''วรากรณ์''ชี้เหตุโรงเรียนขาดแคลนครู

''วรากรณ์''ชี้เหตุโรงเรียนขาดแคลนครู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ไม่ใช่เพราะไม่มีคนแต่คนเก่งไม่เข้ามาแนะเพิ่มค่าตอบแทนดูดคนเก่งเป็นครู

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมช.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การพัฒนาครูตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ ในการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน หรือ ซีเมค ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า จ.ภูเก็ต ว่าขณะนี้ปัจจัยทางการศึกษาไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียน แต่ควรมองที่คุณภาพของนักเรียนมากกว่า แม้ว่าปัจจุบันตัวเลขจำนวนนักเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เข้าเรียนในระบบการศึกษาสูงถึง 90% แต่จำนวนผู้ที่เรียนจบก็ไม่ครบตามจำนวนผู้เข้าเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องมาช่วยกันคิดแก้ไข

ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากการวิจัยทางการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า การจะพัฒนาระบบการศึกษาให้ได้ผลดี ซึ่งมีการนำไปใช้ทั่วโลกแล้ว มีด้วยกัน 3 ปัจจัยหลัก คือ คุณภาพผู้ที่จะมาเป็นครู ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียน และระบบการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ยังมีปัญหาการกระจายตัวของครูที่กระจุกตัวอยู่แต่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ๆ ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กยังขาดแคลนครู ซึ่งโดยส่วนตัวตนคิดว่าการขาดแคลนครูของไทยนั้น ไม่ได้ขาดเพราะไม่มีคนมาเป็นครู แต่ขาดแคลนเพราะไม่มีคนเก่งจะเข้ามาเป็นครู และหากคนเก่งต้องการเข้ามาก็ไม่มีอะไรดึงดูดเนื่องจากอัตราบรรจุมีน้อย

ในการจัดการศึกษา เราควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของครู จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยเรามีความพยายามดึงคนดีมาเป็นครูมากขึ้น ให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาใบประกอบวิชาชีพครูตลอดจนพัฒนาครูให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราได้ครูรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน ครูที่จะเกษียณอายุราชการในอนาคตได้ รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวและว่า ตนขอฝากถึงการผลิตครูของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของไทยว่า ต้องไม่ใช่ผลิตครูเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว เพราะจบมาก็รู้แต่วิธีการสอนแต่สอนในหลักวิชาไม่ได้ ดังนั้นจะต้องนำผู้ที่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์มาต่อยอดให้เรียนต่อด้านครูอีก 1 ปี ซึ่งหลายประเทศก็อย่างนี้จนได้ผลดี อย่างไรก็ตามตนได้เสนอแนวทางในการพัฒนาครูแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเห็นว่าทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและดึงคนเก่งเข้ามาเป็นครูโดยต้องให้ค่าตอบแทนที่สูงด้วย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook