ม.6สอบตกโอเน็ต4ปีซ้อน8วิชาเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ50

ม.6สอบตกโอเน็ต4ปีซ้อน8วิชาเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ50

ม.6สอบตกโอเน็ต4ปีซ้อน8วิชาเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ50
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อุทุมพร เผยเด็กไทยสอบตกโอเน็ต 4 ปีซ้อน คะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 50 เศร้าใจ! แม้ข้อสอบง่ายๆ ยังทำไม่ได้ ชี้ชัดมาตรฐาน ร.ร.ต่ำ โวย! ร.ร.ไม่นำผลสอบไปปรับปรุงการเรียนการสอน เตรียมเดินหน้ารุก ผอ.ร.ร.คุมครูปรับปรุงการสอนด่วน! ขณะที่เวทีซีเมค ชูธง "การศึกษาเพื่อปวงชน" เรียกร้องประเทศสมาชิก อุ้มเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา 3 ล้านคนในอาเซียน รวมทั้งผู้ใหญ่อีก 34.3 ล้านคน ที่อ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ผอ.สทศ.) เปิดเผยว่า สทศ.ประกาศผลสอบ แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ปีการศึกษา 2551 สำหรับนักเรียนระดับชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และชั้น ม.6 จะนำผลสอบโอเน็ตไปใช้ในการสอบคัดเลือกในระบบแอดมิชชั่นส์เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ โดย สทศ.นำผลการสอบโอเน็ตทั้ง 3 ช่วงชั้น ทางเว็บไซต์เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เวลา 16.00 น. วันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ทั้งเว็บไซต์ของ สทศ.คือ www.niets.or.th และเว็บไซต์ของพันธมิตร ซึ่งไม่มีปัญหาเว็บไซต์ล่ม หากนักเรียนสงสัยให้ยื่นคำร้องขอตรวจสอบคะแนนได้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน เวลา 08.30 น. และดูคะแนนได้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนนี้

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า ในภาพรวมคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ต่ำลง ซึ่งทั้ง 3 ช่วงชั้น และคะแนนเฉลี่ยแต่ละรายวิชาไม่ถึงครึ่ง ทั้งที่ข้อสอบที่ สทศ.ออกนั้นไม่ใช่ข้อสอบที่ยาก ระดับความยากง่ายเหมือนกันทุกปี การที่เด็กทำคะแนนได้น้อยอาจจะมาจากหลายกรณีคือ ความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจสอบของเด็กเอง เพราะเด็กบางคน เช่น ป.6 ไม่ตั้งใจสอบ เพราะไม่ได้นำคะแนนไปใช้

"แต่คะแนนเฉลี่ยทั้งหมดก็ไม่ถึง 50 คะแนน ทั้งๆ ที่ข้อสอบโอเน็ตค่อนข้างง่ายยังทำคะแนนได้น้อย แสดงว่ามาตรฐานของโรงเรียนต่ำ ทั้งนี้ยังพบว่าคะแนนเฉลี่ย 4 ปีในแต่ละรายวิชาไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่มีวิชาใดเกินครึ่ง หมายความว่าเด็กไทยมีความรู้เพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนไม่มีการปรับปรุงการเรียนการสอน เพราะหากมีการปรับปรุงคะแนนเฉลี่ยจะต้องสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียนควรจะต้องลงมาบริหารจัดการ ให้ครูผู้สอนมาดูว่าวิชาที่ตัวเองสอนอยู่ควรจะต้องปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง จากนี้ สทศ.จะส่งข้อมูลกลับไปยังโรงเรียน โดยจะวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงจุดอ่อน จุดแข็ง เป็นรายวิชา และโรงเรียนอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ของประเทศ" ศ.ดร.อุทุมพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในชั้น ป.6 มีผู้เข้าสอบทั้งหมด 953,087 คน ผู้ขาดสอบคิดเป็น 2.3% สอบจำนวน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.02 คะแนน คณิตศาสตร์ 43.76 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 51.68 คะแนน

ทั้งนี้ โอเน็ตระดับ ม.3 ซึ่งสอบปีนี้เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าสอบ 803,323 คน ขาดสอบ 6.8% สอบจำนวน 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 41.036 คะแนน สังคมศึกษา 41.369 คะแนน คณิตศาสตร์ 34.564 คะแนน ภาษาอังกฤษ 32.636 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 39.388 คะแนน

ขณะที่ โอเน็ตระดับ ม.6 มีผู้เข้าสอบ 343,859 คน ผู้ขาดสอบคิดเป็น 6.2% สอบจำนวน 8 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 46.415 คะแนน สังคมศึกษา 34.671 คะแนน คณิตศาสตร์ 30.643 คะแนน ภาษาอังกฤษ 35.978 คะแนน วิทยาศาสตร์ 33.649 คะแนน สุขศึกษา 56.745 คะแนน ศิลปะ 43.216 คะแนน และการงานฯ 40.012 คะแนน

ค่าเฉลี่ยคะแนนรวม 4 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548-2551 จำนวน 5 วิชา ดังนี้ วิชาภาษาไทย ปี 2548 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 48.62 คะแนน ปี 2549 50.33 คะแนน ปี 2550 50.70 คะแนน และปี 2551 46.41 คะแนน เฉลี่ย 4 ปี 49 คะแนน สังคมศึกษา ปี 2548 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 42.24 คะแนน ปี 2549 37.94 คะแนน ปี 2550 37.76 คะแนน ปี 2551 34.67 คะแนน เฉลี่ย 4 ปี 38.25 คะแนน วิชาคณิตศาสตร์ ปี 2548 28.46 ปี 2549 29.36 ปี 2550 32.49 ปี 2551 35.97 คะแนน เฉลี่ย 4 ปี 30.28 คะแนน ภาษาอังกฤษ ปี 2548 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 29.81 คะแนน ปี 2549 32.37 คะแนน ปี 2550 30.93 คะแนน ปี 2551 35.97 คะแนน เฉลี่ย 4 ปีอยู่ที่ 32.12 คะแนน วิทยาศาสตร์ ปี 2548 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 34.01 คะแนน ปี 2549 34.88 คะแนน ปี 2550 34.62 คะแนน ปี 2551 33.64 คะแนน เฉลี่ย 4 ปีอยู่ที่ 34.28 คะแนน

วันเดียวกัน ที่ รร.เชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า จ.ภูเก็ต ดาโต๊ะเสรี ฮิชัมมู ดิน ตุน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งมาเลเซีย และประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษา ครั้งที่ 44 (ซีเมค) กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดว่า ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก สภาวะโลกร้อน โรคเอดส์ ฯลฯ ทำให้เราลืมที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันตามแบบฉบับอาเซียน

ประธานซีเมค กล่าวต่อว่า เวทีสภาซีเมคที่มาเลเซียได้เน้นการศึกษาเพื่อปวงชน โดยประเทศสมาชิกร่วมกันเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษามีถึง 9.2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 3 ล้านคนในอาเซียน และยังมีผู้ใหญ่ถึง 34.3 ล้านคน อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของซีมีโอที่มีการจัดการประชุมในหัวข้อ การเข้าถึงผู้ด้อยโอกาส เพื่อบรรลุจุดประสงค์การศึกษาเพื่อปวงชนในปี 2015 มีการเสนอแนะแผนงานร่วมกันของประเทศสมาชิก อันแสดงถึงความมุ่งมั่นในการทำงาน มาเลเซียรับจะเป็นผู้นำโครงการ 2 โครงการด้านการศึกษาเพื่อผู้พิการทางสังคม และการศึกษาเพื่อสตรี มาเลเซียยังให้ความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อริเริ่มโครงการอื่นๆ อีก 4 โครงการ

ด้าน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมซีมีโอ ว่า ประเทศสมาชิกซีมีโอจะต้องประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์เข้าถึงผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาหลังสำเร็จชั้นประถม ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ที่รัฐทุ่มงบ 1.9 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการช่วยเฉพาะเด็กยากจน และรัฐบาลยังเตรียมปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เพื่อปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษา เน้นปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปครู ปฏิรูปหลักสูตรที่ตั้งธงว่าจะตามรอยหลักปรัชญาพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า ประธานซีเมคชื่นชมนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาการศึกษาให้เป็นศูนย์กลาง ด้านการศึกษาในภูมิภาค โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปจัดทำแผน ซึ่งปัจจุบันชาวต่างชาติเข้ามาเรียนจำนวนกว่า 2 หมื่นคน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook