ศิริราช ส่องกล้อง ผ่าตัดแยก เด็กแฝด

ศิริราช ส่องกล้อง ผ่าตัดแยก เด็กแฝด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศิริราชเจ๋ง ส่องกล้องผ่า ตัดรักษาแฝด ในครรภ์แก้ไขหลอดเลือดที่รกผิดปกติสำเร็จเป็นแห่งแรกในไทยและในอาเซียน หลังแม่ตั้งท้องพบอาการผิดปกติ มีโอกาสเกิด 6 ในหมื่นคน ช่วยชีวิตเด็กแฝดไข่ใบเดียวกัน น้องเจเจ-บีบี รอด ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เตรียมต่อยอดพัฒนาใช้วิธีเดียวกันรักษาแฝดในครรภ์แบบกาฝากและทารกในครรภ์ที่กระดูสันหลัง และไส้เลื่อนกระบังลมพิการ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 พ.ค. ที่ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช น.พ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นประธานแถลงข่าว ศิริราชส่องกล้องรักษาแฝดในครรภ์แก้ไขหลอดเลือดที่รกผิดปกติ สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีน.พ.ชาญชัย วันทนาศิริ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รศ.น.พ.วิทยา ถิฐาพันธ์ หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ น.พ.ตวงสิทธิ์ วัฒนนารา แพทย์ผู้ผ่าตัด และผศ.น.พ.อนุวัฒน์ สุตัณฑวิบูลย์ แพทย์ผู้รับผิดชอบการตั้งครรภ์ และนางญาณี โพธิบัวทอง อายุ 41 ปี ที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาแฝดในครรภ์แก้ไขหลอดเลือดที่รกผิดปกติ ซึ่งมาพร้อมบุตรชายแฝดทั้ง 2 คน คือ ด.ช.กฤตาณัฐ หรือน้องเจเจ และด.ช.ณัฐกฤตา หรือน้องบีบี อายุ 2 เดือน 11 วัน

รศ.น.พ.วิทยา กล่าวว่า การตั้งครรภ์แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน จากอุบัติการณ์ที่พบสามารถเกิดขึ้นได้ 4 คน ใน 1 พันคน และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย เป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งมารดาและทารกในครรภ์ เช่น หากไข่แบ่งตัวได้ไม่ดี ทำให้ทารกตัวติดกันหรือต้องใช้อวัยวะร่วมกัน หรือการเชื่อมต่อของหลอดเลือดระหว่างทารก ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่าโรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด (twin to twin transfusion syndrome) โดยโรคนี้จะทำให้เด็กที่ได้รับเลือดมากกว่าจะตัวโตกว่าเด็กที่ถ่ายเลือดไป ซึ่งทำให้เด็กตัวเล็กผิดปกติ ซีด โดยอาจเกิดขึ้น 6 คน ใน 1 หมื่นคน

รศ.น.พ.วิทยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการดูแลเด็กในครรภ์ แพทย์ใช้วิธีการรอให้เด็กในภรรค์โตขึ้น เพื่อจะผ่าออกเมื่อถึงเวลา เพื่อไม่ให้เด็กเสียชีวิตทั้งคู่ แต่เด็กจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง ปัจจุบันแพทย์สามารถใช้กล้องส่องตรวจทารกในครรภ์หรือฟีโตสโคป (fetoscope) แล้วผ่าตัดผ่านกล้องที่ส่องเข้าไปในโพรงมดลูกด้วยแสงเลเซอร์แยกเส้นเลือดออกจากกัน ทำให้เด็กทั้งคู่สามารถเจริญเติบโตและคลอดออกมาได้ ซึ่งกล้องส่องดังกล่าวมีราคาสูงถึง 10 ล้านบาท

ขณะที่ผศ.น.พ.อนุวัฒน์ กล่าวว่า กรณีของนางญาณีเป็นการตั้งครรภ์ของผู้ที่มีลูกยากและตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อนมากมายทั้งเบาหวาน เด็กดาวน์ จึงแนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เมื่ออายุครรภ์ประมาณเกือบ 2 เดือน พบว่าเป็นครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกัน โดยทารกมีขนาดเท่าเม็ดถั่วแต่มีขนาดไม่เท่ากัน โดยคนหนึ่งใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ขณะที่อีกคนมีขนาดเล็กกว่าปกติแต่ไม่มาก จึงเฝ้าสังเกตลักษณะอีกระยะหนึ่ง

ผศ.น.พ.อนุวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกทุก 2 สัปดาห์ จนอายุครรภ์ประมาณ 15 สัปดาห์ พบว่าเด็กมีความผิดปกติ เนื่องจากขนาดต่างกันมากขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดของทารกทั้ง 2 คน เชื่อมติดกันทำให้มีการถ่ายเทเลือดระหว่างทารก โดยทารกที่เป็นคนถ่ายเลือด จะมีพัฒนาการเติบโตที่ช้าผิดปกติ แคระแกร็น และมีน้ำคร่ำน้อย เนื่องจากถูกเบียดจนแฟบไปติดอีกข้างหนึ่งของผนังมดลูก ขณะที่ทารกอีกคนเป็นคนรับเลือด มีขนาดตัวโตเกินไป ทำให้มีปริมาณน้ำคร่ำมาก หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดภาวะเลือดข้น บวมน้ำและหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตทั้งคู่

แพทย์วางแผนการรักษาโดยการส่องกล้องยิงเลเซอร์ทำลายเส้นเลือดที่เชื่อมต่อกันของทารกทั้ง 2 ตอน อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ หากเจอช้า อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ขึ้นไปอาจช่วยเหลือไม่ทัน เพราะกรณีนี้มีความผิดปกติที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาแค่ 3 เดือนเศษ ทารกในครรภ์มีความแตกต่างกันอย่างมาก และเมื่อผ่าตัดเรียบร้อย จนน้ำคร่ำในครรภ์ของทารกทั้ง 2 มีปริมาณเท่าๆ กัน และทารกสามารถเจริญเติบโตได้เรื่อยๆ ตามความสามารถของเด็ก ซึ่งได้รับการดูแลจนกระทั่งมีการผ่าคลอดในขณะที่ตั้งครรภ์ได้ 35 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา ผลอออกมาเป็นที่น่าพอใจ เป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,540 กรัม และ 2,180 กรัม ผศ.น.พ.อนุวัฒน์ กล่าว

ด้านน.พ.ตวงสิทธิ์ กล่าวว่า แนวทางการรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือการใช้กล้องที่มีขนาดเล็กมากเพียง 2 มิลลิเมตร สอดเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วใช้เลเซอร์ซึ่งมีกำลังต่ำจี้ตัดหลอดเลือดที่ผิดปกติบนแผ่นรกในครรภ์ให้ขาดออกจากกัน ซึ่งทำการจี้ผ่าตัดหลอดเลือด 5 เส้น โดยใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งแล้วแต่กรณีเฉลี่ยใช้เวลาในการผ่าตัด 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เมื่อทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติลง การไหลเวียนของเลือดที่เชื่อมระหว่างทารกทั้ง 2 คนก็หยุดลงด้วย จากนั้นติดตามดูอาการต่ออีก 2 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการเสียเลือด ติดเชื้อหรือน้ำเดินหลังผ่าตัด เนื่องจากร้อยละ 20-30 เกิดอาการผิดปกติได้ ทั้งนี้การผ่าตัดจะได้ผลดีหากทำในรายที่โรคยังไม่รุนแรงมาก และในอายุครรภ์ที่เหมาะสม คือระหว่าง 16-24 สัปดาห์ หลังจากนั้นสามารถกลับไปดูแลตนเองที่บ้านจนกว่าจะครบกำหนดคลอด

ส่วนน.พ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ต่อไปคณะแพทยศาสตร์จะพัฒนาการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องรักษาแฝดในครรภ์แบบกาฝาก ที่จะส่งผลให้เกิดการแท้ง รวมทั้งจะพัฒนาไปยังการรักษาทารกในครรภ์ที่มีความพิการของกระดูกสันหลังและไส้เลื่อนกระบังลมด้วย

ด้านนางญาณี กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะแพทย์ศิริราชที่ให้การดูแลและรักษาและให้กำลังใจ เพราะเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์เป็นทารกแฝด คนทั่วไปอาจคิดว่าดี แต่ตนรู้สึกตกใจและเครียดมาก เพราะทางการแพทย์ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความผิดปกติ อีกทั้งยังพบว่ามีหลอดเลือดที่เชื่อมต่อกันเป็นโรคที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เมื่อหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตก็พบว่าปีๆ หนึ่งมีคนเป็นน้อย และหากทำการผ่าตัดส่องกล้องจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นวิวัฒนาการใหม่อย่างในออสเตรเลีย พบว่าต้องเสียค่ารักษาถึง 4-5 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้มีความกังวลในค่ารักษาพยาบาลอย่างมาก เพราะหากต้องใช้เงินหลายแสนคงไม่ไหว แต่เมื่อเข้ารับการรักษาก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และเสียค่าใช้จ่ายไม่แพง เพราะโรงพยาบาลคิดว่ารักษาปกติ เช่น ค่าเปิดห้องผ่าตัด ค่าห้องพิเศษ 7 วัน เพียง 3 หมื่นบาทเท่านั้น เนื่องจากแพทย์ไม่คิดค่าผ่าตัดเลเซอร์ ขณะนี้น้องเจเจ และบีบีอายุ 2 เดือนแล้ว ไม่ได้ให้การดูแลต่างจากเด็กปกติ นางญาณีกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook