ลูกหนี้รถยนต์ร้องสคบ.พุ่ง ผิดนัดชำระถูกแบงก์-ไฟแนนซ์ชาร์จอ่วม ค้างบัตรเครดิตถูกหักหนี้ในบัญชีเงินฝาก

ลูกหนี้รถยนต์ร้องสคบ.พุ่ง ผิดนัดชำระถูกแบงก์-ไฟแนนซ์ชาร์จอ่วม ค้างบัตรเครดิตถูกหักหนี้ในบัญชีเงินฝาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผิดนัดชำระหนี้พุ่งเป็นเงาตามเศรษฐกิจซบ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเผยสถิติลูกหนี้รถยนต์-บัตรเครดิตวิ่งโร่ร้องเรียน แค่3เดือนแรกเพิ่มพรวด 680 เรื่อง เทียบไตรมาสสุดท้ายปีก่อนแค่ 447 เรื่อง เหตุค้างค่างวดจนถูกแบงก์และไฟแนนซ์เรียกค่าปรับยุ่บยั่บ ชี้สัญญาณค้างชำระค่างวดรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และแท็กซี่ เพิ่มขึ้น สคบ.เล็งเจรจาแบงก์ชาติ-เจ้าหนี้บัตรเครดิตหาทางช่วยลูกหนี้บัตรที่ถูกสถาบันการเงินหักกลบลบหนี้ในบัญชีเงินฝาก

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า 3 เดือนแรกของปีนี้

แนวโน้มผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สคบ.เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่ค้างชำระหนี้รถยนต์และบัตรเครดิต เห็นได้จากตั้งแต่ 1 มกราคม -24 มีนาคม 2552 สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครวม 680 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ของปี 2551 (1ตุลาคม ถึง 31ธันวาคม 2551)ที่มีปริมาณการร้องเรียน 447 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน

นอกจากเรื่องร้องเรียนหลักๆเกี่ยวกับบัตรเครดิตและสินเชื่อแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับยานพาหนะ ซึ่งสคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปีนี้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว 173เรื่อง จากปีก่อน 157 เรื่อง จากสถิติการร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นพบว่าผู้บริโภคมีปัญหาทางการเงินจากที่ไม่มีความสามารถผ่อนชำระค่างวด และผิดนัดชำระสูงสุด 9 งวด

ที่ผ่านมาการร้องเรียนเกี่ยวกับรถมีมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยรวมทั้งรถยนต์ทั้งเก๋ง กระบะ จักรยานยนต์ และแท็กซี่ เริ่มมีสัญญาณมีปัญหาการผ่อนชำระค่างวด สาเหตุส่วนหนึ่งจากผู้โดยสารลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งการเช่าซื้อแท็กซี่นั้นไม่ได้อยู่ในประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานต์ยนต์ แต่เป็นธุรกิจควบคุมจึงขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่ง ซึ่งกรณีผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งทางผู้ประกอบการสามารถยกเลิกสัญญาได้เลยและจะมีค่าปรับตามข้อสัญญา

นายพิฆเนศกล่าวและว่า

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านี้ ก็คือ ผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ จะถูกสถาบันการเงินเจ้าหนี้คิดเบี้ยปรับตามอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศของธนาคารกรุงไทย คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี ( MRR) +10% หรือ 16.75% (จากปัจจุบันซึ่ง MRRอยู่ที่อัตรา 6.75% ) และยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถาม ซึ่งสถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์หมายรวมตั้งแต่การออกจดหมายแจ้ง การโทรศัพท์ และการส่งเจ้าหน้าที่ในการติดตามยึดหรือบังคับยึดรถ ซึ่งรวมแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายที่สถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระ เช่น การออกหนังสือให้ชำระค่างวดในอัตรา 250-500บาทต่อฉบับ กรณียื่นโนติสคิดอัตรา ตั้งแต่ 1,800-2,500บาทและกรณีบังคับยึดรถคิดค่าใช้จ่าย 10,000-20,000บาท ดังนั้น กรณีที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้บังคับยึดรถนั้นจะเป็นปัญหาทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระค่าใช้จ่ายรวมแล้วประมาณ 40,000-50,000บาท

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเจ้าหนี้หรือไฟแนนซ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและยึดรถได้หากผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าผิดนัดชำระหรือค้างชำระติดต่อกัน 3งวด เท่าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนอัตราค่างวดจะอยู่ประมาณ 7,000-8,000บาท หากค้างชำระ 3งวดจะตกประมาณ 30,000บาท แต่กรณีที่ถูกบังคับยึดรถนั้นผู้บริโภคยังมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก เป็นประมาณ 40,000-50,000บาท

นอกจากนี้ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา ยังกล่าวถึง แนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ในเบื้องต้นช่วยได้ในแง่ของการประนีประนอมไกล่เกลี่ย ซึ่งบางธนาคารหรือบางไฟแนนซ์ก็อนุโลมให้ แต่ในทางปฎิบัติยังมีข้อจำกัดเพราะสถาบันการเงินเจ้าหนี้เองก็อ้างเหตุผลว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกกำหนดเป็นโปรแกรมค่าใช้จ่ายไว้แล้ว เช่น ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ค่าวิชาชีพของทนาย หรือการจ้างบริษัทภายนอกในการติดตามยึดบังคับ ซึ่งที่ผ่านมา สคบ.ได้หารือกับสมาคมเช่าซื้อไทยเพื่อขอความร่วมมือให้ประกาศอัตราค่าใช้จ่ายกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน สคบ.อยู่ระหว่างพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับบัตรเครดิตในประเด็นที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ใช้วิธีหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝากธนาคารเดียวกันของลูกหนี้บัตรเครดิต ก่อนที่จะมีการฟ้องคดีทางกระบวนการของศาล เพราะข้อเท็จจริงที่ผ่านมายังไม่วินิจฉัยข้อตกลงดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่เป็นธรรม แม้ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าหนี้เคยชี้แจงว่าสามารถดำเนินการหักกลบลบหนี้ได้ตามข้อสัญญาก็ตาม

ขณะนี้สคบ.อยู่ระหว่างประมวลเรื่องดังกล่าวเพื่อพิจารณาถึงความเป็นธรรมโดยจะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสถาบันเจ้าหนี้บัตรเครดิตอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาในครึ่งปีหลัง หากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเห็นชอบให้ดำเนินแนวทางที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคสคบ.จะทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะมีประกาศเพิ่มเติมในทางปฎิบัติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook