อุเทนถวาย สร้างจิตสำนึกแบ่งปันรอยยิ้ม

อุเทนถวาย สร้างจิตสำนึกแบ่งปันรอยยิ้ม

อุเทนถวาย สร้างจิตสำนึกแบ่งปันรอยยิ้ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องโดย จิตต์ อิสระ

"เสน่ห์ของการมาออกค่ายอาสาพัฒนานั้นอยู่ที่วันสุดท้าย วันที่เราส่งมอบค่ายให้กับโรงเรียนและชาวบ้าน วันนั้นแหละที่ชาวค่ายทุกคนจะได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และน้ำตาของเด็กๆ ครู และชาวบ้านที่มาส่งขึ้นรถ บ้านใครมีอะไรก็จะหอบมาฝากชาวค่ายก่อนกลับด้วย จากที่เคยเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับการตากแดดตากฝนทำงานมาตลอด 15 วันของการอยู่ค่าย รอยเลือด รอยแผล ก็จะถูกลบเลือนหายไปแต่สิ่งที่จะมาแทนก็ คือ ความอิ่มเอมใจที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว" คำบอกเล่าของ อาจารย์สมนึก หนูเส็ง อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายผู้คลุกคลีอยู่กับค่ายอาสาของอุเทนถวายมากว่า 30 ปี

อ.สมนึก เล่าว่า ค่ายอาสาของอุเทน ปีนี้ยกพลชาวค่าย 41 ชีวิตมาสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนสวนกล้วยห้วยชันวิทยาคาร อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 13 - 27 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การก่อสร้างอาคารห้องสมุดขนาด 8 x 16 ม. ปรับปรุงอาคารโรงอาหาร และช่วยซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายในโรงเรียน

"นอกจากชาวค่ายอาสาของอุเทนถวายจะลงพื้นที่สร้างอาคารเรียนแล้วอีกกิจกรรมที่อยู่คู่กับค่ายนี้มาตลอดก็คือ "โครงการนำความรู้สู่ชุมชน" โดยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างตั้งแต่การวางฐานราก ก่ออิฐ ฉาบปูน มุงหลังคา ปูกระเบื้อง ทำมุ้งลวด หรือแม้กระทั่งการตกแต่งสวนหย่อมและทางเดินรอบนอกด้วย เรียกได้ว่างานนี้ชาวบ้านที่ไม่เคยได้เห็นขั้นตอนของงานก่อสร้างก็จะได้เข้าสัมผัสของจริงที่สามารถนำกลับไปประกอบอาชีพได้ต่อไป รวมถึงทีมอาจารย์และนักศึกษาที่จะเข้ามาสมทบเพื่อสอนวิชาชีพต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเพ้นเสื้อ กระเป๋าผ้า การทำดอกไม้ประดิษฐ์ และงานฝีมือต่างๆให้กับเด็กนักเรียนและชาวบ้านเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพต่อไปด้วย"

3 หนุ่มวุ่นวายการช่างช่วยกันผสมปูนเพื่อฉาบผนัง3 หนุ่มวุ่นวายการช่างช่วยกันผสมปูนเพื่อฉาบผนัง

ด้าน อ.พรชัย อัจฉริยะเมธากร ในฐานะอาจารย์ประธานค่ายอาสาพัฒนา เล่าว่า รู้สึกดีใจทุกครั้งที่ได้เห็นความตั้งใจ ในการทำงานของลูกศิษย์ทุกคนที่มาไม่มีใครทำเป็นทุกขั้นทุกตอนและเพื่อนจะช่วยสอนดูแลกันทุกอย่าง ที่สำคัญค่ายอาสาพัฒนาของอุเทนถวายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการสนับสนุนงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยรวมถึงผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดอย่างบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงที่ได้สนับสนุนปูนสำหรับใช้ในการก่อสร้าง 21 ตัน บริษัทกระเลบื้องตราเพชร นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าอย่างนายสาทิตย์ เสรีนนท์ชัยที่ได้บริจาคโครงเหล็กสำหรับสร้างอาคารมาโดยตลอดด้วย


"ผมจะพูดกับนักศึกษศาทุกคนที่มาออกค่ายตลอดว่า ทุกวันที่เหน็ดเหนื่อเมื่อยล้าแต่เมื่อถึงวันสุดท้ายความเหนื่อยล้าจะหมดไปความอิ่มใจจะเข้ามาแทนที่ มันเหมือนกับการมาออกค่ายในแต่ละที่ ได้มาสร้างความทรงจำเอาไว้ และผมเชื่อว่ามันเป็นความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจุดเด่นของค่ายอาสาพัฒนาของอุเทนถวายก็คือการทำง่านที่รวดเร็วใครจะเชื่อว่าเวลาเพียง 15 นักศึกษา 40 คนจะสามารถสร้างอาคาร 1 หลังได้สำเร็จ รวมถึงความสามัคคีของนักศึกษาที่มาทำงานร่วมกันจากที่เรียนกันคนละสาขาแต่ในค่ายแห่งนี้ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด ในค่ายแห่งนี้จะไม่มีใครอู้งาน เพราะเมื่อทุกคนเห็นว่าเพื่อนต่างทำงานเหนื่อยก็จะไม่มีใครกล้าพักนานมันเหมือนเป้นการสร้างจิตสำนึกในการเสียสละและลดความเห็นแก่ตัวงให้กับเด็กไปในตัว และที่สำคัญค่ายอาสาจะไปที่ไหนก็จะมีศิษย์เก่าในพื้นที่มาให้ความช่วยเหลือตลอด" อ.พรชัยเล่าด้วยสีหน้าอิ่มเอม

 เช่นเดียวกับ นายอภินิต สายพฤกษ์ หรือ ตั้ม ปี 1 สาขาการจัดการงานก่อสร้างในฐานะประธานค่าย เล่าว่าแม้จะคลุกคลีกับงานก่อสร้างมาตั้งแต่เรียนมัธยมเพราะตามพ่อไปรับจ้างแต่การได้มาค่ายทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆนอกเหนือจากตำราเรียนมากขึ้น รวมถึงได้เห็นน้ำใจไมตรีของเพื่อนร่วมค่าย ชาวบ้าน และอาจารย์ ทำให้ชีวิตในค่ายเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดถึงแม้ว่าทุกคนจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ก็คือเสียงหัวเราะของเพื่อนร่วมค่ายและอาคารที่เป็นรูปเป็นร่างเพิ่มขึ้นทุกวันทำให้มีแรงใจที่จะทำงานต่อ

"แม้ว่าเพื่อน ๆ นักศึกษา จะมาจากต่างสาขาวิขา แต่ทุกคนก็ขมักเขม้นกับการผสมปูนเพื่อฉาบอาคารโรงอาหารให้กับน้องๆ รร.สวนกล้วยห้วยชันวิทยาคารอย่างสนุกสนาน เพื่อนร่วมค่าย และผมต่างรู้สึกดีใจที่ได้สร้างโอกาสให้กับคนอื่น เพราะสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และใช่ว่าจะมีโอกาสได้ทำบ่อยๆ ดังนั้นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้มีโอกาสจึงต้องทำอย่างเต็มที่และรู้สึกสุขใจทุกครั้งที่ได้เห็นแววตาที่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อของเด็กๆว่าอาคารของพวกเขาจะเสร็จเมื่อไหร่" ตั้มเล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ

อ.พรชัย  ช่วยลูกศิษย์วางแผนการทำงานอ.พรชัย ช่วยลูกศิษย์วางแผนการทำงาน

อ.แก้ว หรือ พรจิต พีระพัฒนกุล ผู้นำความรู้ด้านการสอนงานศิลปะ การเพ้นท์เสื้อ กระเป๋าผ้า แก้ว การร้อยลูกปัด เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดรายได้ แม้จะเล็กน้อยแต่สามารถเป็นอาชีพเสริมเพื่อพัฒนาคนในชุมชน เล่าว่า โครงการนำความรู้สู่ชุมชน แม้จะใช้ระยะเวลาในการอบรมสั้นๆ แต่สิ่งที่จะเกิดต่อไปคือ เด็กๆ และชาวบ้านจะนำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของโครงการ และสิ่งสำคัญก็คือ นักศึกษาที่มาร่วมลงพื้นที่จะได้เรียนรู้การเสียสละให้กับคนที่ด้อยโอกาสกว่า รวมถึงการได้เรียนรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่

อ.พรจิต  พีระพัฒนกุล  สอนชาวบ้านเพ้นท์เสื้ออ.พรจิต พีระพัฒนกุล สอนชาวบ้านเพ้นท์เสื้อ

 

 

และเจ้าของพื้นที่อย่าง กันยามาส คงคำ ชาวบ้านที่มาร่วมเรียนวิชาเพ้นท์ผ้า เล่าว่า รู้สึกดีใจที่ได้ลองทำงานศิลปะเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานจากที่ไหนเข้ามาสอนชาวบ้านแบบนี้ ในตอนแรกก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นเด็กนักศึกษาจากอุเทนถวาย เพราะภาพที่เห็นตั้งแต่วันแรกกลุ่มแรกที่เข้ามาแตกต่างจากที่เคยวาดภาพไว้จากการติดตามข่าวตามสื่อต่างๆที่ผ่านมา และถ้ามีโอกาสก็อยากให้อาจารย์และนักศึกษาเหล่านี้กลับมาเยี่ยมชาวบ้านอีก

อาคารห้องสมุดหลังใหม่ของโรงเรียนสวนกล้วยห้วยชันวิทยาคาร และอาคารโรงอาหารรูปโฉมใหม่สร้างความปิติยินดีแก่เด็กๆนักเรียน ครู และชาวบ้าน รวมถึงผู้ที่ลงทุนลงแรงอย่างชาวค่ายอาสาพัฒนาของอุเทนถวายแต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันก็ คือ จิตสำนึกในการทำประโยชน์เพื่อคนอื่นนั่นเอง

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook