ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ศิลปะในไทยก็ยังถูกปิดปาก?

ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ศิลปะในไทยก็ยังถูกปิดปาก?

ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ศิลปะในไทยก็ยังถูกปิดปาก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกิดอะไรขึ้นกับ “ศิลปะ” ในบ้านเมืองเราในตอนนี้กันแน่?

ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าแวดวงศิลปะในบ้านเราค่อนข้างมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นข่าวคราวของโรงภาพยนตร์ในตำนานอย่าง “ลิโด” ที่รูดม่านปิดตัวลงอย่างเป็นทางการไปแล้ว หลังจากอยู่เคียงคู่คอหนังชาวไทยมายาวนาน 50 ปี, การบริหารงานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อาจจะตกไปอยู่ในมือของสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว, วงพังก์นาม Blood Soak Street of Social Decay ถูกเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เนื่องจากในบทเพลงมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีการเผาโปสเตอร์ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายในงานดนตรีพังก์ #จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน หรืออาจจะย้อนกลับไปถึงผลงานศิลปะกราฟฟิตี้รูป “เสือดำ” ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Headache Stencil ที่ถูกตามลบอย่างไม่มีปี่ไม่ไม่มีขลุ่ย จากใครบางคนที่ไม่เปิดเผยตัวตน

รวมถึงล่าสุด กับประเด็นที่กลุ่มแร็ปเปอร์ในนาม Rap Against Dictatorship ที่ผลิตผลงานเพลง "ประเทศกูมี" ออกมา กับเนื้อหาสะท้อนสังคมที่พวกเขารู้สึก ตามมาด้วยการตรวจสอบของตำรวจ ปอท. ว่า เนื้อหาของเพลงดังกล่าวเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ กลายเป็นประเด็นที่ฮอตที่มีคนพูดถึงมากที่สุด ณ ขณะนี้ 

เราจึงถือโอกาสนี้ในการหยิบบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ ซึ่งเคยโพสต์ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

>> เปิดเบื้องหลังลบกราฟฟิตี้ ‘เสือดำถูกปิดเสียง’ ชี้ชัดเจ้าของผลงานไม่ได้ลบเอง

>> เปิดแคมเปญล่ารายชื่อ ค้าน "กทม." ฮุบ "หอศิลป์"

>> "ศรีวราห์" สั่งสอบเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" กังวลเนื้อหาสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

แน่นอนว่า “ถ้อยคำหรือภาพความรุนแรง” ที่เกิดจากงานศิลปะไม่ว่าแขนงใด หากส่อเค้าไปในเส้นทางที่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือหมิ่นประมาทบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสร้างความเดือดร้อนให้ใครก็ตาม ผู้เสียหายสามารถแจ้งความเอาผิดทางกฎหมายได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

กราฟฟิตี้

แต่ในอีกแง่มุม การที่ผู้มีอำนาจเปิดโอกาสให้ประชาชน “แสดงออกทางความคิดเห็นผ่านศิลปะอย่างเปิดกว้าง” และที่สำคัญ “รับฟัง” พวกเขาด้วยท่าทีอันจริงใจ ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่สังคมเมืองไทยจะก้าวไปอีกจุดอย่างสง่าผ่าเผย

เพียงแค่ในตอนนี้ ศิลปะในเมืองไทยไม่ว่าจะรูปแบบไหน ยังคงอยู่ในพื้นที่จำกัด ยิ่งหากข้อความที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารนั้นค่อนข้างหมิ่นเหม่ ยิ่งต้องสูดลมหายใจอยู่ในซอกหลืบเล็กๆ เพียงเท่านั้น

ยังจำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ได้ไหมล่ะ? ผ่านมาเกือบ 6 ปี หนังเรื่องนี้ก็ยังถูกเก็บเข้ากรุ ไม่ได้รับการอนุมัติให้ออกฉายแต่อย่างใด

โรงภาพยนตร์ลิโด ที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน

ศิลปะ คือผลงานที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเหล่าศิลปิน ที่ล้วนอยากจะแสดงออกให้ผู้อื่นได้พบเห็นและรับรู้ ศิลปะอาจมอบความสุนทรียภาพ ความรื่นรมย์ หรือแม้แต่ความสะเทือนใจให้ผู้เสพงานได้เสมอ ต่างคน ต่างความคิด ต่างประสบการณ์ งานศิลปะ 1 ชิ้นสามารถแตกแขนงความคิดเห็นได้หลากหลายไม่จำกัดจำนวน

>> โฆษกเผย รัฐบาลเสียใจเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" ชี้ทำประเทศเสียหาย

ในเมืองนอกเมืองนาหลากหลายประเทศ อิสรภาพและเสรีในการเผยแพร่ผลงานศิลปะค่อนข้างเป็นไปอย่างราบรื่น ศิลปินมีพื้นที่ในการแสดงออกแนวคิดแบบไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม วัฒนธรรม หากจะอธิบายให้เห็นภาพ ลองนึกถึงจำนวนสตูดิโอแกลเลอรี่ตามประเทศต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวมุมตึก

แล้วในเมืองไทยล่ะ มีแกลเลอรี่อยู่สักกี่ที่เชียว?

ภาพบรรยากาศของ เขาใหญ่ อาร์ต มิวเซียม จ.นครราชสีมา

แน่นอนว่าการพัฒนาปัจจัยต่างๆ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของประเทศก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่คำถามก็คือ เราจำเป็นต้องเบียดเบียนสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ศิลปะด้านต่างๆ ด้วยหรือ?

ห้างสรรพสินค้าอาจเป็นแหล่งสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ จากบรรดานักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่โปรดปรานการช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ แต่เราจำเป็นต้องรื้อถอนโรงภาพยนตร์ที่สร้างคุโณปการ สร้างความแตกต่าง เป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับคอหนังที่อาจต้องการชมภาพยนตร์ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักอย่างเช่น ลิโด้ เชียวหรือ?

>> กลุ่มแร็ปเปอร์ "ประเทศกูมี" แจงแค่อยากสะท้อนสังคม ตกใจ "ศรีวราห์" ได้ฟัง

>> “Rap Against Dictatorship” แก๊งฮิปฮอปกลุ่มใหม่ สาดใส่ความรู้สึกต่อสังคมกับ “ประเทศกูมี”

หากหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ต้องไปอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว จะมีการรับประกันไหมว่า กิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกในประเด็นทางสังคมหรือการเมืองมาตลอด 10 ปี จะยังคงอยู่?

หากการที่วงดนตรีพังก์วงหนึ่ง หรือกลุ่มแร็ปเปอร์สักกลุ่ม ขีดเขียนเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง อาจมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง เปล่งเสียงอย่างตรงไปตรงมา ทว่าก็เป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกอย่างแท้จริง ไม่ต้องเฟคสร้างเรื่องราว เพื่อให้เกิดการถกเถียงทางสังคม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นั่นคือสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมของวงดนตรีวงดังกล่าวและกลุ่มแร็ปเปอร์กลุ่มนั้นใช่หรือไม่?

วงดนตรีพังก์ ที่ใครหลายคนมองว่าสร้างความรุนแรง

สิทธิและเสรีภาพในประเทศไทยเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาช้านาน ว่าอันที่จริงแล้วประเทศที่ได้ชื่อว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างบ้านเรานั้น ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะพูดในสิ่งที่พวกเขาอยากจะพูดมากแค่ไหน?

แล้วในกรณีที่อาจไม่ได้เอ่ยผ่านปากและคำพูด แต่ใจความสำคัญกลับแฝงซ่อนตัวไว้ในผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ล่ะ พวกเขา (หรือพวกเรา) มีสิทธิ์ที่จะกระทำอย่างแท้จริงหรือเปล่า?

คำถามต่างๆ เหล่านี้อาจยังคงไร้ซึ่งคำตอบที่แน่ชัด (และไม่รู้ว่าจะมีคำตอบด้วยหรือไม่) แต่เมื่อได้ยินได้ฟังข่าวคราวในช่วงนี้ก็โกหกตัวเองไม่ได้เลยว่า ศิลปะในเมืองไทยมันช่างดูสิ้นหวังเสียเหลือเกิน

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ศิลปะในไทยก็ยังถูกปิดปาก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook