ชัยชนะของ "ประชาธิปไตย" ในศรีลังกา หลังฝ่าวิกฤติการเมืองที่ทหารอาชีพแสดงบทบาทสำคัญ

ชัยชนะของ "ประชาธิปไตย" ในศรีลังกา หลังฝ่าวิกฤติการเมืองที่ทหารอาชีพแสดงบทบาทสำคัญ

ชัยชนะของ "ประชาธิปไตย" ในศรีลังกา หลังฝ่าวิกฤติการเมืองที่ทหารอาชีพแสดงบทบาทสำคัญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเทศศรีลังกาเป็นเกาะใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีกรุงโคลัมโบเป็นเมืองหลวง มีประชากรประมาณ 25 ล้านคนประกอบด้วยชาวสิงหล ร้อยละ 74 ชาวทมิฬ ร้อยละ 18 ประชากรมุสลิม (แขกมัวร์และชาวมาเลย์) ร้อยละ 7 และอื่นๆ อีกร้อยละ 1  

ส่วนการนับถือศาสนานั้น ชาวสิงหลร้อยละ 70.19 นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดูร้อยละ 12.61 ส่วนที่เหลือก็นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬถึงขั้นรบราฆ่าฟันกันนั้นมีมาหลายร้อยปีแล้ว เนื่องจากความแตกต่างกันทางเชื้อชาติโดยชาวสิงหลเป็นพวกอินโด-ยุโรเปียนนับถือศาสนาพุทธ อพยพเข้ามาที่เกาะลังกาช้ากว่าพวกทมิฬแต่มีจำนวนเยอะกว่ามาก ส่วนชาวทมิฬที่อพยพมาจากอินเดียตอนใต้ (รัฐทมิฬนาฑู) นับถือศาสนาฮินดูจนกระทั่งศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ฮอลันดาและอังกฤษตามลำดับ จนกระทั่งได้เอกราชเมื่อ พ.ศ. 2491 และความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับทมิฬก็ปะทุขึ้นอีก จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองนองเลือดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2526 - 2552 รวม 26 ปี

จนกระทั่งนายมหินทะ ราชปักษา ชาวสิงหลจากเมืองฮัมบันโตตา มณฑลภาคใต้ ของประเทศศรีลังกาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกใน พ.ศ. 2548 โดยนายมหินทะ ราชปักษา ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษา ได้ทำการยุติสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานกว่าสองทศวรรษอย่างเด็ดขาด โดยใช้กำลังทหารในการปราบปรามอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายกบฏทมิฬต้องยอมแพ้โดยราบคาบใน พ.ศ. 2552

ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ทำให้ประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมนานาชาติอย่างหนักในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีพลเรือนเสียชีวิตในปฏิบัติการครั้งนี้ถึง 40,000 คน

ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 นายมหินทะ ราชปักษาได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มอีก 3 ตำแหน่งให้แก่ตนเอง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่าเรือและการบิน และกระทรวงทางหลวง ทำให้เขาสามารถดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างมโหฬาร โดยได้เพิ่มจำนวนทางหลวงแผ่นดินและโรงไฟฟ้าตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ ขยายท่าเรือพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมและสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะท่าเรือนานาชาติปลอดภาษีฮัมบันโตตา บ้านเกิดของราชปักษานั่นเอง ซึ่งรองรับเรือเดินสมุทรบนเส้นทางการค้าทางทะเลสายตะวันออก-ตะวันตก และหากสร้างเสร็จก็จะกลายเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง โดยการสนับสนุนเงินกู้จำนวนมหาศาลจากสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาดโลกมาก ซึ่งทำให้ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของจีนไปในที่สุด เมื่อไม่สามารถชำระหนี้สินให้แก่ทางจีนได้ จนกระทั่งถูกจีนยึดเอาท่าเรือนานาชาติปลอดภาษีฮัมบันโตตาไปในปัจจุบันนี้ และยังเหลือหนี้สินอีกจำนวนมหึมาซึ่งศรีลังกาแทบจะไม่มีทางชำระได้เลย

ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2558 ประธานาธิบดีราชปักษาจึงพ่ายแพ้ต่อนายไมตรีพละ สิริเสนา อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลของประธานาธิบดีราชปักษานั่นเอง ที่ได้ร่วมมือกับนายรานิล วิกรมสิงเห ผู้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย โดยชูนโยบายว่านายสิริเสนาจะเป็นประธานาธิบดีเพียงสมัยเดียว จะไม่มีการสืบทอดอำนาจแบบประธานาธิบดีราชปักษาอย่างเด็ดขาดและจะลดอำนาจประธานาธิบดีลงไม่ให้มีอำนาจมากเกินไป

ซึ่งเดิมทั้งสิริเสนาและวิกรมสิงเหก็รักกันดี แต่ต่อมาประธานาธิบดีไมตรีพละ สิริเสนาต้องการที่จะเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง จึงร่วมมือกับนายราชปักษาประกาศปลดนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยแต่งตั้งนายราชปักษาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แถมปิดรัฐสภาเป็นเวลา 3 สัปดาห์เพื่อให้โอกาสนายราชปักษารวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ได้เสียงข้างมากคือ 113 เสียง แต่ปรากฏว่านายราชปักษาไม่สามารถทำได้สำเร็จ ในขณะที่นายวิกรมสิงเหได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคทมิฬซึ่งชิงชังนายราชปักษา มาสนับสนุนจนได้เสียงข้างมากในรัฐสภา

>> "ผลประโยชน์" ชนวนความวุ่นวายทางการเมืองศรีลังกา ส่อเค้าเข้าสู่ "กลียุค" อีกครั้ง

ส่งผลทำให้ประธานาธิบดีสิริเสนาต้องประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ศาลฎีกาตัดสินว่า คำสั่งยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดของประธานาธิบดีสิริเสนาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ และในวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561 ที่ประชุมรัฐสภามีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เรียกร้องให้แต่งตั้งนายวิกรมสิงเหกลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในที่สุด วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2561 ประธานาธิบดีไมตรีพละ สิริเสนา ของศรีลังกา แต่งตั้งนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีที่เขามีคำสั่งปลดไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ให้กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยพรรคยูไนเต็ดเนชันแนลของนายวิกรมสิงเห ทวีตทางทวิตเตอร์ในวันเดียวกันนั้นว่า ขอบคุณพลเมืองศรีลังกาที่ต่อสู้กับการยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมายในครั้งนี้ และพรรคสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตย

ครับ! กองทัพอันเกรียงไกรของศรีลังกาตั้งอยู่ในความสงบตลอดวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นดังกล่าว สมกับเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook