หอพักสีขาว-ดูแลนิสิตนศ.ดั่งลูกหนึ่งในภารกิจสถาบันการศึกษา

หอพักสีขาว-ดูแลนิสิตนศ.ดั่งลูกหนึ่งในภารกิจสถาบันการศึกษา

หอพักสีขาว-ดูแลนิสิตนศ.ดั่งลูกหนึ่งในภารกิจสถาบันการศึกษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องโดย  ชุลีพร อร่ามเนตร

หอพัก เปรียบเสมือนบ้านหลังที่2 ของนิสิตนักศึกษาแต่ใช่ว่าจะมีพ่อแม่ พี่น้องที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เกิด แต่เต็มไปด้วยผู้คนที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ปัญหาต่างๆ ย่อมมีเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นปีการศึกษา 2552 มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงปรับโฉมหอพักยุคใหม่ สร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้ปกครอง เริ่มด้วย มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ม.ร.) มหาวิทยาลัยเปิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศภายใต้การดูแลของ รศ.คิมไชยแสนสุข อธิการบดีม.ร.

ซึ่งนักศึกษารามฯส่วนใหญเป็นเด็กต่างจังหวัด หอพักเป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของพวกเขา ปีการศึกษานี้ ม.ร.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น เจ้าหน้าที่ พม. สำนักงานเขตบริเวณมหาวิทยาลัยทั้งรามฯ 1 และรามฯ2 (บางนา) เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ประกอบการ นักศึกษา จัดหอพักให้เป็นดั่งบ้าน รวมทั้งสร้างหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อรับรองมาตรฐานหอพัก และจัดลำดับหอพัก โดยการติดดาว สร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานมาเรียน

ดังนั้นหอพักที่ตั้งอยู่บริเวณม.ร.กว่า160 แห่งจึงต้องร่วมมือกันปฏิรูปหอพักให้ดูดี สะอาด เป็นระเบียบวินัย รักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าของหอพักดูแล ดั่งลูกหลานของตนเอง เพื่อลดความกังวลของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งทุกปี ม.ร.จะรับนักศึกษาประมาณ7 หมื่นคนแม้ว่าปีการศึกษานี้มีแนวโน้มว่านักศึกษาคงลดลง เหลือ 6 หมื่นกว่าคน แต่ม.ร.ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงต้องเน้นสร้างบรรยากาศการเรียนการสอน ผลิตหลักสูตรอันเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากรของประเทศ และพัฒนาหอพักรอบมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่

ขณะที่รศ.วินิจ โชติสว่าง อธิการบดีมทร.อีสาน บอกว่า นักศึกษากว่า50% ของ มทร.อีสานวิทยาเขตนครราชสีมา สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และสกลนคร ล้วนอาศัยอยู่หอพัก เช่น นศ.ชั้นปีที่1 ทุกคนต้องอยู่หอพักมหาวิทยาลัย ที่รองรับนักศึกษาชาย-หญิงหอละ 1,000 คนและมีมาตรการเข้มงวด ดูแลทางด้านความปลอดภัย และปลอดอบายมุข

ส่วนนศ.ตั้งแต่ชั้นปีที่2 เป็นต้นไปมทร.อีสานปล่อยอิสระแต่ไม่ได้ละเลยยังคงติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่พม.ดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวดรวมไปถึงมีอาจารย์ ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิต ปลูกฝังให้นักศึกษารักตนเอง รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหากกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

การดูแลนักศึกษาที่อาศัยอยู่หอพักเอกชนต้องยอมรับว่าห้ามปรามอะไรไม่ได้มาก จึงอยากให้นักศึกษาทุกคนรู้จักดูแลตนเอง คิดถึงอนาคต ในขณะที่เจ้าของหอพักต้องช่วยดูแลนักศึกษาดั่งคนในครอบครัว เพราะหากทุกๆ ฝ่ายช่วยเหลือกัน เชื่อว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักศึกษาจะลดลง

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) ที่มองว่าการแก้ปัญหาหอพักกลายเป็นแหล่งมั่วสุม ต้องให้เจ้าของหอพักเข้ามามีส่วนร่วม รศ.ดร.เสวียน เปรมประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต มน. กล่าวว่านักศึกษามน. 80% จะอาศัยอยู่หอพักทำ ให้มีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การอยู่เป็นคู่สามีภรรยา การมั่วสุม ดื่มเหล้า อบายมุข มหาวิทยาลัยจึงปรับรูปแบบกิจกรรมนิสิต เน้นสร้างความตระหนักเรื่องภัยสังคม เน้นการเข้าถึงนิสิต เพื่อรับทราบปัญหาของนิสิตอย่างแท้จริง และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน พร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการหอพักให้เข้ามาช่วยดูแลนักศึกษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองที่จะส่งลูกหลานมาเรียนที่มน.

นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับหอพักเอกชน ผู้นำชุมชนสร้างระบบคุ้มครองสวัสดิภาพนิสิต เน้นการทำงานเป็นทีมด้วยระบบเครือข่ายกับชุมชน คือ สร้างระบบการทำงานร่วมกัน แยกอาคารสำหรับชายและหญิง ดูแลนิสิตเสมือนเป็นผู้ปกครองให้ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน พร้อมสร้างระบบข้อมูลนิสิตแบบครบวงจร โดยมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดระบบข้อมูลนิสิตมน.ใหม่ตั้งแต่เข้าชั้นปีที่ 1 จนกระทั่งจบการศึกษาเพื่อให้ผู้ปกครองสบายใจ และได้ทราบว่านิสิตพักอยู่ที่ใด

ขณะที่รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เล่าว่าส่วนใหญ่นักศึกษาม.อ.อาศัยอยู่หอพักทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยจึงมีมาตรการในการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวด ส่วนการอยู่กินกันเป็นคู่ๆ ของนักศึกษาในหอพักเอกชน ต้องยอมรับว่ามีอยู่บ้าง มหาวิทยาลัยพยายามปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกไม่ให้นักศึกษากระทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโทษแก่ตนเองและสังคม ตอนนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไป และนักศึกษามีอิสระทางความคิด การบีบบังคับไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้

จะเห็นได้ว่าหอพักสถาบัน การศึกษาหลายแห่งไม่เพียงพอรองรับนักศึกษาอย่างเช่นที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่รับนักศึกษาปีละประมาณ 5,500-6,000 คนขณะที่หอพักรับนักศึกษาได้ประมาณ 1,400 คนจึงต้องทำโครงการร่วมมือกับผู้ประกอบการหอพักเอกชนให้ช่วยสอดส่องดูแลนักศึกษาร่วมกัน รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดีสจล.กล่าวว่า สถาบันจะเพิ่มจำนวนหอพัก โดยขณะนี้กำลังเจรจากับภาคเอกชนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน แต่ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมงกล้องวงจรปิด ค่าเช่าต้องอยู่ในราคาที่นักศึกษารับได้และเอกชนผู้ลงทุนอยู่ได้ และภายในเดือนเมษายนนี้จะใช้ระบบคีย์การ์ดผ่านเข้าออกหอพักทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา

หอพัก ไม่ได้เป็นเพียงที่พัก ที่อยู่อาศัย การที่เจ้าของหอพัก มหาวิทยาลัยร่วมกันดูแลนิสิตนักศึกษาดั่งลูกหลาน ให้ความอุ่นใจ อบอุ่น เสมือนอยู่ในบ้านของตนเอง เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้น้อยลงได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook