จับตาการข้ามสายพันธุ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ & มือถือ

จับตาการข้ามสายพันธุ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ & มือถือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สงครามการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นทุกขณะ โดยภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้คือผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ก็กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ผู้ผลิตมือถือต่างก็พยายามกระโดดเข้าไปเล่นในตลาดคอมพิวเตอร์

เกมการแข่งไม่สามารถระบุได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ โจทย์สำคัญของผู้ผลิต ณ วันนี้ คือ พยายามพัฒนาสินค้าตัวเอง ให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานแบบเคลื่อนที่ และ เชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา

ทั้งนี้ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เคยระบุเอาไว้ว่าต่อไปอุปกรณ์เครื่องลูกข่าย (Terminal Device) จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

****เอเซอร์ เตรียมเข้าตลาดพีดีเอโฟน

บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซี-โน้ตบุ๊กและเน็ตบุ๊ก จากประเทศไต้หวัน มีแผนจะผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone (คือโทรศัพท์ที่ไม่ได้เป็นแค่โทรศัพท์ที่ใว้ใช้โทร.เข้า - ออกธรรมดา แต่ยังได้รวมความเป็นพีดีเอหรือคอมพิวเตอร์มือถือรวมเข้ามาอยู่ภายในเครื่องเดียวกัน) เข้ามาจำหน่ายในตลาดจำนวน 8 รุ่น โดยผู้บริหาร เอเซอร์ มีการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการในงานเวิลด์ โมบายล์ คอนเฟอเรนซ์ ที่จัดขึ้นในกรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการตลาดอาวุโส บริษัทเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด บริษัทจะนำพีดีเอโฟน รุ่น อีเทน เข้ามาทำตลาดในไทยประมาณเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน โดยจะมีทีมงานจากไต้หวันเข้ามารับผิดชอบการทำตลาดโดยเฉพาะ โดยพีดีเอโฟน อีเทน จะเข้ามาเตรียมเติมสายผลิตภัณฑ์กลุ่มอุปกรณ์การใช้งานเคลื่อนที่ หรือโมบิลิตีให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ขณะเดียวกันในแง่ช่องทางดีลเลอร์ของพีดีเอโฟน อีเทน ยังไม่แตกต่างจากสินค้าไอทีทั่วไป

แนวโน้มการข้ามสายพันธุ์ระหว่างโน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก และพีดีเอโฟน มีมากขึ้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีฟีเจอร์ฟังก์ชันใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคต้องการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเอง ซึ่งต่อไปจะไม่ได้มองว่าเป็นเน็ตบุ๊ก พีดีเอโฟน แต่จะมองเป็นอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานแบบเคลื่อนที่ หรือ อุปกรณ์ใช้สำหรับเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เน็ต

****อัสซุส ครบทุกไลน์

เช่นเดียวกับบริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ อินคอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการลำดับต้นๆที่ปลุกกระแสเน็ตบุ๊กและมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับต้น ๆ นอกจาก อัสซุส มีความเชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์แล้ว อัสซุส ยังขยายไลน์ธุรกิจเข้ามาสู่ PDA (Personal Digital Assistant, เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาและยังไปโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อีกด้วย)

ไม่เพียงเท่านี้ อัสซุส ยังผนึกเป็นพันธมิตรกับบริษัท การ์มิน จำกัด ผลิตมือถือ PDA ภายใต้ชื่อ การ์มิน-อัสซุส นูวีโฟน

ทั้งนี้นายพรเทพ วัชรอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า การร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองบริษัทเพราะต่างฝ่ายต่างมีความเชี่ยวชาญดังนั้นเมื่อร่วมมือกันจะทำให้คุณภาพสินค้ามีประโยชน์มากขึ้น เพราะ การ์มิน กับ อัสซุส ได้ร่วมมือพัฒนาสินค้าร่วมกันเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วการร่วมมือกันในครั้งนี้นอกจากจะช่วยขยายสายผลิตภัณฑ์ ยังช่วยให้พัฒนาสินค้าได้รวดเร็วขึ้นด้วย ทำให้บริษัทฯพร้อมที่จะเป็นผู้ผลิตพีดีเอโฟนระบบนำทางที่ดีที่สุดในโลก

***ไอ-โมบายขายคอมพ์ฯ

ไม่เพียงแต่ฝั่งผู้ผลิตพีซี และ ชิป ขยายไลน์ไปสู่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทางฝั่งโทรศัพท์เคลื่อนที่เองก็เตรียมขยายธุรกิจไปสู่ตลาด พีซี เช่นกัน ทั้งนี้จะเห็นได้จาก บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้ขยายสายผลิตภัณฑ์แบรนด์ไอ-โมบาย จากโทรศัพท์มือถือ โดยพัฒนาเครื่องโน้ตบุ๊กขนาดเล็ก ภายใต้ชื่อ ไอ-โมบาย เอ็กซ์ไซท์ แอล 50 จำหน่ายในราคา 12,900 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายของบริษัทฯขณะนี้คือแผนการกระตุ้นตลาดด้วยการนำ New Network ,New Device การนำเสนอโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เพื่อรองรับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G (รับ-ส่งข้อมูลมัลติมีเดียความเร็วสูง) และ ระบบ CDMA ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของการใช้งานบรอดแบนด์ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Terminal Device รูปแบบใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์ 3G ที่ใช้ OS Android (ระบบปฏิบัติการ) ที่มี Application ในการใช้งานที่หลากหลาย และ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคาย่อมเยา (Net book) เป็นต้น

ซึ่งไม่เพียงเท่านี้สำหรับผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อย่าง โนเกีย มีความสนใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจพีซี แต่ในเบื้องต้นอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด

นอกจากเรื่องอุปกรณ์เครือข่ายแล้วบรรดาซอฟต์แวร์อยู่ระหว่างการแสวงหาพันธมิตรด้วยการควบรวมกิจการมีกระแสข่าวว่า ไอบีเอ็ม และ ซันไมโครซิสเต็มส์ มีแผนจะควบรวมกิจการระหว่างกัน ซึ่งการควบรวมกิจการเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาระหว่างฮิวเลตต์ แพคการ์ด ซื้อธุรกิจบริการด้านไอทีจาก บริษัท อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้า ซิสเต็มส์

นั่นเท่ากับยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าบรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่จำเป็นที่จะต้องขยายอาณาจักร ไม่เฉพาะในธุรกิจกลุ่มตนเท่านั้น ยังข้ามไลน์เพื่อต่อยอดธุรกิจไปเครือข่ายอื่นด้วย จะสรุปว่าแท้จริงแล้ว พวกเขามีเป้าหมายสำคัญก็คือการต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กร!!

ไม่เกินจริงเลย !!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook