รัฐบาลเตรียมเข็น พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านเสนอสภาฯ พรุ่งนี้

รัฐบาลเตรียมเข็น พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านเสนอสภาฯ พรุ่งนี้

รัฐบาลเตรียมเข็น พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านเสนอสภาฯ พรุ่งนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวระหว่างการสัมมนาทางวิชาการ ว่าหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท และออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินอีก 4 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงินจึงได้ออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินในก้อนแรก เพื่อเสนอให้สภาฯ รับทราบวัตถุประสงค์การใช้เงินให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ค.) เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทำให้รายได้ภาษีของรัฐบาลจัดเก็บได้ในปี 52 ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 2.8 แสนล้านบาท ดังนั้นการกู้เงิน 4 แสนล้านบาทก้อนแรก แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.วงเงิน 2 แสนล้านบาทแรกจะเป็นการกู้เงินสมทบเงินงบประมาณปี 52 เพื่อนำเงินเข้าสู่เงินคงคลังชดเชยรายได้ที่หายไปให้มีเพียงพอต่อการใช้จ่าย ส่วนต่าง ๆ ของรัฐบาล 2. เป็นส่วนที่เหลืออีก 2 แสนล้านบาท จะนำไปใช้ในการลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 52

แม้ว่าการกู้เงินตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ กำหนดให้การกู้ในแต่ละปีต้องเป็นเงินไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณ บวกกับการกู้อีกร้อยละ 80 ของวงเงินต้นในการชำระหนี้ แต่กฎหมายก็เปิดทางให้ว่า เมื่อในยามวิกฤติเศรษฐกิจมีปัญหาฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก.กู้ในตลาดเพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆให้เพียงพอได้ ถึงแม้จะมีผู้ฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจงถึงความเป็นเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทได้ เพราะการกู้เงินเพื่อมาใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ไม่เหมือนกับ การกู้เงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ซึ่งเป็นการกู้มีเพื่อช่วยเหลือภาระให้กับสถาบันการเงินและล้างหนี้ส่วนต่าง ๆ แต่การกู้เงินในครั้งนี้เพื่อนำเงินไปลงทุนก่อสร้างผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อย 1.2 ล้านคน จากการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค รถไฟฟ้า สาธารณะสุข การศึกษา การกู้เงินดังกล่าวจึงมีความจำเป็นในขณะนี้

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า แนวทางการกู้เงินที่ถูกต้อง คือ 1.ต้องเป็นการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้ทันกับเหตุการณ์ในช่วงที่ เศรษฐกิจมีปัญหาตกต่ำจริงๆ ดังนั้นจึงต้องออกเป็น พ.ร.ก.ในการกู้เงิน เพราะหากออกเป็น พ.ร.บ. ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน อาจสร้างผลร้ายต่อเศรษฐกิจทำให้กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเป็นมาตรการระยะสั้น จึงได้กำหนดให้ การออก พ.ร.ก.และพ.ร.บ. ในการกู้เงินมีอายุเพียง 3 ปี จากนั้นคาดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ 3.การกู้เงินมาใช้ต้องมีเป้าหมายชัดเจน เช่น การลงทุนผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง จะนำไปใช้ผ่านโครงการต่าง ๆ มีผลต่อการพัฒนาสาธารณูปโภค 4.การกู้เงินมาใช้ในโครงการต่างๆ สามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส เพราะกฎหมายกำหนดให้รายงานต่อสภาถึงวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน ดังนั้นการใช้เงินผ่านโครงการต่างๆจึงตรวจสอบได้

"สถานการณ์ขณะนี้การกู้เงินต้องรีบทำ รีบใช้ เพราะรัฐบาลยังมีเครดิต ยังมีคนมั่นใจรัฐบาล และประเทศมีความเข้มแข็ง จึงเหมาะในการกู้เงินมาลงทุน แต่หากรอให้หมดตัว เงินคงคลังไม่เหลือ เศรษฐกิจย่ำแย่ มากู้เงินในช่วงนั้นคงไม่มีใครให้กู้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมหาเงินในช่วงที่ยังไม่หมดตัว" นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว

สำหรับการกู้เงินที่จะมีผลต่อภาระหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 61 ในปี 56 เป็นภาระที่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเป็นการกู้มาลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นการสร้างทุนและก่อให้เกิดผลต่อแทนกลับมาในอนาคต ทำให้รัฐบาลมีรายได้กลับคืนมาและคาดว่าในช่วงปี 57-58 รัฐบาลจะสามารถกลับมาจัดทำรายได้งบประมาณประจำปีแบบสมดุลได้ ดังนั้นจึงไม่น่ากังวลเมื่อเทียบกับภาระหนี้สาธารณะก่อนปี 40 ซึ่งมีอยู่เพียง 6 แสนล้านบาท และขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 60.8 ของจีดีพีในช่วงการกู้เงินแก้ปัญหาสถาบันการเงินและได้ลดลงมาต่อเนื่องเมื่อ เศรษฐกิจปรับดีขึ้น ลดลงเหลือร้อยละ 37 ของจีดีพีในปลายปี 51
และเมื่อ สภาเห็นชอบแล้ว กระทรวงการคลังน่าจะเริ่มขั้นตอนการกู้เงินได้ภายในเดือนมิถุนายน 52 โดยส่วนหนึ่งจะกู้ด้วยการออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป และอีกส่วนหนึ่งจะออกตราสารกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีสภาพคล่องอยู่เป็นจำนวนมาก ยอมรับว่าในช่วงที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรกู้เงินจากตลาด ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นมาในระดับหนึ่งในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับการกู้เงินระยะ 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6-7 ส่วนการกู้เงินระยะสั้น หากเป็นการกู้ของรัฐวิสาหกิจอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ส่วนของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมในการกู้เงินในขณะนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook