ศธ.รับโอเน็ต

ศธ.รับโอเน็ต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เด็กไม่ตั้งใจสอบนัดหาทางแก้ไข

กระทรวงศึกษาธิการโบ้ยนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจสอบโอเน็ตเพราะเห็นว่าไม่ได้นำคะแนนไปใช้ศึกษาต่อทำให้คะแนนภาพรวมออกมาตกต่ำ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าการเรียนการสอนก็มีปัญหา นัดหารือผู้เกี่ยวข้องหาทางแก้ไข 9 เม.ย.นี้ ด้าน สพฐ.ชี้ยกผลสัมฤทธิ์การศึกษาต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ในขณะที่ สสวท.เผยเห็นแววปัญหามานานแล้ว หลังครูวิทย์คณิตขอเออร์ลี่รี ไทร์ไปเพียบ ส่วนอาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ อัดปฏิรูปการศึกษา 10 ปีก่อนล้มเหลว ทำเด็กคุณภาพต่ำลงแต่ครูกลับได้ดี แนะนายกรัฐมนตรีต้องลงมาเล่นเอง

หลังจากที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ประกาศผลทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือ O-NET เรียบร้อยแล้วนั้น เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ สทศ. ได้เปิดให้นักเรียนมายื่นคำร้องเพื่อขอดูกระดาษคำตอบของตนเอง ซึ่ง ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. กล่าวว่า นักเรียนที่มายื่นคำร้องส่วนใหญ่จะดูเฉพาะวิชาที่คิดว่าทำได้ แต่คะแนนออกมาต่ำ แต่ตนยืนยันว่า สทศ. ตรวจข้อสอบได้ถูกต้องแน่นอน เพราะมีการตรวจทานหลายครั้ง ทั้งนี้จะเปิดให้ดูกระดาษคำตอบตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. คาดว่าคงมีผู้มายื่นคำร้องไม่เกิน 400 คน และคงใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็น่าจะดูคะแนนได้ทั้งหมด

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีนักเรียนประมาณ 30 คน ที่อาจจะไม่มีคะแนนบางวิชาปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะนักเรียนระบายเลขที่นั่งประจำตัวเข้าสอบผิด ซึ่งสทศ. ได้แยกกระดาษคำตอบของนักเรียนกลุ่มนี้ไว้แล้ว เพื่อให้นักเรียนมาตรวจสอบข้อมูล ส่วนผลคะแนน O-NET นั้นขณะนี้โรงเรียนทุกแห่งสามารถเข้ามาดูได้เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงการเรียน การสอนในปีต่อไป

น.ส.วันสา เจริญวิจิตร นักเรียน ม.6 จากรร.สตรีศรีสุริโยไทย กล่าวว่า ตนมาขอดูวิชา ภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าน่าจะได้มากกว่านี้ ส่วนที่มองว่าเด็กไทยทำคะแนนโอเน็ตได้ต่ำเพราะไม่คุ้นกับข้อสอบที่ต้องคิดวิเคราะห์นั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องจริง

นางศศิธร อหิงสโก ผอ.กลุ่มรับบุคคล เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยถึงการ ยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติระดับสูง หรือ A-NET ว่า ตั้งแต่วันที่ 4-7 เม.ย. ขณะนี้มีผู้ยื่นคำร้องมาแล้ว 561 คน ซึ่ง สกอ. จะเริ่มให้ดูกระดาษคำตอบ ได้ในวันที่ 8 เม.ย. ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น.

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษา ธิการ กล่าวถึงสถิติผลสอบโอเน็ตของเด็กไทยที่ต่ำลงว่า ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเด็กบางคนอาจไม่ตั้งใจสอบ เพราะเห็นว่าไม่ได้นำคะแนนไปใ้คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่จึงทำให้ไปฉุดคะแนนรวมให้ต่ำลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธว่าเด็กทำคะแนนไม่ดี ซึ่งตนก็ยอมรับว่าคะแนนของเด็กไทยตกเกณฑ์จึงต้องพัฒนาเร่งด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 9 เม.ย. ตนจะประชุมร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ในวันที่ 8 เม.ย. สพฐ. จะประชุมหารือเพื่อวิเคราะห์ผลสอบการประเมินผลคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ National Test (NT) ที่สพฐ.เป็นผู้จัดสอบเอง เพื่อดูว่าเด็กไทยมีจุดแข็งจุดอ่อนด้านใดบ้าง ส่วนคะแนนโอเน็ตคงต้อง ประสานไปยัง สทศ. เพื่อขอข้อมูลมาวิเคราะห์ ต่อไป

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการสอบถามครูบางส่วนพบว่า สาเหตุที่ผลคะแนนโอเน็ตตกต่ำ เนื่องจากเด็กไม่ตั้งใจสอบ เพราะเห็นว่าไม่ได้นำคะแนนไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อ นอกจากนี้การออกข้อสอบส่วน ใหญ่จะเป็นการคิดวิเคราะห์ ขณะที่เด็กจะคุ้นเคยกับการเลือกคำตอบมากกว่า รวมทั้งคุณภาพการ เรียนการสอนที่ยังมีไม่พร้อมทั้งในเรื่องของครู และสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ สพฐ. ต้องเร่งแก้ไข อย่างไรก็ตาม การจะยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนคงไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในหลายประเทศที่ทุ่มเททางด้านการศึกษาก็ยังต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าผลสัมฤทธิ์ของเด็กจะขยับเขยื้อนไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่อยากให้ผู้ที่พยายามทุ่มเทต้องรู้สึกท้อถอย แต่ควรมุ่งมั่นทำต่อไป

น.ส.นารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทน ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท. มองเห็นแนวโน้มก่อนหน้านี้แล้วว่าผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนจะตกต่ำลง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดหรือเออร์ลี่รีไทร์เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนครู ขณะเดียวกันก็มีปัญหาคุณภาพครู ซึ่ง ศธ. ทราบปัญหานี้ดีและกำลังดำเนินการแก้ไข โดยจัดทำแผนยกคุณภาพการศึกษาใน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมสรุปแผนดังกล่าวในวันที่ 9 เมษายนนี้ ทั้งนี้จากการประชุมของคณะกรรมการของ สสวท. ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าภายใน 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2552-2554 จะต้องทำให้ผลคะแนนโอเน็ตของเด็กคงที่หรือไม่ต่ำไปกว่านี้ และหลังจากปี พ.ศ 2554 ต้องทำให้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา ซึ่งในส่วนของ สสวท. มีโครงการที่จะไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางที่เด็กมีผลคะแนนโอเน็ตตกต่ำประมาณ 1.5 หมื่นโรงทั่วประเทศ

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ศธ. จะต้องเร่งทำใน 2 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพครูตั้งแต่กระบวนการผลิตครู จนถึงพัฒนาครูประจำการและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา อย่างไรก็ตามการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้คงทำไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จาก ข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยยิ่งอยู่ในระบบการศึกษา ยิ่งคุณภาพลดต่ำลง และปัญหาคุณภาพ การศึกษาลามถึงระดับอุดมศึกษา เพราะได้เด็ก ด้อยคุณภาพเข้ามาเรียน รวมทั้งคุณภาพการศึกษาดิ่งลงเหว แต่หาผู้รับผิดชอบหรือเจ้าภาพมาแก้ปัญหาไม่ได้ และสิ่งที่พบชัดเจนคือข้อสอบโอเน็ตของ สทศ. เน้นการคิด วิเคราะห์ หาเหตุผล ขณะที่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนยังเป็นแบบท่องจำ 80-90% ซึ่งเป็นเรื่องที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องตลกทางการศึกษาที่ขำไม่ออก ดังนั้นโรงเรียนต้องเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนรู้ครั้งใหญ่

10 ปีของการปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านมาได้ผลิดอกออกผลแล้วว่า คุณภาพเด็กไทยลดต่ำลงเรื่อย ๆ เป็นการล้มเหลวคุณภาพการศึกษาอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน เข้าสู่เงินเดือนและวิทยฐานะใหม่ ได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ผิดพลาดมหาศาล เป็นผลร้ายของการปฏิรูปการศึกษาในรอบที่ผ่านมา ดังนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยวางเป้าหมาย 2 ปีจากนี้จะต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร นอกจากนี้ผมเสนอว่า งานการศึกษาอยู่เหนือบ่ากว่าแรงของนายจุรินทร์ และ รมช.ศึกษาธิการ 2 คนแล้ว ควรให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงมาดูเอง รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook