เที่ยวนี้ขอเล่า-มี.ค.กลิ่นโรมันใน พัลไมรา

เที่ยวนี้ขอเล่า-มี.ค.กลิ่นโรมันใน พัลไมรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : อุตส่าห์ฝ่าดงระเบิดไปหาซีเรียทั้งที ขืนปล่อยให้ตัวเองขลุกอยู่แค่ดามัสกัส แล้วจะถ่อสังขารไปให้เสียวสันหลังเล่นทำไมกันคะ เป็นตายร้ายดี ต้องเห็นหน้าไข่มุกแห่งโอเอซิสอย่างเมือง พัลไมรา (Palmyra) ให้ได้ ไม่งั้นหัวเด็ดตีนขาดจะขอดื้อด้านไม่ยอมกลับบางกอกให้ดู ข้อหาเป็นเมืองที่ไม่เคยขาดแคลนนักท่องเที่ยว รถประจำทางจากดามัสกัสไปหา พัลไมรา เลยมีวิ่งรับส่งกันทุกชั่วโมง ไม่น้อยหน้าเมืองเจ้าเสน่ห์ของซีเรียอย่างอเลปโป นครโบราณแห่งนี้ในอดีตคือชุมทางการค้าจุดสำคัญบนเส้นทางสายไหม ถึงขนาดถูกยกให้เป็นจุดนัดพบของตะวันออกกับตะวันตก เพราะราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ขบวนคาราวานของพ่อค้าวาณิชจากยุโรปและเอเชียมักใช้ที่นี่เป็นจุดแวะพักและแลกเปลี่ยนสินค้า เพราะที่นี่เป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์บนเส้นทางการค้าโบราณ แต่ก่อนนี้กองคาราวานพ่อค้ารู้จักเมืองเล็กๆ แห่งนี้ในชื่อของเมืองทัดมอร์ ต่อมาเมืองค่อยๆ ขยายใหญ่และร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ทำให้เมืองนี้เป็นที่จดจำอย่างขึ้นใจแก่บรรดาพ่อค้าคงเป็นเรื่องการเก็บภาษีค่าผ่านทางในราคาที่ไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่ นั่นทำให้เมืองนี้เป็นที่เลื่องลือกันถึงภาษีที่แพงบาดจิต

เบื้องหน้าของฉันคือโบราณสถานที่โอ่อ่ากว้างขวาง ค่าผ่านทางเข้าไปสู่วิหารแห่งเทพเบล (Temple of Bel) ไม่ได้แพงลิบลิ่วเหมือนกับค่าภาษีผ่านทางที่เก็บจากคาราวานพ่อค้า นั่นจึงทำให้ฉันย่างเท้าเข้าสู่ด้านในด้วยใบหน้าที่ยังยิ้มแย้มได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันมีโอกาสเห็นซากโบราณสถานที่เป็นมรดกตกทอดของพวก โรมัน พักหลังออกจะถี่ด้วยซ้ำไป แต่ความอลังการของซากปรักหักพังที่ระเกะระกะอยู่ตรงหน้า ยังไม่วายปลุกให้ขนแขนดีดตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียง สมแล้วที่แม้แต่ อกาธา คริสตี นักเขียนชื่อดังเมื่อครั้งแรกเห็นที่นี่ ยังอดตื่นตะลึงกับซากอารยธรรมแห่งนี้ไ้ วิหารแห่งเทพเบลเพิ่งมาได้รับการรื้อปรับขยับบูรณะ หลังจากนักโบราณคดีมาขุดค้นเมืองนี้เมื่อปี 1924 ผ่านมาแล้ว 80 กว่าปี ซากปรักหักพังยังคงไม่เข้ารูปเข้ารอยเท่าไหร่ ความยิ่งใหญ่ของนครโบราณไม่ได้มีแค่วิหารแห่งเทพเบล แต่ในอาณาบริเวณของโอเอซิสแห่งเมโสโปเตเมียยังมีซากหินเก่าแก่กองกระจัดกระจายไปทั่ว ฉายภาพให้เห็นริ้วรอยของอดีตว่าพวก โรมัน ยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่เพียงข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายึดครองดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมเมโสโปเตเมียแห่งนี้ แต่พวก โรมัน ได้หอบเอาอารยธรรมแบบ โรมัน มาแผ่คลุมและแทนที่วิถีชีวิตแบบเดิมๆ

แค่ลอดซุ้มประตูโค้งอันเป็นสัญลักษณ์ของพวก โรมัน ที่ปรากฏอยู่หลายมุมโลก ก็เหมือนกับแม่มณีในหนังเรื่องทวิภพที่ทะลุกระจกหลุดเข้าไปอีกภพหนึ่ง เสาหินนับร้อยต้นตั้งแถวรับแขกตลอดแนวถนน โรงอาบน้ำ โรงละครกลางแจ้งมีเสาหินรายรอบจัตุรัสครึ่งวงกลม ตลาด บ้านเรือน ถนนหนทาง และสุสาน ทุกอย่างคือมรดกของพวก โรมัน ที่ยังคงอยู่ โดยบังเอิญที่ใจแวบไปนึกถึงเมืองจีราช (Jerash) แห่งจอร์แดนที่อยู่ไม่ไกลกัน ชะตากรรมของ พัลไมรา ไม่ค่อยต่างจากจีราชสักเท่าไหร่ ที่นั่นคือเมือง โรมัน ที่เคยเจริญรุ่งเรือง มีร้านค้า อ่างน้ำพุ โรงละคร และวิหารเทพต่างๆ เคยเกิดศึกเพื่อแย่งชิงดินแดนกัน ไหนจะเจอภัยธรรมชาติ พายุทะเลทราย และที่ละม้ายคล้ายกันเหมือนโคลนนิ่งกันมาคือ ทั้ง พัลไมรา และจีราชเคยถูกแผ่นดินไหวกลืนเมืองให้สูญหายไปจากโลก ถูกลืมและทิ้งร้างอยู่ใต้ผืนทรายนับพันปี จนมาขุดเจอในราวศตวรรษที่ 17 ใกล้ๆ กัน แม่มณีลั่นชัตเตอร์ไม่เป็นสุขเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะยืนส่องอยู่ตรงมุมไหน ก็ถูกพวกเบดูอินตื๊อให้ขึ้นอูฐ มาด๊าม...คาเมล...มาด๊าม...คาเมล!!!!... ทำไมไม่ขึ้นอูฐล่ะมาดาม สบายจะตาย ถูกก็ถูก??? แรกๆ แม่มณียังแจกยิ้มสยามอยู่ แต่โดนตื๊อมากเข้าแม่มณีเลยออกอาการเหวี่ยงเลน้อย สมัยก่อนพวกพ่อค้าในกองคาราวาน คงใช้อูฐเป็นพาหนะสัญจรในนครโบราณแห่งนี้ บางทีเยาวชนที่คุมวินอูฐพวกนี้ อาจจะเป็นลูกหลานของพวกเขาก็ได้

ยิ่งเดินลึกเข้าไป ยิ่งอัศจรรย์ใจกับเมืองโบราณ ตรงส่วนของอกอรา (Agora) ที่ว่ากันว่าแต่ก่อนเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า วันนี้ ไม่มีกองคาราวานพ่อค้า หากแต่กลิ่นอายของการเป็นศูนย์กลางการค้ายังฝังลึกอยู่ตามเสาทุกต้น แม่มณีหนีทีมไล่ลาของวินอูฐไปที่หุบเขาแห่งสุสาน (Valley of Tomb) แต่เยาวชนเบดูอินทีมชาติยังควบอูฐตามไปตื๊อแม่มณีถึงที่นั่น แถมอย่าไปลากอูฐเข้ามาอยู่ในเฟรมกล้องเป็นอันขาด ไม่งั้นจะเป็นเหมือนแม่มณี โดนไถเงินซีเรียปอนด์จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้าสุสาน

ทั้งที่หอคอยสุสาน (Funerary Towers) และสุสานสามพี่น้อง (Hypogeum of Three Brothers) ทำให้รู้ว่าสมัยก่อนเขาสร้างสุสานทั้งแบบหอคอยและเก็บไว้ใต้ดิน บางหอคอยหลายชั้นเก็บได้หลายร้อยศพ โพล้เพล้ในนครโบราณ แม่มณียังนั่งเอ้อระเหยส่งคาราวานอูฐกลับบ้าน นั่งสูดดมกลิ่นอายของ โรมัน ที่ยังอ้อยอิ่งอยู่ทุกซอกซอยของเมืองโบราณแห่ง พัลไมรา

เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปซีเรีย สายการบินกัลฟ์แอร์บินจากกรุงเทพฯ ไป-กลับดามัสกัสทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2254-7931-4 หรือคลิกไปค้นข้อมูลได้ที่ www.gulfair.com จากดามัสกัสมีรถประจำทางวิ่งไป-กลับ พัลไมรา เกือบทุกชั่วโมงทั้งวัน หาข้อมูลการท่องเที่ยวใน พัลไมรา ได้ที่ www.syriagate.com กาญจนา หงษ์ทอง kanjana7@yahoo.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง กลิ่นโรมันใน พัลไมรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook