สแกนกรรมประเทศเดินหลงลงเหว

สแกนกรรมประเทศเดินหลงลงเหว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คนรับผิดชอบไม่ใช่ใครคนไทยนั้นเอง จบสิ้นแล้ว! ชื่อเสียงประเทศไทย ที่เคยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่ต้องการเข้ามาค้าขาย มาลงทุน หรือแม้แต่การต้องการเดินทางมาเที่ยวชม สัมผัสประเพณี วัฒนธรรม ที่มีมานานและเป็นมนต์เสน่ห์แห่งการท่องเที่ยว แต่มาวันนี้...สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกจากการกระทำของกลุ่มเสื้อแดงทำให้มนต์เสน่ห์เหล่านั้นพังย่อยยับ เพราะสายตาของนักลงทุนต่างชาติแสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่เหลือความเชื่อมั่นให้กับไทยอีกต่อไป บรรดาสถาบันชั้นนำของโลกทั้ง เอส แอนด์พี หรือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ได้ลดระดับความน่าเชื่อถือของเงินบาทลงจากระดับ A-มาอยู่ที่ A พร้อมระบุว่า ภาพรวมความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับติดลบ บ่งชี้ว่าอาจต้องปรับระดับลดลงอีกครั้ง ขณะที่ระดับความน่าเชื่อถือเงินตราต่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับเดิมที่ BBB+ ทว่าภาพรวมความน่าเชื่อถืออยู่ในด้านลบ เพราะเหตุวุ่นวายจากกลุ่มเสื้อแดงได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนลงอย่างมาก

เช่นเดียวกับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ เตรียมที่จะลดระดับความน่าเชื่อถือของไทยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ BBB+ เนื่องจากเสถียรภาพที่สั่นคลอนลงจากเหตุวุ่นวาย ส่วนภาพรวมปรับอยู่ในระดับติดลบตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2551 ขณะที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ออกโรงเตือนว่า วิกฤติการเมืองอาจทำให้เศรษฐกิจไทยยิ่งชะลอตัวลงไปอีก จากที่เคยคาดว่าจะหดตัวลง 2% หากความไร้เสถียรภาพทางสังคมยังคงยืดเยื้อต่อไป

เพราะวิกฤตินี้ได้คุกคามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมถึงการลงทุน เนื่องจากภาคธุรกิจไม่มั่นใจที่จะใช้จ่าย ขณะที่การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ทั้ง 6 ประเทศ มีความสำคัญถึงขั้นที่ช่วยกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ เพราะผู้นำเอเชียอาจมีการตัดสินใจที่เป็นรูปธรรมในการผลักดันกองทุนมาตรการ ริเริ่มที่เชียงใหม่ หรือซีเอ็มไอ ที่จะขยายวงเงินเป็น 120,000 สหรัฐ กลับถูกทำลายจนกระเจิดกระเจิง

การที่ต่างประเทศออกมาตอกย้ำถึงผลของความอัปยศที่เกิดขึ้น ทำให้มองไม่เห็นว่าทางออกในขณะนี้จะเดินหน้าแก้ตัวหรือสร้างหน้ากับนานาชาติอย่างไร ต้องเสียเงินอีกมากน้อยเท่าใด หรือต้องเสียเวลาอีกนานเท่าใด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ฟื้นฟูประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว เริ่มกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจกันอีก

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมอีก 116,700 ล้านบาท ภายใต้โครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหน่วยงานี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง พาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต่างออกเดินสายโรดโชว์ เพราะหวังว่าจะช่วยดึงดูดให้นักลงทุน นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น

ควบคู่ไปกับการ ดูแลเศรษฐกิจในประเทศที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ผ่านโครงการ ฟ้าสดใส คนไทยยิ้มได้ ขณะที่การกระตุ้นการส่งออกแม้จะยังไม่ได้รับงบประมาณที่ชัดเจน แต่ได้นำงบประมาณของกรมส่งเสริมการส่งออก 2,900 ล้านบาท มาเขย่าจัดสรรใหม่ ผ่าน 5 มาตรการแก้วิกฤติการส่งออก เพื่อหวังให้การส่งออกในปีนี้เติบโตได้ให้มากที่สุด

ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลวางเป้าหมายให้สร้างรายได้ทดแทนรายได้ที่หายไปจากการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงแต่มาวันนี้ผลจากการแตกแยกของคนไทยด้วยกันเองได้ทำลายบรรยากาศ ทั้งที่อยู่ในช่วงของเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่สามารถสร้างรายได้และเพิ่มการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนนับแสนล้านบาทในแต่ละปี ก็มีอันต้องพังยับเยิน

ความเสียหายครั้งนี้ฆถือว่ามหาศาลเพราะอย่างน้อยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปจากนักท่องเที่ยวมีไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท และหากยังไม่สามารถเร่งกู้ภาพลักษณ์คืนมาให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 53 ภาคธุรกิจการบริการและท่องเที่ยวจะยิ่งทรุดหนักลงไปอีก นั่นหมายความว่าเลือดกำลังจะไหลหมดตัว เพราะคงไม่สามารถปฏิเสธการตกงานที่จะมีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณได้ และเมื่อถึงเวลานั้น ทุกอย่างคง หายนะ

สิ่งที่รัฐบาลจะกู้เศรษฐกิจคืนมาได้มากน้อยเพียงใดแล้วจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ว่าเงินงบประมาณที่ทุ่ม เทลงไปจะประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตได้ที่ 1% หรือไม่ ในด้านความรู้สึกของภาคเอกชน-นักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องต่างสะท้อนให้เห็นในทิศทางเดียวกันว่า การเมืองที่ไม่นิ่งถ่วงความเจริญของชาติ

ทั้ง ก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่เชื่อว่า ความวุ่นวายของการเมืองไทย เป็นตัวถ่วงการพัฒนาประเทศในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม ที่สำคัญยังกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน เห็นได้ว่าเวลานี้ภาคลงทุนของเอกชนได้หดหายไปหมด ทั้งการลงทุนโดยตรงหรือเอฟดีไอ และนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย แม้จะมีเรื่องของเศรษฐกิจโลกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สำหรับไทยแล้วถือว่าถูกมรสุมถึง 2 ลูก

ขณะที่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การเมืองต้องนิ่ง เพื่อทำให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำได้ง่ายขึ้นะทุกอย่างเดินได้รวดเร็ว ส่วนประธานกรรมการหอการค้าไทยอย่าง ดุสิต นนทะนาคร สะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากแล้ว ดังนั้นบุคคลที่เป็นต้นเหตุของการบั่นทอนควรใช้สติทบทวนและไตร่ตรองโดยรอบคอบต้องมองถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ เช่นเดียวกับ สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ให้ทัศนคติว่า การชุมนุมสร้างความเสียหายให้กับประเทศและไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

ด้านนักวิชาการอย่าง สมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ระบุชัดเจนเช่นเดียวกัน กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับคือปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ แยกกันไม่ออก รัฐบาลต้องให้น้ำหนักเหมือนกับเหรียญสองด้าน

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่ยุติ เพราะต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ แต่ถูกลดความน่าเชื่อถือลงไปมากแล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องฟอร์มทีมขึ้นมารับมือกับการเมืองทั้งในและนอกสภา และรัฐบาลควรรับข้อเสนอเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยให้บุคคลที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย มาร่วมกันปฏิรูปการเมืองให้เป็นที่ยอมรับ ส่วน สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า รัฐบาล ต้องเชิญองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้า มาร่วมตรวจสอบความโปร่งใสของการสลายการชุมนุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยภายในประเทศให้กับต่างชาติรับรู้ด้วย

แม้ว่าการชุมนุมได้ถูกสลายไปแล้วแต่เป็นเพียง ยกแรก ของการทำงานของรัฐบาลเท่านั้น เพราะยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงหลงเหลือในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิกฤติสำคัญของสังคมไทยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ายังเต็มไปด้วยความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ร้าวลึกเป็นบาดแผล เป็นปัญหาโครงสร้างที่ยากต่อการเยียวยา ซึ่งเป็นภาระหนักที่นายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ไข ไม่เช่นนั้น คนไทยทั้งประเทศต้องกลายเป็น แพะรับบาป. ทีมข่าวเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook