เสี่ยงทางการเมือง ฉุดให้ศก.ไทย หดตัวร้อยละ 3.5-6.0

เสี่ยงทางการเมือง ฉุดให้ศก.ไทย หดตัวร้อยละ 3.5-6.0

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่าเนื่องจากเหตุการณ์การเผชิญหน้าทางการเมืองที่เริ่มต้นตึงเครียดตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2552 ที่มีการชุมนุมปิดกั้นการจราจรหลายจุดในกรุงเทพมหานคร และลุกลามบานปลายจนนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นจลาจลในช่วงระหว่างวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ รวมทั้งยังเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงอยู่แล้วจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลก แม้ว่าในขณะนี้เหตุการณ์ความวุ่นวายและการชุมนุมได้ยุติลงแล้ว แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่หมดไปและยังหาทางออกไม่ได้นี้ จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความสูญเสียดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2552 หดตัวลงมากกว่าร้อยละ 7.0 ซึ่งเป็นอัตราติดลบที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสที่ 4/2551 และจากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจีดีพีจะหดตัวร้อยละ 4.5-6.0ในไตรมาสที่ 1/2552 โดยเป็นผลมาจากรายได้การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่ลดลง ตลอดจนเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์หดหายไป นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในด้านการลงทุนที่มีการชะลอออกไปในภาวะที่สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองยังมีความไม่แน่นอน

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมตลอดทั้งปีนั้น ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2552 นี้ว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.5-3.5 แต่หลังจากที่ได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งผลที่มีต่อภาคการท่องเที่ยว การลงทุน การใช้จ่ายของผู้บริโภค และผลในด้านอื่นๆ แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มีแนวโน้มที่ต่ำลงกว่าคาดการณ์เดิมอีกประมาณร้อยละ 2.0-3.0 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีในปีนี้หดตัวลงประมาณร้อยละ 3.5-6.0 โดยภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 50,000-100,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนอาจจะลดลงอีกประมาณ 34,000-100,000 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจชะลอการลงทุนออกไปอีก

ขณะที่การลงทุนของภาครัฐอาจมีความคืบหน้าล่าช้าออกไปเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเป็นปกติ สำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภค น่าจะได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นจากความเชื่อมั่นที่ลดต่ำลง และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลผลักดันออกมาถูกลบล้างไป เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมากกว่าที่เคยคาดไว้

นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก รวมทั้งยังส่งผลในทางลบต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในหลักทรัพย์ของไทย ซึ่งปัจจัยทั้งสองประการนี้จะมีผลต่อเนื่องไปสู่ต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลและภาคเอกชนไทย นอกจากนี้ ค่าเงินบาทอาจจะถูกกดดันให้อ่อนค่าลง จากฐานะดุลการชำระเงินที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง

ทั้งนี้ ปัจจัยทางการเมืองยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่ประมาณการไว้นี้ หากมีเหตุการณ์ความรุนแรงดังเช่นการปิดสนามบินหรือการจลาจลในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก ขณะที่ปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังมานานหลายปีกำลังค่อยๆ กัดกร่อนโครงสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยลงทุกขณะ และฉุดประเทศไทยให้ถอยหลังสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หากวิกฤตทางการเมืองยังคงฝังแน่นอยู่ภายในสังคมไทยต่อไป จะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook