้อมะขาม นับว่า ล้ำมาก! สำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปมะขาม

  1. เครื่องฟอกย้อมเส้นไหม

     ในการผลิตผ้าไหมมีขั้นตอนที่พิถีพิถันใช้เวลานาน ไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า เพื่อลดระยะเวลาในการย้อมเส้นไหมและช่วยอำนวยความสะดวก รวมทั้งลดจำนวนแรงงานหรือแรงงานเท่าเดิมแต่ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เครื่องย้อมไหมต้นแบบจึงเป็นเครื่องที่ช่วยผ่อนแรงด้วยวิธีดั้งเดิมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้มอเตอร์ในการยก-จุ่มไจไหม ด้วยระบบการทำงานต่างๆทำให้การย้อมสีติดได้ทั่วถึงและสวยงาม

  1. การพัฒนาเครื่องปลูกมันสำปะหลังแบบต่อพ่วงกับแทรกเตอร์ต้นกำลัง


     ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลกที่เป็นผู้นำในการผลิตมันสำปะหลังเพื่อการส่งออก รวมถึงการแปรรูปต่าง ๆ จึงได้เน้นเครื่องปลูกมันสำปะหลังที่สามารถทดแทนการใช้แรงงานคน และมีขั้นตอนที่ง่ายต่อการทำงาน เมื่อนำรถแทรกเตอร์ต้นกำลังต่อพ่วงเข้าไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เครื่องก็จะทำการยกร่องรวมทั้งใส่ปุ๋ยไปด้วย จากนั้นจะใส่ท่อนพันธุ์ลงในชุดตัดปักวิ่งหมุนไปกับพื้นดินทำให้ได้ความยาวของท่อนพันธุ์และระยะปักที่เหมาะสม

  1. หุ่นยนต์น้องต้นหอมและผักชี


     หุ่นยนต์น้องต้นหอมและผักชีเป็นหุ่นยนต์ฝาแฝดที่มีทฤษฎีการควบคุมให้ไม่ล้มลงสู่พื้นดิน ด้วยรูปร่างและลักษณะที่ดึงดูดความสนใจทำให้หุ่นยนต์น้องต้นหอมและผักชีเหมาะสำหรับการเป็นหุ่นยนต์ต้อนรับตามสถานที่สำคัญต่างๆ สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทุกทางในพื้นที่ที่เป็นระนาบเดียวกัน และที่พิเศษกว่านั้นคือสามารถเคลื่อนที่ไปบนพื้นที่ความเอียงหรือความลาดชันโดยยังคงสามารถรักษาสภาพการทรงตัวให้ตัวตั้งตรงตลอดเวลา ด้วยจุดเด่นข้อนี้ทำให้หุ่นยนต์สามารถยกของหรือลำเลียงวัตถุที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายบนพื้นที่ลาดชันได้ เช่น แก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ภายใน ถาดอาหาร รวมไปการเคลื่อนย้ายเตียงผู้ป่วยอีกด้วย

  1. กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องหย่อนกล้าและการขยายผลการจัดตั้งศูนย์เพาะปลูกในระดับชุมชน


     เป็นการบริการเพาะกล้าด้วยเครื่องเพาะอัตโนมัติ ดูแลต้นกล้าในแปลงเพาะหย่อนกล้าลงแปลงนาด้วยรถหย่อนกล้า โดยมีจุดเด่นช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวทุกชนิดได้ 1,000-1,500 บาทต่อไร่ เพิ่มผลผลิตข้าวทุกชนิดได้ 15-40% สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่น ลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศอีกด้วย เจ๋งสุดๆไปเลย

  1. เครื่องกรองน้ำผลิตไฟฟ้าแบบพกพา


     ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดในพื้นที่ทุรกันดารเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเครื่องกรองน้ำผลิตไฟฟ้าแบบพกพาให้มีขนาดเล็กน้ำหนักเบาและยังมีระบบฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตที่ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งผลิตจากการหมุนปั๊มเพื่อสูบน้ำโดยสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โทรศัพท์มือถือได้ในขณะเดียวกันด้วยช่วยให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถที่จะผลิตน้ำเพื่อการบริโภคได้เองหากมีแหล่งน้ำจืดผิวดินในพื้นที่นั้นๆแถมยังมีแหล่งพลังงานสำรองสำหรับโทรศัพท์มือถือในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย

    เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่นำมาใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ ใครที่อยากจะเห็นนวัตกรรมสุดว้าวของจริง สามารถไปชมได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานเกษตรแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคมนี้ และยังมีกิจกรรมนวัตกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายสามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/vidsavaku  หรือ Facebook เปิดบ้านวิศวะ มก. หรือ โทร 0 2797 0952 แล้วพบกันนะครับ



[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook