เจาะปัญหาการศึกษาไทยในโรงเรียน: เรื่องเล่าและการต่อสู้ของเหล่าครูชายขอบ

เจาะปัญหาการศึกษาไทยในโรงเรียน: เรื่องเล่าและการต่อสู้ของเหล่าครูชายขอบ

เจาะปัญหาการศึกษาไทยในโรงเรียน: เรื่องเล่าและการต่อสู้ของเหล่าครูชายขอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การศึกษาไทยไม่มีคุณภาพ เชื่อว่าบทสรุปนี้คงจะติดอยู่ในใจของใครหลายๆ คน เพราะมันถูกตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ ด้วยทั้งจากผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาในระดับโลก ข่าวคราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดนักเรียนที่ปรากฏหราบนสื่อทั่วไป และค่านิยมของผู้ปกครองจำนวนมากที่เลือกจะส่งบุตรหลานของตัวเองเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อเสียง เพราะไม่เชื่อมั่นว่าโรงเรียนรัฐบาลทั่วไปจะสามารถมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้ได้ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว “การศึกษาไทย” นั้นไร้คุณภาพอย่างที่คิดกันจริงๆ หรือ? และเหตุใดกันที่ทำให้การพัฒนาด้านการศึกษาของสังคมไทยต้องหยุดชะงัก?

สิ่งที่มักจะไม่ค่อยถูกพูดถึงนั่นก็คือ นโยบายการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนมาตลอดโดยไม่เคยหยุดนิ่ง ตัวกระทรวงศึกษาฯ เอง ไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาลไหน ต่างก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาเพื่อให้มีความเท่าทันโลกสมัยใหม่และมีความเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน ความพยายามครั้งล่าสุดถูกสะท้อนออกมาในแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 ซึ่งกินระยะเวลาครอบคลุมตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 – 2564 นอกจากจะเน้นในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว ยังมีการมุ่งเน้นที่จะพัฒนาในเรื่องของความเท่าเทียมและการตอบโจทย์ต่อบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ในแง่สิทธิมนุษยชน มีการออกระเบียบของกระทรวงว่าด้วยการลงโทษนักเรียนในปี พ.ศ.2548 เพื่อป้องกันไม่ให้ครูละเมิดเนื้อตัวนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตี ใครที่ฝ่าฝืนจะได้รับการลงโทษทางอาญา

แม้จะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ มีการปรับปรุงนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว Sanook! News พบว่าปัญหาเรื่องการศึกษาของไทยนั้นมีแง่มุมที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก และหลายครั้งเกี่ยวพันกับเรื่องของ “วิธีคิด” มากกว่าตัวเนื้อหาของหลักสูตร นี่คือข้อมูลที่เราได้จากการสัมภาษณ์ครูหัวขบถสามคนจากสามโรงเรียน – เหล่าครูนอกคอกในสายตาของครูด้วยกันเองที่ต้องการจะเปลี่ยนให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่นักเรียนและครูสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

อำนาจนิยมกับการผลิตซ้ำความรุนแรง

จากข้อมูลของฉัตรฑริกา มิ่งรักษา ครูประจำโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ฉัตรฑริกามองว่า แม้จะมีความพยายามของกระทรวงฯ ที่จะยกเลิกการลงโทษด้วยการละเมิดเนื้อตัวของนักเรียน อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงนี้ก็ไม่เคยหมดไป ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นเพราะวิธีคิดของสังคมด้วย “ในทางกฎหมาย ถึงจะมีการห้ามไม่ให้ตีนักเรียน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ปกครองบางคนก็ยังคอยย้ำกับเราว่า ครูลงโทษได้เลยนะ ครูตีได้เลยนะ เพราะเขายังคิดว่าการลงโทษด้วยการตีคือการลงโทษที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ในความคิดของเรา เราว่ามันมีการลงโทษนักเรียนวิธีอื่นที่ดีกว่าการทำร้ายกัน”

ในเชิงโครงสร้างมีการกำหนดบทลงโทษของการละเมิดเนื้อตัวของนักเรียนไว้อย่างชัดเจน ทว่าในทางปฏิบัติ หลายโรงเรียนในต่างจังหวัดก็ยังเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อกล่อมเกลานักเรียน นี่คือประสบการณ์ตรงของณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ ครูประจำโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กในต่างจังหวัด แหล่งรวมนักเรียนชายขอบของสังคมที่ไม่ได้มีฐานะ “ที่โรงเรียนนี้ นักเรียนยังคงถูกลงโทษด้วยการตีอยู่ คือครูทุกคนทำเหมือนกันหมด เขาทำกันมานาน ส่วนหนึ่งเรามองว่าเป็นเพราะบริบทของเด็กด้วย”

เมื่อลองวิเคราะห์ดูแล้ว รูปแบบความคิดอย่างหนึ่งที่ยังมีอิทธิพลอยู่มากในระบบการศึกษาและเป็นสิ่งที่มอบอำนาจให้ครูในการละเมิดนักเรียนทั้งทางกายและทางจิตใจนั่นก็คือ แนวคิดเรื่องอำนาจนิยม นี่คือข้อสรุปของธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์ ครูประจำโรงเรียนส่วนขยายของกรุงเทพฯขนาดกลาง “ถึงแม้จะไม่มีการตี แต่ครูก็ยังใช้คำพูดเพื่อทำร้ายจิตใจของนักเรียน มีการด่า ใช้คำหยาบ อย่างที่เราเจอกับตัวคือ มีนักเรียนที่เป็นทอม แล้วเขาไว้ผมสั้น พอครูมาเห็นก็เลยบังคับให้เขาใส่วิก เด็กก็มาร้องไห้กับเรา ที่เขาทำแบบนั้นนั่นเพราะตัวครูมองว่านั่นคือสิ่งที่เขาสามารถทำได้” อำนาจนิยมไม่ได้ส่งผลแค่กับเรื่องวิธีคิดของครูเท่านั้น แต่ในแง่หนึ่ง มันยังถูกส่งต่อในฐานะที่เป็นค่านิยมที่ครูส่วนใหญ่ควรจะยึดถือ ณัฐพงศ์กล่าวเสริม “ตอนที่เราเข้ามาเป็นครูแรกๆ เราเองก็เกือบจะหลงไปกับอำนาจที่ได้รับมาเหมือนกันเพราะสังคมรอบข้างพยายามที่จะหล่อหลอมให้เราเป็นแบบนั้น ในเชิงความสัมพันธ์ ผู้บริหาร ครู เด็ก ทุกอย่างถูกมองแบบเป็นลำดับชั้น แต่ละชั้นก็จะถูกสั่งให้เคารพคนที่อยู่ชั้นเหนือกว่า เด็กก้มให้ครู ครูก้มให้ผู้บริหาร”

การประเมินคุณภาพและวัดผลที่คลาดเคลื่อน

นอกเหนือจากเรื่องของแนวความคิดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากนั่นก็คือวิธีประเมินผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ของโรงเรียนที่ใช้เอกสารเป็นตัววัดหลักซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับครูและปิดกั้นโอกาสในการพัฒนารูปแบบการสอน ณัฐพงศ์ได้แบ่งปันเรื่องราวของเขา “ที่โรงเรียนเคยมีโครงการเรื่องโรงเรียนสีขาว หรือโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งเวลาที่ส่วนกลางประเมินผล เขาไม่ได้ลงมาดูว่าโรงเรียนทำได้จริงหรือเปล่า เขาแค่ดูเอกสารที่เราทำส่งไปให้เท่านั้น ซึ่งทุกอย่างมันสามารถเมคเอาได้ นอกจากงานสอนแล้ว ครูยังมีหน้าที่ต้องทำงานพวกนี้ด้วย” สิ่งนี้สอดคล้องกันกับมุมมองของธนา ซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพในการวัดผลสถานศึกษา “ในความเป็นจริง โรงเรียนไหนที่จัดการงานเอกสารได้ดี โรงเรียนนั้นก็จะได้รางวัล คือทุกอย่างวัดจากงานเอกสารหมด ไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ครูที่ดีในระบบการศึกษาไทยคือครูที่ทำงานเอกสารได้ดี สามารถทำตามตัวชี้วัดได้ ไม่ใช่ครูที่สอนเก่ง”

นอกจากเรื่องของงานเอกสารแล้ว อีกสิ่งที่ธนามองว่าเป็นปัญหาที่เข้มข้นไม่แพ้กันนั่นก็คือ หลักสูตรการศึกษาที่วัดคุณค่าของนักเรียนโดยดูจากผลการสอบเป็นหลัก “จริงๆ แล้วกระบวนการเรียนรู้มันเป็นกระบวนการสร้างคนที่ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง เราเลยตั้งคำถามว่า หรือสังคมควรจะเปลี่ยนวิธีคิดหรือเปล่า? จากที่ให้คุณค่ากับเด็กโดยมองแค่เรื่องของผลสอบ เรื่องของสติปัญญาเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจด้านอื่นเลย เราว่ามันเป็นการตัดสินที่ง่ายเกินไปว่ามนุษย์คนนี้ฉลาด โง่ รวย จน  ซึ่งความเป็นมนุษย์มันมีหลากหลายมากกว่านั้น แล้วมันส่งผลไปที่ตัวเด็กเพราะเขาเอาผลเหล่านี้ไปตัดสินชีวิตเด็ก”

ครูกับ “ความเป็นอื่น”

ทั้งสามยืนยันตรงกันว่า ในสังคมของครูด้วยกันเอง มีครูจำนวนไม่น้อยเลยที่พยายามจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบ ทว่าหลายคนก็ยังไม่พร้อมที่จะรับแรงต้านที่อาจตามมา “สำหรับตัวเราเอง เรามองว่าเราเท่ากันกับนักเรียน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร เด็กตำหนิเราได้ เราตำหนิเด็กได้บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ทว่าในความเป็นจริง ครูคนอื่นกลับมองว่าเราทำตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นครู” ฉัตรฑริกาเล่า ทั้งสามคนเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย ด้วยความที่มีมุมมองทางความคิดที่แตกต่างจากคนในระบบส่วนใหญ่ ทั้งสามจึงมักจะถูกครูคนอื่นมองว่าทำตัวไม่เหมาะสม เหตุเพราะไม่มีการแบ่งระยะห่างกับนักเรียนอย่างชัดเจน “สังคมครูพยายามปลูกฝังให้เราต้องอยู่เหนือเด็ก ซึ่งสำหรับเรา เราว่าทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นครูแบบในระบบเสมอไป แต่เราเชื่อว่าทุกคนควรจะสามารถเป็นครูได้ในแบบของตัวเอง เราอาจเล่นหัวกับเด็กบ้าง แต่เวลาที่จับไมค์สอน เด็กก็ฟังเรา ไม่ใช่เพราะเขากลัว แต่เพราะเขาเคารพเรา” ณัฐพงศ์กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกจำกัดโดยระบบการทำงาน ทั้งสามเล่าว่า จากที่ได้คุยกับครูที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน มีครูจำนวนมากที่กำลังพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเอง “ครูบางคนจะใช้วิธีการที่ play safe ที่สุด เพราะไม่อยากให้ตัวเองต้องเจ็บตัว ในแวดวงการศึกษา หากมีใครพยายามที่จะเปลี่ยนอะไรไปเลยแบบหน้ามือหลังมือ เขาคนนั้นจะโดนมองว่าเป็นคนก้าวร้าวและอาจต้องเจอกับแรงต้าน ซึ่งมันทำให้เราเห็นเลยว่า การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนโดยเหล่าครูตัวเล็กๆ มันมีข้อจำกัด มันไม่สามารถทำอย่างเถรตรงได้ ต้องเข้าทางผู้ใหญ่ เข้ากับระบบเพราะคิดว่าตัวเองน่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” ธนากล่าว ถึงจะมีความตั้งใจที่ดีในการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับเขาแล้ว ผลสะท้อนกลับจากสังคมรอบตัวกลับกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจเป็นอย่างมาก “เราเคยพูดว่า เนี่ย งานเอกสารบางงาน เราไม่ต้องไปทำมันหรอก เรามาทำงานสอนกันดีกว่า มาพัฒนาการสอนดีกว่าไหม เราเลยกลายเป็นคนแปลกแยกในหมู่ครูด้วยกัน สุดท้ายก็จบที่เราเป็นโรคซึมเศร้าเพราะโดนกดดันจากระบบและสังคมในโรงเรียน”

สิทธิมนุษยชน: หนทางสู่การสร้างความเท่าเทียมในโรงเรียน

จากข้อมูลที่ถูกเสนอโดยองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ในงานประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 แกนสำคัญที่กระทรวงศึกษาฯ ควรนำมาใช้ในการกำหนดกรอบความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนนั่นก็คือแนวคิดเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” กล่าวคือ การปฏิบัติต่อกันระหว่างครูและนักเรียนควรจะยืนอยู่บนพื้นฐานของการไม่ละเมิดเนื้อตัว ทางหน่วยงานได้เสนอสิ่งที่เรียกว่า “การสร้างวินัยเชิงบวก” ซึ่งเป็นการอบรมเด็กที่ส่งผลในด้านบวกมากกว่าการตี เน้นในการรับฟังเพื่อที่จะ “เข้าใจ” มากกว่าที่จะ “ตัดสิน” เพราะหากยังคงลงโทษด้วยความรุนแรง ในแง่หนึ่ง เท่ากับเป็นการปลูกฝังเด็กๆ ให้ยอมรับในการใช้ความรุนแรง

สำหรับธนาแล้ว การแก้ปัญหาการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิของนักเรียน ที่สำคัญคือ คนที่เป็นครูควรจะต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อนักเรียน ควรจะมองเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่งและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เข้าใจและเคารพโดยไม่ละเมิด “อย่างเวลาเจอเด็กที่เกเรจะต้องจัดการอย่างไร ง่ายที่สุดเลยก็แค่คุยกับเขา ถามเขา เข้าใจเขา ว่าที่มาเขาเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งตัดสิน ให้ลองเอาตัวเองไปยืนในจุดที่เด็กยืนอยู่” ณัฐพงศ์กล่าวเสริม อ้างอิงจากประสบการณ์ที่เคยขัดแย้งกับฝ่ายบริหารของโรงเรียน เขามองว่า “ความเข้าใจ” นี่แหละคือกุญแจสำคัญในการขจัดปมปัญหานี้

ความหวังที่ไม่เคยหรี่แสง

ในความคิดของครูทั้งสาม ระบบการศึกษาที่ดีไม่ควรจะเป็นระบบการศึกษาที่สร้างเด็กที่เชื่อฟังครูแบบหุ่นยนต์และควรจะมีทางเลือกทางการศึกษาที่หลากหลายให้กับนักเรียน ฉัตรฑริกายกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้ หลายโรงเรียนเริ่มมีแผนการเรียนที่หลากหลายมากขึ้น อย่างในโรงเรียนใหญ่ๆ มักจะมีการจัดห้องเรียนเฉพาะทางอย่างห้องดนตรี ห้องกีฬา ตามแต่ความสนใจของนักเรียน ในทัศนะของณัฐพงศ์ โอกาสทางด้านการศึกษาสำหรับครูและนักเรียนนั้นไม่ใช่สิ่งที่หาได้ยากอีกต่อไป เหตุเพราะมีสถาบันและมหาวิทยาลัยหลากหลายแห่งที่เข้ามาช่วยในแง่ของการอบรมเสริมความรู้ และนี่เองคือสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในวงการการศึกษา

แม้จะต้องเผชิญกับแรงต้านมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้พวกเขายืนหยัดอยู่ได้นั่นก็คือ “นักเรียน” แรงบันดาลใจและขุมพลังที่ช่วยขับเคลื่อนในยามที่ท้อ “เวลาเราได้สอนเด็ก เรารู้สึกภูมิใจนะที่ได้เห็นเขาพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังถ่ายทอด เขาสรุปของเขาได้ สร้างเป็นองค์ความรู้ของตัวเอง แล้วยิ่งเวลาที่เราได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ เวลาที่เราไปสอน สำหรับเรา มันเป็นความสุขที่บริสุทธิ์และจับต้องได้ เป็นความสุขระยะยาวที่หล่อเลี้ยงเรา ต่อให้เจอกับงานเอกสารมาทั้งวัน พอได้สอนสักสองคาบ เหมือนเราได้กำลังใจแล้วในวันนั้นๆ การที่เรามาทำงานอยู่ได้ทุกวันนั่นก็เพราะเราอยากที่จะเจอกับเด็กๆ และรอยยิ้มของพวกเขา” นี่คือความประทับใจของฉัตรฑริกา

ก่อนเราจะจากกันทีมงานของ Sanook! News ได้เปรยออกมาด้วยความสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เฉพาะในเรื่องของการศึกษา จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ น่ะหรือในสังคมไทย? ณัฐพงศ์ยิ้มก่อนจะตอบอย่างจริงจัง “ผมมองว่าการศึกษามันสามารถดีขึ้นได้ในชาตินี้แหละ มีคนอีกมากที่พยายามจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น เรายังไม่หมดหวังซะทีเดียวหรอก” แม้จะต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง แต่พวกเขาเชื่อว่ามันคุ้มแน่นอนกับสิ่งที่จะได้มา “เราคิดว่าการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ครูและนักเรียนเท่าเทียมกัน เคารพในสิทธิมนุษยชนมันก็เป็นประโยชน์กับตัวเราเองด้วย เพราะถ้าเราอยู่ในสังคมที่ดี ชีวิตเราก็จะดีไปด้วย” ธนาพูด

พวกเราแยกจากกันที่บริเวณด้านหน้าโรงหนังลิโด้ สยามสแควร์ หลังจากโบกมือลากัน ทั้งสามค่อยๆ เดินห่างออกไป ใบหน้าเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แม้ว่าเพิ่งจะผ่านการคุยประเด็นสุดซีเรียสกันมา

ตราบใดที่ครูตัวเล็กๆ อย่างพวกเขายังมีหวัง เชื่อว่าสังคมจะต้องได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ในอนาคต…

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook