ชี้8เดือนธุรกิจยังฟุบอีก7แสนตกงาน

ชี้8เดือนธุรกิจยังฟุบอีก7แสนตกงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : ม.หอการค้าไทยสำรวจธุรกิจเดือน มี.ค. พบ 75% ขาดสภาพคล่องหนัก ขอกู้ยาก หาก 8 เดือนสถานการณ์ไม่ดีขึ้นคนอาจตกงานอีก 7 แสนคน ขณะที่อุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ยังอ่วมหนัก จ่อเลิกจ้างอีก 4.6 หมื่น ประธานหอการค้าสวดยับ ปัญหาการเมืองทำลายความเชื่อมั่น กระทบเศรษฐกิจ จี้ยุติยั่วยุให้เกิดความแตกแยก ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเห็นธุรกิจเรื่อง สภาพคล่องและสถานภาพธุรกิจไทย จากนักธุรกิจทุกภาคการผลิตและบริการ 800 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26-31 มีนาคม 2552 พบว่า ระยะเวลาที่ธุรกิจสามารถประคองตัวได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 8.6 เดือน โดยเอกชนเกินครึ่งเชื่อว่าปีนี้จีดีพีจะติดลบ 2-4% แต่หวังว่าเศรษฐกิจปี 2553 จะฟื้นตัวและจีดีพีจะเป็นบวก 3-4% เนื่องจากหวังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงไตรมาส 3 และเร่งโครงการเมกะโปรเจกท์ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังว่า หากรัฐบาลทำได้จะทำให้เศรษฐกิจปี 2553 ฟื้นตัวดีขึ้นได้ เมื่อถามว่า ธุรกิจมีปัญหาขาดสภาพคล่องหรือไม่ พบว่า 74.9% มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่จากยอดคำสั่งซื้อลดลง ส่วนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อปัจจุบันเทียบกับปีก่อน 50.2% เห็นว่ายากขึ้น ขณะที่ 40.6% เห็นว่าไม่แตกต่าง และอีก 9.2% บอกว่ายากมาก ดังนั้น ภาคเอกชนจึงหวังให้รัฐบาลใช้ธนาคารรัฐช่วยปล่อยกู้ในภาวะที่ธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้ลำบาก

ธุรกิจประคองได้แค่8เดือน ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ผู้ประกอบการเห็นว่ามีความสามารถประคองธุรกิจปีนี้ได้แค่ 8 เดือนเท่านั้น โดยต้องการเห็นการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนในไตรมาส 3 โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ทัน 8 เดือน เพราะปัจจุบันธุรกิจใช้กำไรสะสมมาประคองตัว หากหมดเงินก้อนนี้อาจต้องปลดคนงาน แต่ไม่มีใครตอบว่าจะปิดกิจการ หลัง 8 เดือน ถ้าไม่แก้ปัญหาเลย ธุรกิจคงต้องปลดคนงาน เมื่อถึงเวลานั้นจะมีแรงงาน 7 แสนคน แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม ตกงาน 5 แสนคน ภาคก่อสร้าง 2 แสนคน จะทำให้ตัวเลขคนว่างงานรวมเป็น 1.5 ล้านคน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวและว่า นอกจากกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนจากแผนเงินกู้ 1.56 ล้านล้านบาทและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เบื้องต้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% เพื่อลดภาระภาคธุรกิจให้อยู่ได้นานขึ้น นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า ในไตรมาส 2 นี้ น่าจะมีคำสั่งซื้อกลับเข้า เพราะสต็อกสินค้าปลายทางเริ่มหมดแล้ว จำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้าไปทดแทน แต่สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้การค้ามีเงื่อนไข 2 อย่าง คือ 1.แข่งขันราคา เพราะความต้องการลดลง แต่ผู้ผลิตเท่าเดิม ผู้นำเข้าจึงหาสินค้าราคาถูกสุด และ 2.เงื่อนไขชำระเงิน แม้จะมีคำสั่งซื้อ แต่ถ้าผู้ส่งออกรายใดยืดเวลาชำระเงินได้นานก็จะได้คำสั่งซื้อไป ส่วนความช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น เอกชนต้องการให้ช่วยเรื่องสภาพคล่องเพื่อประคองตัวและไม่ต้องปลดคนงาน เพราะปัจจุบันกำลังผลิตลดลง 30% หากมีเงินมาหมุนเวียนในลักษณะเงินกู้เงื่อนไขพิเศษชั่วคราว 6 เดือน จะทำให้ไม่ต้องปลดคนงาน แต่อาจลดต้นทุนให้สอดคล้องกำลังผลิต เช่น ลดโอที ลดชั่วโมงทำงาน

ชิ้นส่วนยานยนต์จ่อเลิกจ้างอีก นายถาวร ชลัยเฐียร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์คงไม่ต้องรอถึง 8 เดือน จึงจะเลิกจ้าง เพราะไตรมาสแรกนี้เลิกจ้างแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ก) ไปแล้ว 1 หมื่นคน และหากไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องการชะลอเลิกจ้างจากรัฐบาล คาดว่าปีนี้จะต้องมีการเลิกจ้างซับคอนแทร็ก 4.6 หมื่นคน เนื่องจากผู้ประกอบการมีปัญหาจากคำสั่งซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการมีปัญหาสภาพคล่องทำให้บางรายต้องเลิกจ้าง เพราะแบกรับภาระไม่ได้ ขณะนี้บริษัทยานยนต์รายใหญ่ต้องออกเงินซื้อวัตถุดิบให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนรายเล็กที่จ้างผลิต เพราะรายเล็กขาดสภาพคล่องมาก และสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ นายถาวร กล่าว

ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ไม่ช่วยอะไรกับภาวะเศรษฐกิจ แต่จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงหรือไม่ จะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของความขัดแย้งและความรุนแรงที่จะมากระทบ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ชะลอตัวตามที่คาดไว้ แต่แสงสว่างของประเทศไทยยังมีอยู่ แต่ทุกฝ่ายต้องปรับตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ในขณะนี้ปัจจัยภายในประเทศมีความสำคัญมากกว่าต่างประเทศที่มีปัญหารุมเร้า ซึ่งธนาคารยังคงประมาณการจีดีพีที่ระดับติดลบ 2% ในขณะนี้ยังไม่มีการทบทวนประมาณการใหม่ แต่จะพิจารณาเป็นระยะๆ หากมีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงไปถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 4 ของปีนี้ นายโฆสิต กล่าว

จี้ยุติทำลายความเชื่อมั่น นายดุสิต นนทนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างรุนแรงไปทั่ว เช่นเดียวกับประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งเอกชนพยายามดิ้นรนเต็มที่ เพื่อให้ปัญหาเศรษฐกิจคลี่คลาย ขณะที่รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายเพื่อทำให้บรรยากาศการค้า การลงทุน และความเชื่อมั่นประเทศดีขึ้น ขณะที่ทั่วโลกก็ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น ทำให้สิ่งที่คาดว่าจะเลวร้ายมาก อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ ตอนนี้ทุกคนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ แต่ในไทยกลับมีการใช้คำพูดที่รุนแรง ยั่วยุให้เกิดความแตกแยก เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม สิ่งที่ทุกภาคส่วนพยายามทุ่มเทลงมือลงแรงในการแก้ปัญหาก็จะเสียเปล่า นายดุสิตกล่าว นายดุสิตกล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการเห็นอำนาจหลักทั้งสามของกระบวนการประชาธิปไตยอันประกอบด้วย อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ไม่ควรได้รับการกล่าวถึงโดยปราศจากเหตุผล ดังนั้น ขอให้บุคคลที่เป็นต้นเหตุของการบั่นทอน ควรใช้สติทบทวนและไตร่ตรองโดยรอบคอบ มองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ มิใช่ประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง จึงอยากเรียกร้องให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ ก่อนที่ผลกระทบจะรุนแรงมากไปกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ญี่ปุ่นให้ค่าตั๋วเครื่องบินต่างชาติกลับบ้าน ชี้ไทยเจอวิกฤติการเมืองซ้อนศก. นักเศรษฐศาสตร์คาดไตรมาสแรกจีดีพีทรุดเกือบ6% เรือนชานบ้านเมือง-การปราบ เบ้งเฮ็ก โจรใต้ของ จ๊กก๊ก (1) ชี้เสื้อแดงชุมนุมยืดเยื้อดันตกงานทะลุล้าน ธนาคารประชาชนฉลุยหนี้เน่าต่ำ-ให้กู้เพิ่ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook