รับน้องต้องไม่มี SOTUS! ฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมจำนนต่อระบอบ “อำนาจนิยม”

รับน้องต้องไม่มี SOTUS! ฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมจำนนต่อระบอบ “อำนาจนิยม”

รับน้องต้องไม่มี SOTUS! ฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมจำนนต่อระบอบ “อำนาจนิยม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงรับน้องของทุกปีถือเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วในความคิดของสังคมไทย จนอาจเรียกว่าเป็นความเคยชินอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม แต่สำหรับนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง กรรมการบริหาร (ว่าที่) พรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ และอดีตสต๊าฟว้าก สาธิต มช รุ่น 38 ความรุนแรงและการล่วงละเมิดเหล่านี้กลับมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นานา (หนึ่งในผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรับน้องของเครือข่าย New Gen Network) ได้เปิดเผยว่ามันคือผลลัพธ์จากกระบวนการต่อสู้และต่อรองอย่างยาวนานระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับสังคมไทยส่วนหนึ่งซึ่งยังคงยึดติดอยู่กับค่านิยมโบราณที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชน

สิ่งที่สังคมมักจะเข้าใจแต่เพียงผิวเผินนั่นก็คือ SOTUS ไม่ใช่แค่กระบวนการที่ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมและชี้นำรุ่นน้องในช่วงรับน้องเท่านั้น แต่อีกนัยหนึ่งมันคือภาพสะท้อนของแนวคิดแบบ “อำนาจนิยม” ที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างช้านาน ในความคิดของนานาและเหล่าคนรุ่นใหม่ในสังคม นี่คือต้นตอของปัญหาที่ส่งผลต่อวิธีคิดและอัตลักษณ์ของวัยรุ่น การต่อต้านระบอบ SOTUS สำหรับพวกเขาแล้วจึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการรับน้องแต่เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากำลังต่อสู้กับภาพแทนของ “ระบบคิด” ของสังคมที่มองข้ามความเห็นของคนรุ่นใหม่และโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เพื่อจะทำความเข้าใจกับความเสื่อมถอยและความเฟื่องฟูของ SOTUS ที่ยังคงมีอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย Sanook! News จะพาผู้อ่านทุกคนไปสำรวจโลกของการรับน้อง ความเป็นการเมืองกับความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ และทัศนะของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า - เหล่า “เด็กดื้อ” ทั้งหลายที่กล้าที่จะออกมาบอกผู้ใหญ่ว่าสังคมแบบไหนคือสังคมที่พวกเขาต้องการ!

>> ชาวเน็ตจวกยับ รุ่นพี่ ม.ราชภัฏดังรับน้องพิเรนทร์ สั่ง “จูบก้น” แนะนำสายรหัส

>> รับน้องพิเรนทร์ จูบปากป้อนลูกอม! ม.ดังปัดตอบ ฉะเพจแฉล้ำสิทธิ ทำโดนโจมตี

SOTUS จากจุดเริ่มต้นในโรงเรียนสู่การเป็น “อุดมการณ์” ของรัฐชาติ

SOTUS เป็นแนวคิดที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติของคณะราษฎร เมื่อปี พ.ศ. 2475 จากข้อมูลที่ได้จากงานเสวนา "รับน้องต้องสมัครใจ ไม่ละเมิด เปิดเผย" โดย New Gen Network ระบุว่า SOTUS นั้นเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2405 โดยเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมดูแลนักเรียนจำนวนมากในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในขณะนั้น ครูจะมีสิทธิ์ในการคัดเลือกนักเรียนส่วนหนึ่งมาเป็นผู้ช่วยครูและทำหน้าที่เป็น หัวหน้านักเรียน (Prefect) นักเรียนกลุ่มนี้จะมีหน้าที่ในการดูแลและควบคุมนักเรียนที่เหลือ จนเมื่อปี พ.ศ. 2481 รัฐได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้มากขึ้นเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

การต่อสู้กับโลกภายนอกทำให้รัฐไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จำเป็นต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า อัตลักษณ์ร่วมของคนในชาติ รัฐออกมากำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่คนในชาติควรหรือไม่ควรทำ มีการกำหนดบุคลิกภาพ การกิน การแต่งกาย วัฒนธรรมของสังคม มีการออกประกาศ 12 ฉบับ ว่าด้วยคนไทยที่ดีควรจะเป็นอย่างไรตามแบบของรัฐไทยนิยม ในทัศนะของนานา ทั้งหมดนี้ถือเป็นการใช้อำนาจเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันโดยใช้วิธีลดทอนความเป็นปัจเจกของบุคคล จุดนี้เองที่แนวคิดแบบอำนาจนิยมซึ่งเป็นร่มใหญ่ของระบบ SOTUS ได้กลืนกลายจนเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ของรัฐไทยอันส่งผลต่อความคิดของชนชั้นปกครองในยุคต่อๆ มา

ความโน้มเอียงต่ออุดมการณ์ความคิดนี้ถูกประกาศอย่างเด่นชัดอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2496 จากกรณีของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักศึกษาผู้ที่เกิดมาก่อนกาล (ผู้ที่มีความคิดก้าวหน้ากว่าคนในยุคเดียวกันและต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจพอที่จะยอมรับ) ซึ่งได้มีการออกหนังสือมาเพื่อตั้งคำถามต่อระบบ SOTUS ที่เข้มแข็ง ทว่าจิตรกลับโดนนักศึกษาร่วมสถาบันโยนบก และกลายเป็นฝ่ายที่ต้องถูกลงโทษโดยมหาวิทยาลัยซึ่งกล่าวหาว่า เขามีแนวคิดโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้าย (ขณะนั้น แนวความคิดแบบคอมมิวนิสต์คือสิ่งที่ถูกต่อต้านเป็นอย่างมาก) ในขณะที่ฝ่ายกระทำการกลับไม่โดนลงโทษอะไรเลย จากการตีความของนานาในงานเสวนาที่ผ่านมานั้น นี่คือการแสดงจุดยืนของชนชั้นนำไทยผ่านคำตัดสินของมหาวิทยาลัยรัฐที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุด ที่เลือกที่จะไม่โอนอ่อนให้กับอุดมการณ์ทางความคิดแบบอื่นที่ขัดไปจากสิ่งที่พวกเขาเชื่อถือ

ถึงจะเป็นเช่นนั้น ทั้ง SOTUS การรับน้อง และอุดมการณ์แบบอำนาจนิยม ทั้งสามสิ่งล้วนเคยถูกท้าทายและเกือบที่จะหายไปจากสังคมไทย แม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ทว่าเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงก่อนหน้าและหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ “บันทึก 6 ตุลา” เกิดกลุ่มและพรรคนักศึกษาหัวก้าวหน้าในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีการยกเลิกการรับน้องอย่างค่อยเป็นค่อยไป (โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแห่งสุดท้ายที่ยกเลิกในปี 2519) อย่างไรก็ตาม หลังจากความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 รัฐไทยได้ทำการรื้อฟื้นการรับน้องขึ้นมาใช้อีกครั้งเพื่อควบคุมนักศึกษาใหม่ให้อยู่ในกรอบของรุ่นพี่ ซึ่งมีบุคลากรมหาวิทยาลัยและรัฐกำกับควบคุมอีกต่อหนึ่ง ระบบการรับน้องจึงมีความชอบธรรมได้เพราะการค้ำจุนของรัฐในนามของสถาบันการศึกษา และนี่คือมรดกที่ถูกสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน (อ้างอิงข้อมูลจากไทม์ไลน์บนเว็บไซต์ newgen.thefuturewewant.today)

SOTUS + รับน้อง = สูตรสำเร็จสู่การเป็นนักศึกษา

การรับน้องระบบ SOTUS ในอดีต จะมี “รูปแบบ” และลักษณะคล้ายกับ “พิธีกรรม” ที่ทำสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น นี่คือข้อมูลที่ Sanook! News ได้จากการสอบถามอดีตนักศึกษาและ “เฮดว้าก” ของมหาวิทยาลัยรัฐระดับต้นๆ หลายมหาวิทยาลัย ในทัศนะของนานา เธอมองว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนการรับน้องในระบบ SOTUS ส่วนใหญ่มักจะวางกระบวนการรับน้องไว้ในฐานะที่เป็นพิธีกรรมในการเปลี่ยนผ่าน (Rite of passage) ซึ่งอาจจะมีไว้เพื่อสร้าง อัตลักษณ์ และความ ศักดิ์สิทธิ์ ให้กับมหาวิทยาลัย

นานาชี้ให้เราเห็นถึงข้อแตกต่างอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ในหลายมหาวิทยาลัย แม้จะไม่มีกระบวนการละเมิดเนื้อตัวเพื่อ “กล่อมเกลา” รุ่นน้อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นอยู่  สิ่งนั้นคือการกดดันทางอารมณ์ซึ่งสามารถทำได้หลายแบบเช่น เมื่อมีรุ่นน้องคนไหนที่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านหรือขัดขืน ทางรุ่นพี่จะใช้วิธีอย่างการเข้าประกบตัวแล้วพยายาม กล่อม ให้โอนอ่อนไปกับระบบ การให้รุ่นพี่หลายคนตะโกนเสียงดังเวลาที่น้องแสดงความคิดเห็นที่ต่อต้าน การกดดันเพื่อนร่วมรุ่นของคนที่ไม่เข้ารับน้องเพื่อให้เพื่อนๆ รวมตัวไปกดดันกันอีกต่อหนึ่ง การบีบให้รุ่นน้องต้องทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้ได้รุ่น

“เรามักจะได้ยินกระบวนการที่พวกรุ่นพี่ชอบพูดกันเวลารับน้อง นั่นก็คือ กระบวนการละลายพฤติกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่วางอยู่บนรากฐานของแนวคิดที่ว่า น้องปีหนึ่งมีความแตกต่างหลากหลายกันไป จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการบางอย่างเพื่อช่วยให้ปีหนึ่งทุกคนมีความกลมเกลียว สามารถอยู่ร่วมกันได้ และไม่ปีนเกลียวรุ่นพี่ วิธีคิดแบบนี้มันสะท้อนออกมาเลยว่า สังคมไทยไม่เคยเชื่อว่าคนเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์ เราจึงต้องมีกระบวนการบางอย่างที่ลดทอนความเป็นปัจเจกลง ที่มากไปกว่านั้น มันยังสะท้อนอีกว่า เด็กไทยนั้นไม่เคยถูกสอนให้เรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคนเลย  นั่นเป็นเพราะตั้งแต่ ม.ต้น จน ม.ปลาย พวกเขาไม่มีโอกาสในการพัฒนาอัตลักษณ์ความเป็นตัวเองใดๆ พอเข้ามหาลัยก็มาโดนห้ามโดยระบบ SOTUS อีก การที่จะอยู่รอดจนถึงปีสองได้ ก็มีแต่ต้องผลิตซ้ำการกดทับแบบเดิมต่อไปเป็นทอดๆ ยิ่งถ้าเป็นสังคมมหาลัยต่างจังหวัดที่นักศึกษาจำเป็นต้องพึ่งพากันและกัน การลุกขึ้นสู้กับระบบ SOTUS ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะการโดน ‘แบน’ นั้นเท่ากับเป็นการทำลายชีวิตตลอด 4 ปี” นานากล่าว

>> ศิษย์เก่าขอโทษแทน! รับน้องท่าอนาจาร เผยมหาวิทยาลัยเรียกตักเตือนแล้ว

>> แชร์ว่อนรับน้องพิเรนทร์ จับแก้ผ้าสีสเปรย์พ่นตัว ผอ.ยันภาพเก่า 10 ปีที่แล้ว

ANTI SOTUS

นัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ระบบ SOTUS ในมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งในปัจจุบันต้องถูกลดทอนคุณค่าลง ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะกระบวนการรับน้องที่ถูกทำให้เป็นกิจกรรมที่มีความเป็น “สาธารณะ” มากขึ้นจากที่เคยเป็นกิจกรรมภายในของมหาวิทยาลัย เหตุเพราะมีสื่อออนไลน์อย่างเพจ  ANTI SOTUS ที่คอยทำหน้าที่จับตาดู และคอยออกมาวิจารณ์ระบบการรับน้องอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีกลุ่มคนและเหล่าเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้

นานาชี้ว่า สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนระบบ SOTUS มักจะมีการยกคำพูดสุดฮิตอย่าง คนอื่นๆ ก็สามารถผ่านมาได้ ทำไมคุณจะผ่านไม่ได้? ถ้าแค่นี้ทนไม่ได้ เวลาออกไปเจอสังคมจริงๆ จะทนได้เหรอ?” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้บ่อยๆ นานาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ “แน่นอนว่าเด็กทุกคนสามารถทนได้กับระบบอำนาจนิยมที่มักจะอ้างความอาวุโสซึ่งเป็นคุณค่าหลักที่สังคมเชิดชู เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเราถูกสอนตลอดมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่คำถามที่ควรถามกลับก็คือ ทำไมพวกเราต้องทน? ตั้งแต่เด็ก พวกเราต้องทนกับการไม่เถียงครูเพราะกลัวโดนหักคะแนน ต้องทนอยู่ในระเบียบ ทนกับการตัดผมเกรียนและกฎยิบย่อย เด็กไทยถูกสอนให้ ทนเก่ง แต่พวกเขาไม่เคยเลยที่จะถูกสอนให้เรียนรู้ที่จะเคารพในความแตกต่างหลากหลายหรือถูกสอนให้มีความกล้าพอที่จะเถียงผู้ใหญ่ แม้ว่าจะเห็นความผิดพลาดและความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยแบบเต็มตา นี่คือความเจ็บปวดที่คนรุ่นใหม่ทุกยุคต้องเผชิญตลอดมาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่”

จงฟังเสียงของเรา!

ในฐานะที่เป็นตัวแทนของเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อนประเด็นสังคม นานายอมรับว่าการรับน้องถือเป็นวิธีการที่ดีวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้นักศึกษาปีหนึ่งได้เรียนรู้และทำความรู้จักกันและกัน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้รุ่นพี่ได้เข้ามามีส่วนช่วยแนะนำแนวทางในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ให้กับรุ่นน้อง สำหรับนานา การรับน้องที่ควรจะเป็นนั้นไม่ควรที่จะมีการนำระบบ SOTUS เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม แต่ควรจะเน้นในเรื่องของการเปิดพื้นที่ให้น้องใหม่แต่ละคนได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ไม่ลดทอนคุณค่าของใคร และไม่ขับใครออกเพียงเพราะเขาหรือเธอแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ นี่คือจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมในอุดมคติที่นานาและผองเพื่อนต่างพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มา

 ความสามัคคี นั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเกิดมาจากการโดนกดดันหรือการโดนกดขี่ร่วมกันเพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้เพื่อยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานของการเคารพและให้เกียรติผู้อื่นเช่นกัน เป็นเรื่องจริงที่การต่อสู้กับระบบ SOTUS นั้นยังไม่อาจสิ้นสุดลงได้ง่ายๆ ตราบใดที่ยังมีข่าวรุ่นน้องโดนซ้อมจนเสียชีวิตโผล่มาให้เห็นอยู่ทุกปี แต่เชื่อได้เลยว่า ตราบใดที่เด็กๆ เหล่านี้ยังกล้าที่จะส่งเสียงของพวกเขาอย่างไม่ลดละ ความเปลี่ยนแปลงและความหวังที่จะได้เห็นสังคมที่ดีกว่าก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อมแต่อย่างใด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook