ซีอีโอ 1 ดอลลาร์

ซีอีโอ 1 ดอลลาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : เมื่อวานเขียนเรื่องซีอีโอแบบพอเพียงไปแล้วชักติดใจ เลยขอเขียนเรื่องผู้บริหารที่ยอมควักเนื้อตัวเองช่วยเหลือบริษัทในยามยากต่ออีกสักวัน โดยคราวนี้เป็นเรื่องของซีอีโอที่ขอรับเงินเดือนแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 35 บาท) เท่านั้น คนที่มีชื่อเสียงเรียงนามในเรื่องนี้มานาน หนีไม่พ้น สตีฟ จอบส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท แอปเปิ้ล ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ดีไซน์ล้ำสมัย และอุปกรณ์ไอทีสุดฮิพอย่างไอโฟน ไอพอด ที่ขอรับเงินเดือนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์ มานมนานจนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของจอบส์ไปแล้ว อีกคนก็คือ เจอร์รี หยาง ผู้ร่วมก่อตั้ง ยาฮู เว็บท่าชื่อดังสนั่นโลก ส่วน ซีอีโอ 1 ดอลลาร์อีกกลุ่ม คือ 3 ทหารเสือของกูเกิล เว็บไซต์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเสิร์ช เอนจิ้นอันดับ 1 ของโลก อันได้แก่ อีริค ชมิดท์ ซีอีโอ ลาร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้ง โดยทั้งสามคนนี้ขอรับเงินเดือนแค่ 1 ดอลลาร์มาตั้งแต่กูเกิลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2547 โน่นแล้ว การขอรับเงินเดือนแค่หยิบมือเดียวของ 3 ทหารเสือแห่งกูเกิล อาจดูเหมือนไม่ใช่การเสียสละที่ยิ่งใหญ่อะไรนัก เพราะพวกเขาเป็นมหาเศรษฐีหลายพันล้านดอลลาร์กันอยู่แล้ว เมื่อหุ้นกูเกิลทะยานขึ้นพรวดพราดถึง 8 เท่า ช่วงที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 มาจนถึงสิ้นปี 2550 แต่พอมาปีที่แล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐ และเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนัก ทำให้มูลค่าหุ้นที่พวกเขาถือครองอยู่มีมูลค่าลดลงไป 2.58 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกือบๆ 56% เลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้น 3 ทหารเสือแห่งกูเกิลก็ยังคงยืนกรานว่าจะขอรับเงินเดือนเท่าเดิม แถมยังไม่ขอรับโบนัส หรือหุ้นที่แจกจ่ายให้พนักงานบริษัทอีก 2 หมื่นคนด้วย โดยเพจ กับบริน ซึ่งร่วมกันก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2541 นั้น เป็นผู้ถือครองหุ้นรายใหญ่สุดของกูเกิล โดยถือครองกันอยู่คนละประมาณ 29 ล้านหุ้น ข้างฝ่ายชมิดท์นั้นก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในฐานะ ซีอีโอ เช่นกัน ส่วนจอบส์นั้นถือครองหุ้นแอปเปิ้ลอยู่ 5.5 ล้านหุ้น การที่หุ้นมีมูลค่าลดลงกว่าครึ่งนับตั้งแต่สิ้นปี 2550 ทำให้มูลค่าการถือครองของจอบส์พลอยลดลงจากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ มาเหลือราวๆ 500 ล้านดอลลาร์ไปด้วย บางคนอาจแย้งว่า ก็ผู้บริหารพวกนี้มีรายได้มหาศาลจากการถือหุ้นบริษัทอยู่แล้วก็ทำได้น่ะสิ เพราะเงินเดือน ซีอีโอ ที่พวกเรามองว่าสูง สำหรับพวกเขาแล้วเป็นแค่เศษเงินเท่านั้น แต่ดิฉันว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ เป็นเรื่องที่มีผลทางด้านจิตใจมากกว่าตัวเงิน แล้วเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นี่แหละที่ทำให้ผู้บริหารเหล่านั้นได้ใจพนักงานดีนักแล ทัศนีย์ สาลีโภชน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ศาลยกฟ้องสนธิคดีปฏิญญาฟินแลนด์ ซีอีโอแบบพอเพียง บุกประท้วงหน้าบ้านผู้บริหารเอไอจี มะกันชุมนุมค้านบ.นำเงินรัฐไปจ่ายโบนัส โอบามาแอ่นอกรับผิดเอไอจีจ่ายโบนัส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook